หลักประกันความมั่นคงทางพลังงาน - ของใคร ?
"เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเครือผู้รับสัมปทานที่จะได้สิทธิเป็นลำดับแรกในการซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตในประเทศต่อไปอีกยาวนาน..."
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โพตส์ข้อความลงเฟซบุ๊กถึง หลักประกันความมั่นคงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นของใคร
-----
หลักประกันฯ - ของใคร ? ถ้าร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ผ่านออกมาโดยระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างสำรวจและผลิตที่เขียนไว้ไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้ เพราะมีแต่ชื่อ แต่ไม่มีกลไก การจัดการกับสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณอันมี 'ปตท.สผ.' กับ 'เชฟรอน' เป็นผู้รับสัมปทาน ที่จะหมดอายุลงในปี 2565 และ 2566 ก็ยากที่จะหนีออกจากระบบสัมปทานเดิมไม่ว่าจะมีชื่อระบบใหม่เข้ามาในร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ก็ตามและผู้รับสัมปทานเดิมมีโอกาสสูงยิ่งที่จะได้รับสัมปทานต่อไปอีก 39 ปี หลังจากได้มาแล้วครึ่งศตวรรษภายใต้เงื่อนไขเดิมแทบทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานก็มีดำริที่จะเจรจากับผู้รับสัมปทานเดิมตั้งแต่ต้นเลยด้วยซ้ำ ภายใต้เหตุผลทำนองนี้
"เพื่อเป็นหลักประกันให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ..."
"เพื่อไม่ให้การผลิตก๊าซธรรมชาติหยุดชะงัก..."
จึงไม่น่าแปลกอะไรมากนักที่ร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับกระทรวงพลังงานไม่มีการแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยระบบสัมปทานแม้แต่น้อย นอกจากนั้นด้วยรูปแบบการเสนอร่างกฎหมายแบบ 'แก้ไขเพิ่มเติม' ทำให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่สามารถแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการวาระที่ 2 ขอแก้ไขเกี่ยวกับเนื้อหาในระบบสัมปทานได้เลยแม้แต่น้อย เพราะนอกจากไม่มีอยู่ในหลักการที่มีมติรับไปในวาระที่ 1 แล้ว รูปแบบการเสนอร่างกฎหมายเช่นนี้ทำให้ไม่มีมาตราในกฎหมายปี 2514 ที่เกี่ยวกับระบบสัมปทานอยู่ในร่างฯสักมาตราเดียว จึงไม่มีที่ไม่มีจุดให้สมาชิกหรือกรรมาธิการจะขอแก้ไขได้ บทบัญญัติที่เกี่ยวกับระบบสัมปทานที่ไม่ได้เสนอแก้ไขเข้ามาเลยจึงจะเป็นไปตามเดิมในกฎหมายปี 2514 ที่ใช้บังคับอยู่ ทั้งที่มีข้อท้วงติงจำนวนมาก อาทิ การหักค่าใช้จ่ายก่อนคำนวณภาษี การใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ
นอกจากจะไม่แก้ไขสารัตถะของระบบสัมปทานแล้ว ยังนำสารัตถะนั้นมาประยุกต์ใช้กับระบบแบ่งปันผลผลิต ตามที่เคยโพสต์ให้เห็นเมื่อสัปดาห์ก่อน
นอกจากนั้นยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่จะเป็นกลไกในการดำเนินงานของระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างสำรวจและผลิต
ทั้ง 2 ประเด็นนี้ รัฐมนตรีพลังงานก็ยอมรับกลางสภาแล้ว
โดยประเด็นแรกให้เหตุผลแก้ต่างว่าเป็นเพราะระบบสัมปทานเดิมของเราใกล้เคียงกับระบบแบ่งปันผลผลิตอยู่แล้วต่างหาก หาใช่ระบบแบ่งปันผลผลิตใหม่เป็นระบบสัมปทานจำแลงไม่
ส่วนประเด็นที่ 2 อยู่ระหว่างศึกษา จะเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งอาจจะเสนอแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมเข้ามาอีกครั้ง ไม่ต้องห่วงไปถึงห้วงการเปิดสัมปทานรอบที่ 21
สรุปได้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือรับใช้การจัดการกับแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณก่อน
แล้ว 'เครื่องมือ' ในการจัดการมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรเล่า ?
ระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างสำรวจและผลิตที่เพิ่มเติมเข้ามา - ไม่ใช่ระบบใหม่จริง และใช้ไม่ได้จริง !
ระบบสัมปทานเดิม - ไม่มีการปรับแก้เลย !
จึงแทบไม่ต้อง 'ซ.ต.พ.' เลย !!
แน่นอนว่า 2 เอกชนยักษ์ใหญ่สัญชาติไทยและอเมริกันมีโอกาสได้ประโยชน์แน่นอน แต่ได้ใกล้เคียงกัน หรือใครได้ประโยชน์มากกว่ากัน แค่ไหน อย่างไร หรือไม่
บนพื้นฐานที่ว่าแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณผลิตก๊าซธรรมชาติได้มหาศาลเป็นกอบเป็นกำอยู่แล้ว ถ้ามองเฉพาะบริษัทผู้รับสัมปทานเดี่ยว ๆ โดด ๆ ก็ต้องบอกว่าทั้ง 2 รายได้ประโยชน์พอ ๆ กัน แต่หากนำบริบทของบริษัทในเครือหรือธุรกิจในเครือเข้ามาคำนวณด้วยแล้ว คำตอบจึงน่าจะเป็นดังนี้
เอกชนยักษ์ใหญ่รายที่มีบริษัทในเครือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศจะได้ประโยชน์มากกว่า
หนึ่ง คือ ได้จากการผลิตและขายก๊าซธรรมชาติจากระบบสัมปทานตามปกติ
สอง คือ ได้จากผลกำไรของธุรกิจในเครือที่ได้สิทธิซื้อก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศเป็นอันดับแรก
อดคิดไม่ได้ว่าจากอีกมุมมองหนึ่ง คำแปลที่แท้ของประโยคที่ว่า 'เพื่อเป็นหลักประกันให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ...' อาจเป็นดังนี้...
"เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเครือผู้รับสัมปทานที่จะได้สิทธิเป็นลำดับแรกในการซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตในประเทศต่อไปอีกยาวนาน..."
ใช่หรือไม่ ???