นักวิชาการ ชี้บุคคล 3 กลุ่ม ชี้ชะตาลงประชามติร่างรธน. 7 สิงหาฯ
ดร.พิชญ์ ชี้การทำประชามติทั่วโลกจะมีผลที่ตามมาคือความผูกพันทางกฎหมาย แต่บางครั้งการทำประชามติก็เป็นเพียงแค่การช่วยตัดสินใจหรือการประกอบการ ตัดสินใจโดยที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามผลของประชามติ
เมื่อเร็วๆ นี้ หลักสูตรการเมืองและการจัดการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาทางวิชาการ เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 84 ปี เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยกับการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย” ณ ห้องประชุมเกษม อุทยานิน จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ในเวทีมีการแสดงความเห็น เรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 รวมถึงการเปลี่ยนผ่านระบอบการเมืองในประเทศ
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการทำประชามติ ถือเป็นกลไกในการตัดสินใจทางการเมืองและการเสนอกฎหมาย รวมถึงการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้ประชามติมีขอบข่ายมากกว่าที่คิดนอกเหนือจากการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผลการออกเสียงของประชามติในทั่วโลกจะมีผลที่ตามมาคือความผูกพันทางกฎหมาย คือเมื่อตัดสินแล้วรัฐบาลต้องดำเนินการตามผลของประชามติ เช่น ในกรณีของอังกฤษที่มีผลประชามติตัดสินใจออกจากอียู ที่มีผลทางกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการทันที แต่บางครั้งการทำประชามติก็เป็นเพียงแค่การช่วยตัดสินใจหรือการประกอบการตัดสินใจ โดยที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามผลของประชามติ
“บางครั้งประชามติเป็นเครื่องมือในการแสดงความเห็นคัดค้าน เปรียบเหมือนกับเบรกที่คอยห้ามล้อ ดังนั้น เราถือว่าการทำประชามติคือการออกเสียงประชาธิปไตยทางตรงโดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย”
ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวถึงโครงสร้างสถาปัตยกรรมการเมืองของร่างรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่การทำประชามติฉบับนี้ถึงเรื่องที่มีการวิจารณ์ว่า เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบหรือสะท้อนการเมืองหลังรัฐธรรมนูญหลังปี พ.ศ.2521 ที่เกิดหลังจากการทำรัฐประหารซ้ำ คือในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่เกิดการทำรัฐประหาร โดยอ้างจาก อ.สุรชาติ บำรุงสุข ในหนังสือ ทหารกับประชาธิไตยไทย 14 ตุลาคม สู่ปัจจุบันและอนาคต ที่ระบุว่า เหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคมไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมือง หากแต่เป็นกระบวนการที่ถูกสร้างและสั่งสมมาของการใช้มาตรการทางทหารในการจัดการกับปัญหาคอมมิวนิสต์จนตกผลึกทางความคิดและการกระทำจนนำไปสู่การทำรัฐประหารในวันนั้น หรือกล่าวได้ว่าความรุนแรงในวันที่6 ตุลาคมคือจุดสูงสุดของแนวคิดในการใช้กำลังแก้ปัญหาในสังคมไทย ซึ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อประเทศไทยในหลายๆด้าน
“ประเทศไทยหลัง 6 ตุลาคมอยู่ในสถานะของสงครามการเมืองอย่างแท้จริง การต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างทหารกับประชาชนเคยเกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นถึง 4 ปีเป็นอย่างน้อย สิ่งที่เราเรียกว่า “สงครามการเมืองฉบับย่อ” ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย คนที่กุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จอย่างคิดว่าจะควบคุมประชาชนได้ตลอด ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่มองข้ามไม่ได้”
ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวว่า แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญไทย เวลาที่ต้องการให้เกิดการผลักดันให้ใช้ แต่ในความเป็นจริงความเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จึงเกิดการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ดังนั้น การสร้างเงื่อนไขของกองทัพที่ไม่ยืดหยุ่นต่อความเป็นจริงหรือต่อความท้าทายในอนาคต วิธีที่ง่ายที่สุดคือการฉีกทิ้ง ซึ่งไม่ได้หมายถึงฉบับที่จะทำประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่บทเรียนในอดีต ก็สอนได้ไม่น้อย
ขณะที่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในปัจจุบันสังคมไทยมีบุคคลอยู่ 3 กลุ่ม คือ ต้องการการเลือกตั้ง ไม่อยากเลือกตั้ง และไทยเฉย ซึ่งบุคคลทั้ง 3 กลุ่มนี้จะเป็นผู้ชี้ชะตาในวันที่ 7 สิงหาคม 2559
“ประเทศไทยได้ผ่านยุคประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ ยุคประชาธิปไตยตั้งมั่น ยุคประชาธิปไตยแห่งความขัดแย้งแบ่งเป็นสองขั้ว ในอนาคตเราจะอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านอย่างแน่นอนที่จะเกิดการเปลี่ยนจากระบอบหนึ่งมาสู่ระบอบหนึ่ง ท่ามกลางบริบทต่างๆเหล่านี้ คือ ในประเทศประชาธิปไตยแบบก้าวหน้ากำลังมีปัญหา ถูกท้าทายในหลายๆ เรื่อง โดยความท้าทายที่ว่านี้จะเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งสหรัฐอเมริกา ที่มีปรากฏการณ์โดนัลด์ ทรัมป์ หรืออังกฤษ ที่มีประชามติในเรื่องอียู แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยแบบหยั่งรากฝังลึกกำลังมีความเสี่ยง ส่วนในประเทศกำลังพัฒนาจะเจอปรากฏการณ์ในลักษณะที่เหมือนกัน คือ ประชาชนที่ถูกเรียกว่า คนชนชั้นรากหญ้าตื่นรู้ขึ้นมาในเรื่องการเมือง แต่คนชนชั้นกลางกำลังสิ้นศรัทธาในประชาธิปไตย ทำให้เกิดการปะทะระหว่างความคิด นี่เป็นบริบทที่เกิดขึ้นภายในของแต่ละประเทศ"
ในขณะที่บริบทภายนอก ดร.สติธร กล่าวว่า คือมีการแสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จของประเทศที่ไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยกตัวอย่าง ประเทศจีน ด้วยบริบทที่ว่ามานี้ สรุปได้ว่า ประชาธิปไตยไร้ความสามารถคือประชาธิปไตยไม่สามารถทำให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมอย่างแท้จริง คนทุกชนชั้นเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง แต่การมีส่วนร่วมกลับไร้ความหมาย เพราะการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง หรือเริ่มมีประชาชนที่เบื่อหน่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองขึ้น เพราะเกิดความไม่มั่นใจว่า รัฐบาลจะทำในสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง หรือรัฐบาลจะไม่ทำในสิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เสมอ และถือเป็นข้ออ่อนของประชาธิปไตย
ด้าน ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงระบอบการปกครองในระบอบกึ่งประชาธิปไตย แสดงถึงการเปลี่ยนผ่านที่ไม่รู้จบ นั่นหมายถึง ระบอบประชาธิปไตยจะยังคงอยู่ในพื้นที่สีเทา ถ้าระบอบการปกครองอยู่ในพื้นที่สีเทาเราจะต้องรอการเปลี่ยนผ่านครั้งที่สอง ซึ่งถ้าการเปลี่ยนผ่านในครั้งแรกจบลง สังคมจะเดินเข้าสู่การเกิดเงื่อนไขของการสร้างความเข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตย เรียกว่า ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ถ้าไม่ไปถึงจุดนั้น จะเกิดรัฐประหารอย่างแน่นอน ในเงื่อนไขที่เป็นพื้นที่สีเทาต้องการการเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง
“การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่การเปลี่ยนผ่านในเงื่อนไขแรก ทหารยอมรับได้หรือไม่ว่าอยู่ภายใต้แรงกดดัน ถ้าระบอบทหารยอมรับ จะเกิดเงื่อนไข 2 อย่างคือ ทหารที่เป็นปีกปฏิรูปเมื่อรู้ว่ากองทัพแบกการเมืองไม่ไหว จะตัดสินใจกดดันให้ทหารที่เป็นระบอบรัฐบาลถอยออกจากการเมือง ส่วนเงื่อนไขที่2 จะเกิดการเจรจาระหว่างปีกปฏิรูปประชาธิปไตยกับปีกอำนาจนิยม คำถามคือเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะเปิดการเจรจา ไม่ใช่อนาคตของกองทัพจะอยู่ในอำนาจทางการเมือง แต่ในขณะเดียวกันต้องเปิดการเจรจาเพื่อวางแนวทางในอนาคตร่วมกันว่าจะเป็นอย่างไร”
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวถึงอนาคตถ้าเกิดการเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขอะไร หลังจากที่มีการทำประชามติ สิ่งที่จะถูกทิ้งไว้เป็นปัญหามี 10 ประการ คือ
1.เราจะจัดการกับรัฐธรรมมนูญอย่างไร อำนาจนิยมกลัวการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย เพราะเชื่อว่ากระบวนการสร้างประชาธิปไตยเป็นกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้กับคนชนชั้นล่างและชนชั้นอื่นเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญมีเงื่อนไขที่จะประนีประนอมทางการเมืองแล้ว รัฐธรรมนูญต้องการการเปลี่ยนผ่าน แต่ถ้าเชื่อว่า รัฐธรรมนูญคือการผูกขาดอำนาจทางการเมืองแล้ว แน่นอนว่า จะเกิดความขัดแย้งในอนาคตมากว่าปัจจุบัน
2.การกำหนดรูปแบบและเงื่อนไขเรื่องระบอบการปกครองในอนาคตร่วมกัน
3. อะไรคือพันธกิจของกองทัพในรัฐธรรมนูญ
4.จะจัดการอย่างไรกับกฎหมายความมั่นคง
5.อำนาจขอบเขตของกฎหมายทหาร
6. การจัดการปัญหาของระบอบเผด็จการหรือปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
7. ปัญหาในบทบาทของฝ่ายค้านหลังการเปลี่ยนผ่านแล้วจะจัดการอย่างไร
8. ขอบเขตของอำนาจผู้บังคับบัญชาในระบอบทหารอยู่ในระดับใดที่จะไม่ผิดกฎหมาย
9.การปรับบทบาทของกองทัพในสถานการณ์ความมั่นคง
และ 10.ต้องผลักดันในเกิดการปฏิรูปทางการเมือง