WHO พบกฎหมายความปลอดภัยทางถนนของไทย ช่องโหว่อื้อ
ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ชี้กฎหมายสวมหมวกนิรภัยดี แต่ยังไม่ครอบคลุม มีจำนวนผู้ขับขี่สวมใส่เพียง 49-50% เท่านั้น ไม่นับคนซ้อนท้าย ขณะที่ออกใบสั่งตรวจจับความเร็ว มาจ่ายค่าปรับ 3-4%
วันที่ 28 มิถุนายน 2559 สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ ThaiPBS Internews และ องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดแถลงข่าวโครงการพัฒนาศักยภาพสื่อ : ความปลอดภัยทางถนน... เรื่องที่ไม่เป็นข่าว ณ หอประชุมสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการบรรณาธิการข่าว: ทำไมอุบัติเหตุทางถนนต้องเป็นข่าวใหญ่ โดย นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ดร.ลิวิว เวดราสโก้ (Dr.Liviu Vedrasco) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และนายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
ดร.ลิวิว กล่าวตอนหนึ่งถึงปัญหาผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทยแต่เป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึง 1.25 ล้านคนต่อปี ซึ่งหากประชาคมโลกไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ประชากรโลกจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอันดับ 7 ของโลก
“ในจำนวน ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึง 1.25 ล้านคนต่อปี ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ 49% ของผู้เสียชีวิต จะเป็นผู้ใช้ถนนที่มีความเสี่ยง คือ ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์ ซึ่งในประเทศไทยกลุ่มเสี่ยงพบถึง 83% มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 2 เท่า”ดร.ลิวิว กล่าว และว่า ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์เสียชีวิตบนท้องถนน ประเทศไทยยังคงนำเป็นอันดับหนึ่งของโลก
ดร.ลิวิว กล่าวอีกว่า องค์การสหประชาชาติ ได้บรรจุให้การป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เป็นวาระหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน UN sustainable development โดยประชาคมโลกมีเป้าหมายที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2020 ซึ่งประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาจะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ 10%
“น่าคิดว่า ทำไมประเทศไทยมีรถที่ดี มีถนนที่ดี แต่ทำไมยังประสบปัญหานี้อยู่อัตราการเสียชีวิตยังสูงอยู่ ซึ่งปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลกได้ทำการประเมินเกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัยทางถนน พบว่า แม้จะมีกฎหมายหลายฉบับ แต่ประเทศไทยมีช่องว่างทางใช้กฎหมาย รวมถึงการบังคับใช้ เช่น กฎหมายการสวมหมวกนิรภัย เป็นกฎหมายที่ดี มีพื้นที่ที่บังคับใช้ แต่ยังไม่ครอบคลุม และมีจำนวนผู้ขับขี่สวมใส่หมวกนิรภัยอยู่เพียง 49-50% เท่านั้น ไม่นับคนซ้อนท้าย รวมถึง การออกใบสั่งต่อผู้กระทำผิดกฎจราจร พบว่า ใบสั่งยังได้รับค่าปรับ 3-4% เท่านั้นจากจำนวนใบสั่งทั้งหมด”
ดร.ลิวิว กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบช่องว่างของกฎหมาย ในเรื่องของความเร็ว เมาแล้วขับ การคาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะการบังคับใช้กับผู้โดยสารที่นั่งหลัง หรือเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ซึ่งเราต้องการให้ทุกภาคส่วน รวมถึงสื่อมวลชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้เป็นประเด็นสาธารณะ ให้ประชาชนหันมาปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางถนน
“เมื่อตุลาคมปี 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า การสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนเมืองไทยสูงมาก ไม่อยากให้เกิดจึงเป็นโอกาสทองที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การออกใบสั่งทำผิดกฎจราจร มีการมาจ่ายจริงแค่ 30% ดังนั้น แสดงว่ายังมีช่องว่างอะไรอยู่มากมาย”
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นทางด้านกฎหมายที่สามารถขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น เช่น การขับเคลื่อนความเร็วในเขตเมืองให้ลงมาอยู่ที่ 50 กม./ชม. หรือเมาแล้วขับ รณรงค์ให้กำหนดอัตราแอลกอฮอล์ในกระแสเลือกต่ำกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ สำหรับผู้ขับขี่รายใหม่ และให้ตรวจวัดแอลกอฮอล์กับทุกคนที่เกิดอุบัติเหตุ เพิ่มค่าปรับให้สูงขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รณรงค์ให้ทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์ และเบาะที่นั่งสำหรับเด็ก ซึ่งหวังว่า ประเทศไทยอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะเป็นศูนย์ในอนาคต
ขณะที่ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ จากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวถึงแนวโน้มความรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนน สาเหตุหลักส่วนใหญ่มาจากการใช้ความเร็ว โดยเฉพาะถนนทางหลวง จำนวนผู้เสียชีวิตสูงขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่า คนไทยขับรถเร็วมากขึ้น เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น
“เมื่อไปดูสถิติการตรวจจับความเร็วช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่า มีการตรวจจับความเร็วบนนถนนทางหลวงเยอะขึ้น แต่ปรากฎตัวเลขไปในทิศทางเดียวกัน คือ จับเยอะ เสียชีวิตก็ยังเยอะ ล่าสุดได้ข้อมูลจากตำรวจทางหลวงที่ดูแลเส้นมอเตอร์เวย์ กรุงเทพไปพัทยา มีการจับกุมความเร็ว ใช้กล้องถ่ายรูป และออกใบสั่งส่งไปที่บ้าน ออกใบสั่งไป 100% มาจ่ายค่าปรับไม่ถึง20% เพราะทราบว่า โดนใบสั่งไม่จ่ายก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ยังสามารถต่อทะเบียนรถได้อยู่ ตำรวจทำอะไรไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายที่เจ้าหน้าที่รัฐถือกันคนละฉบับ คนละหน่วยงานไม่สามารถทำร่วมกันได้”