สตง.แจงศาลปค.ยัน ปตท.ยังคืนท่อก๊าซไม่ครบขาดเฉียดหมื่นล.
สตง. แจงศาลปกครองกลาง ยัน ปตท. ยังคืนท่อก๊าซไม่ครบตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ชี้ท่อส่งก๊าซบนบกเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดินต้องคืน ก.คลัง ส่วนทางทะเลยังเหลือ ‘บางปะกง-วังน้อย’ อีกเฉียดหมื่นล้าน ระบุหากมีโครงการไหนเข้าข่ายใช้อำนาจมหาชนซื้อต้องคืนทั้งหมดด้วย
จากกรณีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีมติชี้มูลความผิด นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 6 ราย ตามที่ สตง. สรุปรายผลงานการตรวจสอบกรณีไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 (รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) และไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ท่อก๊าซ) ทำให้รัฐขาดรายได้จากการใช้ทรัพย์สินไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท
(อ่านประกอบ : สตง.เชือด‘หมอเลี๊ยบ-ประเสริฐ’คดีส่งคืนท่อก๊าซ ปตท.ไม่ครบเสียหาย 3.2 หมื่นล.)
ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งถึง สตง. ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า สตง. ได้ทำการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิในทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเดิม ให้แก่กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 ที่ให้ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวโดยถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือไม่นั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สตง. ได้ทำหนังสือชี้แจงถึงศาลปกครองกลางในกรณีดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
1.ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ที่ผ่านที่ดินที่ ปตท. ได้มาจากการซื้อและขอเช่าที่ดินประเภทนี้ เห็นว่า เป็นประโยชน์ในการวางท่อขนส่งปิโตรเลียม อันเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 จึงเข้าข่ายที่ต้องส่งคืนให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากระบบส่งท่อก๊าซธรรมชาติถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเข้าข่ายที่ต้องโอนให้กระทรวงการคลังทั้งระบบ
2.ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลโดยเฉพาะโครงการท่อบางปะกง-วังน้อย มูลค่าประมาณ 9.9 พันล้านบาท เป็นโครงการที่มีการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นการใช้อำนาจมหาชนตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมฯ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินฯ ดังนั้นระบบท่อในทะเลดังกล่าว ปตท. ต้องส่งคืนให้กระทรวงการคลัง
3.โครงการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อที่ไม่ได้ปรากฏชื่อในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแต่ดำเนินการก่อนเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หากโครงการนั้นเป็นการใช้อำนาจมหาชน ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการนี้ ย่อมจะต้องส่งคืนทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังทุกงาน/โครงการเช่นกัน
ดังนั้น สตง. จึงเห็นว่า ทรัพย์สินสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ ปตท. แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังแล้วรวม 16.176.22 ล้านบาท ยังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงได้มีหนังสือ สตง. ลงวันที่ 26 ธ.ค. 2551 เรื่องการตรวจสอบรับรองความถูกต้องมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ถึง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองแล้ว
อ่านประกอบ :
เปิด 4 พฤติการณ์‘หมอเลี๊ยบ-ประเสริฐ’ โดน สตง.ฟันคดีท่อก๊าซ-ไฉน‘ปิยสวัสดิ์’รอด?
ปตท.โต้ ปธ.ผู้ตรวจการแผ่นดินวิจารณ์ทำให้เสื่อมเสีย
กรมธนารักษ์ ชี้แจงกรณีทรัพย์สินแปรสภาพจาก ปตท.ที่ต้องโอนให้แก่ก.คลัง