ย้อนปี’54 มองปี’55 “วาระชุมชนไทย”
ย้อนมองพัฒนาการ-จับตาทิศทางจังหวะก้าวชุมชนไทย ภายใต้สถานการณ์การเมือง โครงสร้างเศรษฐกิจและความผันแปรสภาวะภูมิอากาศโลก บทเรียน การเรียนรู้ เพื่อเดินสู่อนาคตเป็นอย่างไร ...
1ปีที่ผ่านมาชุมชนไทยมีเรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมหาภัยพิบัติ ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ การสร้างเครือข่ายชุมชน ความทุกข์ของกรรมกรที่ยังไม่มีอะไรชัดเจนต่อการคุ้มครองแรงงาน ขณะที่บทบาทสื่อชุมชนชัดเจนในสถานการณ์วิกฤติ แต่ยังคงต้องเป็นงานเหนื่อยหนัก ของคนทำงานด้านนี้เพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาเพื่อให้เกิดการยอมรับจากสังคม รวมทั้งเสียงจากคนชายขอบส่งตรงถึงรัฐบาล
“ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” ประมวลความคิดเห็นจากตัวแทนภาคส่วนชุมชนไทยรวมทั้งทิศทางก้าวย่างในอนาคตนับจากเริ่มศักราชใหม่จะเป็นไปในทิศทางใด
“แก้ว สังข์ชู” ขบวนการชุมชนไทย
แก้ว สังข์ชู คณะประสานงานองค์กรชุมชน(คปอ.) กล่าวเปรียบเทียบพัฒนาการชุมชนไทยในหลายขวบปีที่ผ่านมาว่า ปี2554 เป็นปีที่ขบวนการชุมชนเกิดการตื่นตัวอย่างคึกคัก การจัดการเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำ ที่ดินมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมา มีการรวมตัวกัน เชื่อมโยง เป็นเครือข่ายทั้งประเทศ เห็นได้จากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ประชาชนทุกภาคจะรวมตัวกันระดมอุปกรณ์ งบประมาณนำไปสู่การแก้ไขปัญหา
“สิ่งที่เห็นได้จากหลายปีที่ผ่านมา ชุมชนตื่นตัวที่จะลุกขึ้นมาจัดการตนเองทั้งระดับตำบล หมู่บ้าน จังหวัดมากขึ้น เนื่องจากนโยบายระดับประเทศไม่ตอบสนองความต้องการของเขา หลายพื้นที่กำลังขับเคลื่อนที่จะกำหนดอนาคตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการที่อยู่อาศัย การจัดการที่ดิน สิ่งเหล่านี้มาจากการยกระดับจากที่ต่างคนต่างทำ ไม่รับรู้ความเป็นไปของคนอื่นกลายมาเป็นวิวัฒนาการ ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยการสนับสนุนจากองค์กรภาคีไม่ว่าจะเป็นพอช. หรือ สสส.รวมทั้งองค์กรอื่นๆ”
คณะประสานงานองค์กรชุมชน(คปอ.) มองอนาคตชุมชนไทยว่า การเมืองไม่นิ่งจะทำให้การพัฒนาประเทศสะดุด เพราะนักการเมืองมัวแต่เล่นการเมืองมากเกินไป ประเด็นใหญ่คงต้องมองเรื่องภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภัยหนาว น้ำท่วม ดินถล่ม คลื่นซัดชายฝั่ง หรือแผ่นดินไหวที่เชียงราย รัฐบาลต้องปรับปรุงแนวทางการทำงาน ส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามาจัดการตนเองอย่างเป็นระบบมากขึ้น และรัฐบาลไม่ควรให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจ แต่ให้มองภาคชนบท ให้ความสำคัญยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร รวมทั้งให้ความสำคัญกับความมั่นคงเรื่องอาหารเพื่อเตรียบมการรับมือภัยพิบัติในอนาคต
“ชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดการตนเองได้กลายเป็นกระแสหลัก ทำให้ชุมชนท้องถิ่นตื่นตัวที่จะลุกขึ้นมาจัดการตนเองมากขึ้น ประเทศไทยมีเจ็ดพันกว่าตำบลแปดหมื่นกว่าหมู่บ้าน ซึ่งอนาคตจะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายที่มากขึ้น ถ้าแผนพัฒนาประเทศหรือนโยบายรัฐบาลมีผลกระทบกับคุณภาพชีวิต หรือภูมินิเวศน์ของชาวบ้านจะได้รับการต่อต้าน ถ้ารัฐบาลไม่วางแผนดีๆ ไม่ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ภายในปี2555 หรือปีต่อๆไปจะเกิดความขัดแย้งตามมารุนแรงมากขึ้น” แก้ว สังข์ชู กล่าว
“สุนทรี” แรงงานไทย
สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.พอช.) ในฐานะผู้ทำงานด้านแรงงานมายาวนาน กล่าวว่า ภาพรวมขบวนแรงงานปีที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่คือเรื่องกฎหมาย เรื่องสิทธิการรวมตัวที่รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยไม่ให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับแรงงานนอกระบบที่มีอนุสัญญาสากลคุ้มครองแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ ไม่สนใจที่จะโหวตรับให้มีอนุสัญญาฉบับนี้
“ปัญหาเรื่องแรงงานทั้งระบบ สะท้อนถึงแนวคิด นโยบายที่ไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงานแม้จะมีอนุสัญญาออกมาจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (International Labour Organization หรือ ไอแอลโอ) รัฐบาลไทยก็ไม่ให้ความสำคัญ กฎหมายบางฉบับก็ไม่ยกมือรับหรือบางฉบับรัฐบาลแทบไม่สนใจ ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่จะทำให้คนใช้แรงงานพัฒนาประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อไม่มีกฎหมายครุ้มครองผู้ใช้แรงงานก็ไม่โอกาสใช้สิทธิตามกฎหมาย”
อย่างไรก็ตามภาพรวมของขบวนแรงงานปีที่ผ่านมา เลขาธิการกปอพช. ยอมรับว่า ยังไม่ดีขึ้น การส่งเสริมจากภาครัฐยังไม่มีอะไรชัดเจน แต่ภายในปี2555 กลุ่มแรงงานจะมีการเคลื่อนไหวผลักดันเสนอแก้กฎหมายหลายฉบับเพื่อให้มีการคุ้มครองแรงงาน เช่น กฎหมายประกันสังคม ผลักดันนโยบายไอแอลโอ และพ.ร.บ.สถาบันความปลอดภัยที่จะต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียดและผลักดันให้เป็นองค์กรอิสระไม่อยู่ภายใต้การกำหนดของกระทรวงแรงงานและให้มีการประกาศใช้เป็นรูปธรรม
“วิชาญ”พัฒนาการวิทยุชุมชน
ขณะที่เรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับคนทำสื่อท้องถิ่นที่สังคมกำลังหันกลับมามองหลังจากมี 11 อรหันต์กสทช. วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ บอกว่า ปีที่ผ่านมาวิทยุชุมชนมีบทบาทสูงในการเป็นสื่อกลางพัฒนาท้องถิ่นหรือแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ภัยพิบัติ เป็นการสื่อสารของผู้คนในชุมชน แต่พัฒนาการของวิทยุชุมชนยังมีปัญหา เนื่องจากกสทช.ออกระเบียบใบอนุญาตชั่วคราว ไม่ได้แบ่งประเภทวิทยุชุมชนให้ชัดเจนว่ากลุ่มไหนที่ทำเพื่อธุรกิจ กลุ่มไหนเป็นวิทยุชุมชนจริงๆ ทำให้กลุ่มที่เข้ามาทำธุรกิจที่มีเครื่องส่งสัญญาณกำลังส่งมากกว่าเข้ามาเบียดทับคลื่นคนที่ทำสื่อเพื่อสาธารณะไม่สามารถออกอากาศได้
“จากข้อมูลวิทยุชุมชนที่ไม่มีโฆษณา 150 สถานี ปีที่ผ่านมาหลายสถานีปิดตัวลง บางสถานีต้องเปลี่ยนตัวเองมาเป็นสถานีที่มีโฆษณาเพื่อความอยู่รอด ขณะที่วิทยุชุมชนจริงๆที่ยังดำรงอยู่ทั่วประเทศมีเพียง 80 สถานีเท่านั้น ฉะนั้น กสทช.ในฐานะหน่วยงานดูแลโดยตรงต้องการแยกประเภทชัดเจนเพื่อให้การพัฒนาสื่อชุมชนเดินหน้าต่อไปได้”
เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนฯ กล่าวต่อว่า ปี2555 จะมีการผลักดันให้กสทช.แยกกลุ่มประเภทให้ชัดเจนว่าใครอยู่กลุ่มไหน ใครเป็นวิทยุชุมชนไม่มีโฆษณา ใครเป็นบริการธุรกิจขนาดเล็กใครเป็นกลุ่มที่นำเสนอเรื่องราวของศาสนา ต้องผลักดันให้เป็นรูปธรรม เพราะหากปล่อยให้คลุมเครือเหมือนที่ผ่านมาภาพลักษณ์ที่สังคมเหมารวมว่าวิทยุชุมชนไม่มีมาตรฐานคุณภาพก็จะยังคงอยู่
“ปีหน้าการสร้างเครือข่ายจะมีการสานต่อให้เป็นระบบ รวมทั้งการกำกับเรื่องจรรยาบรรณคนทำสื่อชุมชนให้มีมาตรฐานให้ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น ขณะที่การผลักดันให้เกิดกองทุนสนับสนุนคนทำสื่อชุมชนที่ไม่มุ่งธุรกิจให้สามารถอยู่ได้ก็จะเป็นแผนงานที่จะทำในปีหน้าเช่นเดียวกัน”
“พ่อหลวงจอนิ” เสียงคนชายขอบ
พ่อหลวงจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชาวปกากะญอโดดเด่นด้านการอนุรักษ์ป่า รักษาขนบธรรมเนียมอันเป็นอัตลักษณ์ดีงามของชาวกะเหรี่ยงไว้อย่างเหนียวแน่น มีกิจกรรมสร้างหลักสูตรท้องถิ่นที่ร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่ สอนเยาวชนให้เรียนรู้ป่า เรียนรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม กล่าวว่า ปัจจุบันชุมชนไทยยังไม่เข้มแข็ง เพราะผู้คนหันไปหาเทคโนโลยีมุ่งเดินตามหลังตะวันตกแทนการกลับไปเรียนรู้รากเหง้าของตนเอง ทุกคนเอาเงินเป็นตัวตั้ง ขาดการเรียนรู้เรื่องภูมิปัญญา ความเข้าใจวิถีชีวิตลดน้อยลง เหมือนการเดินทางที่หวังน้ำบ่อหน้า หาอะไรแน่นอนไม่ได้ ชุมชนต้องเรียนรู้ทั้งวิถีดั้งของเดิมและความรู้สมัยใหม่ รวมทั้งเรียนรู้ด้านจิตวิญญาณของตนเอง
“ถ้าขาดการเรียนรู้สิ่งดั้งเดิมมันจะส่งผลอันตรายต่อผู้คนในชุมชน คนเราสร้างเทคโนโลยี คิดว่าควบคุมมันได้ แต่เราก็เห็นว่าที่สิ่งมนุษย์สร้างขึ้นหลายอย่างหันกลับมาทำร้ายมนุษย์แล้ว”
พ่อหลวงจอนิ ยกตัวอย่างความเชื่ออันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมเปรียบให้ฟังว่า คนต้อง เข้าใจฟ้าเจ็ดชั้น คือ เข้าใจลม เข้าใจฟ้า เข้าใจหมอก เข้าใจเมฆ เข้าใจเดือน เข้าใจดาว เข้าใจพระอาทิตย์ ส่วนดินเจ็ดชั้น คือ เข้าใจดิน เข้าใจสิ่งมีชีวิต เข้าใจก้อนหิน เข้าใจก้อนทราย เข้าใจน้ำ เข้าใจลม เข้าใจไฟ ซึ่งหมายถึงเรียนรูสรรพสิ่งอันเป็นเสมือนหลักคิดแนวทางธรรมชาติพุทธศาสนา
“บทกวีปากะญอบอกว่า เมื่อรักษาดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อมให้ดี ถ้าพื้นที่ใด ดิน น้ำ ป่า วิถีชีวิตดีแล้วพระเป็นเจ้าจะกลับมาหาเรา นี้คือสิ่งที่บรรพบุรุษบอกกับเรา แต่ถ้าดิน น้ำ ป่าไม่สมบูรณ์ภัยพิบัติจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ สิ่งมีชีวิตทั่วโลกสอดคล้องกันต้องดูแลกัน ไม่ใช่ฝากความหวังไว้ที่นักการเมืองที่ไม่เข้าใจในวิถีของชุมชนและความต้องการที่แท้จริงของประชาชน”
“ชัยพร” เกษตรกรรมไทย
ชัยพร พรหมพันธุ์ เกษตรกรชาวนาเงินล้านที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมองภาพรวมเกษตรกรรมไทยว่า ปัญหาภาคเกษตรกรรมไทยยังไม่เติบโต ดำรงอยู่อย่างไรก็ยังคงเป็นอย่างนั้น เนื่องจากยังไม่มีการส่งเสริมจากภาครัฐที่ชัดเจน อีกทั้งชาวนารายย่อยยังคงแข่งขันเกษตรกรรายใหญ่ที่มีกำลังทุนมากกว่าไม่ได้ รัฐบาลควรเร่งแก้ไขราคาพืชผลเกษตรที่ตกต่ำ ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้สมุนไพร เพื่อลดต้นทุน การทำนาเพื่อลดต้นทุนจะเป็นทางออกที่ดีที่จะทำให้เกษตรกรไทยลืมตาอ้าปากได้
“เกษตรกรรายย่อยถ้าทำเกษตรตามกระแสทำเพื่อขายเพียงอย่างเดียวจะเดือดร้อน เพราะปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือราคาข้าวที่ปลูกเสร็จแล้วขายออกไปถูกกว่าราคาปุ๋ยเคมี ต้นทุนการผลิตแพง แต่รายได้ผลผลิตน้อยก็จะอยู่ลำบาก ทางออกคือเกษตรกรต้องกำหนดต้นทุนการผลิตด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก ลดการใช้สารเคมีหันมาใช้พืชสมุนไพรในเข้ามาช่วยการผลิตก็จะสามารถอยู่รอดได้ในภาวะเศรษฐกิจผันผวนแบบนี้”
นั่นคือภาพรวมของชุมชนไทยที่นับจากนี้จังหวะก้าวย่างยังคงต้องเข้มข้นมากขึ้นเพื่อพาตัวเองให้หลุดพ้นวังวนการพัฒนาของรัฐแบบเดิมๆที่ถนัดตัดเท้าใส่เกือกมากกว่ามองโครงสร้างปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนจะสามารถลืมตาอ้าปากมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่ ...ปี2555รู้กัน!!