'ไพโรจน์' ห่วงร่างรธน.มีชัย ทำสิทธิเสรีภาพคนไทยหายไป
ไพโรจน์ เผยผลการศึกษา พบ คนไทยไร้เสรีภาพ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ให้รัฐมีอำนาจสูงสุด จัดสรรเรื่องสิทธิ
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ Inernational IDEA โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) จัดเวที “ถกแถลงเปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1” โดยในช่วงหนึ่งของการนำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบเรื่อง สิทธิเสรีภาพของบุคคลและหน้าที่รัฐ
นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีการกำหนดหลักการตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพว่าจะต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นและไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพ และหลักการยังระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นหลักการสำคัญในการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกล่วงละเมิดโดยอำนาจรัฐ
"ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับไม่ได้กำหนดหลักไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพ และสามารถออกกฎหมายจำกัดได้ โดยเพิ่มขึ้นใหม่ตามมาตรา 26 กล่าวว่า ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจนเกินเหตุ และกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย"
นายไพโรจน์ กล่าวถึงมาตรา28 ของรธน.2550 กำหนดให้บุคคลอ้างสิทธิ์ความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ใน มาตรา 25 ของร่างรธน.ฉบับล่าสุด กลับไม่กำหนด “การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แต่เพิ่มหลัก ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความั่นคงของรัฐมาแทนที่หลัก “ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ”
“ ซึ่งหากพิจารณาตามหลักของประโยคที่ว่า “ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ”ถือว่าเป็นการบัญญัติกำหนดกรอบโดยรัฐธรรมนูญ แต่หลัก “ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความั่นคงของรัฐ” นอกจากไม่มีกรอบที่ชัดเจนโดยรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นการใช้อำนาจดุลพินิจของรัฐเป็นสำคัญ” นายไพโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ การกำหนดสิทธิบางเรื่องไปบัญญัติเป็นหน้าที่ของรัฐ นายไพโรจน์ กล่าวว่า ทำให้สิทธิของประชาชนขึ้นอยู่กับการดำเนินการริเริ่มให้สิทธิโดยรัฐ จากเดิมที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกสถาปนาโดยรัฐธรรมนูญและมีผลผูกพันรัฐโดยตรงให้มีหน้าที่ทั้งเคารพ การคุ้มครอง และการทำให้สิทธิเสรีภาพเป็นจริง ทั้งยังทำให้ประชาชนมีสิทธิเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามพันธหน้าที่ดังกล่าว กรณีรัฐละเลย ซึ่งเมื่อเปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐ ย่อมส่งผลต่อการร้องเรียน และรัฐสามารถอ้างเรื่องหน้าที่ที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ซึ่งแบบนี้ย่อมขัดต่อหลักการสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองสิทธิของประชาชน
นอกจากนี้ นายไพโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดได้เปลี่ยนหมวด “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” กลับไปเป็น “แนวนโยบายแห่งรัฐ” และให้ตัดคำว่า “ต้อง” ออกทั้งหมด และใช้คำว่า “พึง” เหมือนกันหมด และนำบัญญัติที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ว่า “บทบัญญัติในหมวดนี้เป็นแนวทางสำหรับการตรากฎหมายและการกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน” ซึ่งทำให้บทบัญญัติในหมวดแนวนดญบายแห่งรัฐไม่มีความหมายและไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะไม่มีการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเช่นเดียวรัฐธรรมนูญ 2550