ปธ.สหกรณ์จุฬาฯแถลงพิเศษแจงสารพัดข้อสงสัยปล่อยกู้-ฝากเงิน‘คลองจั่น-พวก’
“…จากประเด็นที่ชี้แจงเบื้องต้น จะเห็นได้ว่าเรื่องการปล่อยกู้และฝากเงินนั้น สหกรณ์ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงมาแล้วหลายครั้ง บัดนี้ ได้มีความคืบหน้าของแต่ละเรื่อง ผมจึงแจ้งให้ท่านทราบตามที่กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามยังมีสมาชิกบางท่านพยายามให้ข่าวบิดเบือนจากข้อเท็จจริง อันอาจทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหายได้ ดังนั้น จึงหวังว่าสมาชิกจะได้ทราบข้อเท็จจริงและประโยชน์จากเอกสารฉบับนี้ทุกท่าน…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงกรณีการปล่อยเงินกู้-ฝากเงินกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และเครือข่าย รวมถึงการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 ของสหกรณ์ฯ เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2559 ที่ถูกสมาชิกบางกลุ่มฟ้องว่าเป็นการประชุมที่ผิดกฎหมาย สรุปได้ ดังนี้
(อ่านประกอบ : ปธ.สหกรณ์จุฬาฯแจงปมปล่อยกู้-ฝาก‘คลองจั่น-เครือข่าย’-ฟ้องเรียกเงินแล้ว 2 แห่ง)
----
หนึ่ง เรื่องการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 ของสหกรณ์
1.1 สหกรณ์ได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2559 โดยจัดประชุมตามวาระที่ได้กำหนดไว้ตามปกติ มีสมาชิกอภิปรายในวาระต่าง ๆ ค่อนข้างมาก ทำให้เวลาล่วงเลยไปนาน เมื่อการประชุมดำเนินมาถึงวาระที่ 7 มีสมาชิกเสนอให้นับองค์ประชุม ปรากฏว่ามีสมาชิกคงเหลือในห้องประชุม 92 คน ซึ่งไม่ครบองค์ประชุม ประธานฯจึงสั่งปิดการประชุม
1.2 ต่อมา สหกรณ์ฯได้นัดประชุมใหญ่อีกครั้งเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 โดยได้หารือด้วยวาจากับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ที่กำกับดูแลสหกรณ์แล้วเห็นว่า เป็นการประชุมใหญ่ต่อจากเดิมในวาระที่ยังประชุมไม่แล้วเสร็จ จึงเรียกชื่อการประชุมว่า “การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 (ต่อเนื่อง)”
ในการประชุมดังกล่าว มีสมาชิก (รศ.ชูชาติ ธรรมเจริญ) ทักท้วงเรื่องการเรียกชื่อการประชุมว่าไม่ถูกต้อง ควรใช้ชื่อเรียกว่า “การประชุมใหญ่วิสามัญ” และให้ความเห็นว่าการประชุมใหญ่วิสามัญต้องเรียกประชุมภายใน 14 วันนับจากการประชุมครั้งแรก ซึ่งการประชุมครั้งนี้ห่างจากการประชุมครั้งแรกเกินกว่า 14 วัน จึงไม่อาจเรียกการประชุมวิสามัญได้ ขอให้สหกรณ์ทำหนังสือหารือไปยังนายทะเบียนสหกรณ์
ประธานฯ รับจะทำหนังสือหารือไปยังนายทะเบียนสหกรณ์ และได้ดำเนินการประชุมใหญ่ต่อไปในวาระที่เหลือโดยเริ่มประชุมวาระที่ 7 เรื่อง การพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 มีสมาชิกอภิปรายไม่เห็นด้วยกับการตั้งงบประมาณและมีมติด้วยเสียงข้างมากไม่อนุมัติงบประมาณปี 2559 พร้อมแต่งตั้งสมาชิกจำนวน 9 คน เป็นคณะกรรมการกลั่นกรองงบประมาณ ก่อนที่จะนำงบประมาณเสนอที่ประชุมใหญ่พิจารณาอีกครั้ง เมื่อเริ่มการประชุมต่อในวาระที่ 8 มีสมาชิกเสนอขอให้นับองค์ประชุม ปรากฏว่ามีสมาชิกอยู่ในห้องประชุม ต4 คน ซึ่งไม่ครบองค์ประชุม ประธานฯจึงสั่งปิดการประชุม
1.3 เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 สหกรณ์ฯได้ขอให้นายทะเบียนวินิจฉัยข้อบังคับสหกรณ์ ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์วินิจฉัยว่า การจัดประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 เพื่อพิจารณาวาระที่เหลืออยู่หรือวาระอื่นใดที่คณะกรรมการเห็นสมควร จะต้องเป็นการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ฯลฯ และหากประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 ยังพิจารณาวาระการประชุมไม่ครบถ้วน เมื่อประธานในที่ประชุมสั่งปิดการประชุม สหกรณ์สามารถเรียกประชุมวิสามัญได้อีกตามที่เห็นสมควร ฯลฯ
ในส่วนของสมาชิกที่เห็นว่า การประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 เป็นการนัดประชุมใหญ่เกินกว่า 14 วัน นับตั้งแต่วันที่นัดประชุมใหญ่ครั้งแรก (ขัดต่อข้อบังคับข้อ 40 วรรคสาม) นั้น เห็นว่า เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากข้อบังคับข้อ 40 วรรคสามนั้น จะใช้บังคับเมื่อการนัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี มีสมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม สหกรณ์จะต้องนัดวันประชุมใหญ่สามัญฯอีกครั้งภายใน 14 วัน
1.4 สหกรณ์จึงได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2559 ครั้งที่ 2 ขึ้นในวันที่ 16 มิ.ย. 2559 เพื่อขอให้เป็นไปตามนัยคำวินิจของนายทะเบียนสหกรณ์ดังกล่าวข้างต้น โดยได้แจ้งให้ที่ประชุมใหญ่รับทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียนสหกรณ์ และขอการเปลี่ยนชื่อเรียก “การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 (ต่อเนื่อง)” เป็น “การประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2559”
สอง เรื่องการให้กู้/ฝากเงินกับสหกรณ์อื่น
1.กรณีสหกรณ์คลองจั่นฯ
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2556 สหกรณ์จุฬาฯ ทำสัญญาให้กู้แก่สหกรณ์คลองจั่นฯ วงเงินกู้ 1,431 ล้านบาท มีหลักทรัพย์ประกันเป็นโฉนดที่ดิน 28 ไร่ 2 งาน 96 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารยูทาวเวอร์ พร้อมศูนย์ประชุม ติด ถ.ศรีนครินทร์ (ตรงข้าม รพ.สมิติเวชศรีนครินทร์) นำมาจำนองเป็นประกัน ซึ่งเป็นสหกรณ์เพียงแห่งเดียวที่มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้
ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2559 ศาลล้มละลาย ได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและแผนฟื้นฟูกิจการแก้ไขของสหกรณ์คลองจั่นฯ และสหกรณ์คลองจั่นฯ ได้ทยอยชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ สหกรณ์จุฬาฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นงวดรายเดือน ต้นเงินเดือนละ 9,540,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี โดยได้รับชำระตั้งแต่ ม.ค. 2559 จนถึงปัจจุบัน (พ.ค. 2559) เป็นรายเดือน กำหนดชำระครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูฯ ในวันที่ 30 มิ.ย. 2571 ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระ (25 มิ.ย. 2556-31 ธ.ค. 2558) จำนวน 104,707,123 บาท สหกรณ์คลองจั่นฯ จะชำระคืนให้สหกรณ์ภายใน 5 ปี ปีละ 2 ครั้ง ๆ ละ 10,470,712 บาท (ทุกครึ่งปี)
2.กรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี
เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2556 สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ นำเงินไปฝาก 200 ล้านบาท โดยมีคณะกรรมการสหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ จำนวน 15 คน ลงนามค้ำประกันเงินฝากระยะเวลา 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยรายเดือน เมื่อเงินฝากครบกำหนดได้ฝากต่ออีก 12 เดือน เมื่อเงินฝากครบกำหนดได้ฝากต่ออีก 12 เดือน เมื่อเงินฝากครบกำหนดสหกรณ์จุฬาฯ แจ้งขอถอนคืนเงินฝากทั้งจำนวนพร้อมดอกเบี้ย สหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ แจ้งว่า ขาดสภาพคล่องไม่สามารถจ่ายเงินได้
ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2558 สหกรณ์จุฬาฯ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ พร้อมผู้ค้ำประกันที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ทุนทรัพย์ที่ฟ้อง 215,788,513 บาท ขณะนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยครบถ้วนแล้ว นัดฟังคำพิพากษา 14 ก.ย. 2559
สำหรับกรณีนี้ผู้สอบบัญชีของสหกรณ์จุฬาฯ ระบุว่า อาจมีแนวโน้มยอมความกันได้ โดยสหกรณ์มงคลเศรษฐีฯยินดีคืนเป็นหุ้นบริษัท สหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) วงเงิน 190 ล้านบาท ทำให้สหกรณ์จุฬาฯ ต้องตั้งค่าเผื่อหนี้จะสูญประมาณ 25 ล้านบาท นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท สหประกันชีวิตฯ เป็นหนึ่งในนิติบุคคล 19 แห่งที่ถูกดีเอสไอสอบคดีฟอกเงิน วงเงินประมาณ 2.2 พันล้านบาทด้วย
(อ่านประกอบ : สหกรณ์จุฬาฯถือหุ้น'สหประกันชีวิต' ด้วย-ก่อนฟ้อง'มงคลเศรษฐี'เรียกคืน 215 ล., INFO: 13 คดียักยอก-ฟอกเงินสหกรณ์คลองจั่นฯในมือดีเอสไอ-เบ็ดเสร็จ 2 หมื่นล.)
3.กรณีสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2556 สหกรณ์จุฬาฯ นำเงินไปฝาก 915 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุกวันที่ 31 มี.ค. ของทุกปี เงินฝากครบกำหนดวันที่ 27 พ.ย. 2558 โดยมีหลักประกันเป็นโฉนดที่ดินจำนวน 218 ไร่ 3 งาน 48 ตรว. อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ.มหาสารคาม นำมาจำนองเป็นประกัน ที่ดินดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างทาว์นเฮ้าส์ ขายแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อเงินฝากครบกำหนด สหกรณ์จุฬาฯ แจ้งขอถอนคืนเงินฝากทั้งจำนวนพร้อมดอกเบี้ย สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ แจ้งขอขยายระยะเวลาคืนเงินฝาก ดอกเบี้ย และค่าผิดชำระหนี้
ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2559 สหกรณ์จุฬาฯ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯที่ศาลจังหวัดมีนบุรี ทุนทรัพย์ที่ฟ้อง 1,063,154,706 บาท ศาลนัดฟ้องโจทก์และจำเลยพร้อมกันวันที่ 10 ต.ค. 2559
สาม นายชูชาติ ธรรมเจริญ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการสหกรณ์ฯ
3.1 นายชูชาติ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการสหกรณ์ทั้ง 15 คน และ ผอ.กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 2 สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 (นายอภิชาต โกสุมาศ) ในฐานความผิด “ขอให้เพิกถอนการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2558 (ต่อเนื่อง) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการจัดประชุมใหญ่สามัญปี 2558 (ต่อเนื่อง) เป็นเงิน 256,000 บาท” ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลชั้นต้นได้ตรวจคำฟ้องแล้ว มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2559 ว่า “… ตามที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าเป็นการจัดประชุมโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับและข้อกฏหมายพร้อมขอให้จำเลยทั้ง 16 ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากค่าใช้จ่ายการจัดประชุมโดยไม่ได้ระบุว่าจำเลยหรือผู้ใดได้รับความเสียหายและให้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่ผู้ใด คำขอบังคับของโจทก์ไม่มีสภาพที่ศาลจะพิพากษาบังคับได้ จึงให้ยกฟ้องโจทก์”
3.2 เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2559 นายชูชาติ ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลจึงได้ส่งหมายถึงจำเลยทั้ง 16 คน โดยเปิดหมายเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2559 ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์คำพิพากษาภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจำเลยทั้ง 16 คน ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์คำพิพากษาแล้วเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2559 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษา
“จากประเด็นที่ชี้แจงเบื้องต้น จะเห็นได้ว่าเรื่องการปล่อยกู้และฝากเงินนั้น สหกรณ์ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงมาแล้วหลายครั้ง บัดนี้ ได้มีความคืบหน้าของแต่ละเรื่อง ผมจึงแจ้งให้ท่านทราบตามที่กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามยังมีสมาชิกบางท่านพยายามให้ข่าวบิดเบือนจากข้อเท็จจริง อันอาจทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหายได้ ดังนั้น จึงหวังว่าสมาชิกจะได้ทราบข้อเท็จจริงและประโยชน์จากเอกสารฉบับนี้ทุกท่าน” รศ.ดร.สวัสดิ์ ระบุ
อ่านประกอบ :
ทยอยใช้หนี้แล้ว! ปธ.สหกรณ์จุฬาฯยันสมาชิกไม่ต้องกังวลปมปล่อยกู้สหกรณ์คลองจั่นฯ
ขีดเส้น 7 วันแจงปมปล่อยกู้คลองจั่น! ประชุมสหกรณ์จุฬาฯเดือดวอล์คเอ้าท์เพียบ
สหกรณ์จุฬาฯถือหุ้น'สหประกันชีวิต' ด้วย-ก่อนฟ้อง'มงคลเศรษฐี'เรียกคืน 215 ล.
สหกรณ์จุฬาฯฟ้อง‘มงคลเศรษฐี’เรียกเงินฝากคืน 215 ล.ส่อสูญ-เอาหุ้นใช้หนี้
มั่นใจได้คืนแน่! ปธ.สหกรณ์จุฬาฯไม่หวั่นคืนเป็นหุ้นเอกชนถูกดีเอสไอสอบฟอกเงิน