เบื้องหลังที่มากกว่าความน่าเอ็นดูของเด็กในคลิปวีดีโอ
เรื่องของความรู้สึกเป็นเรื่องที่เราต้องมีความละเอียดอ่อน แถมโซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่ใครๆก็สามารถโพสต์อะไรก็ตามที่ต้องการลงไป เพียงแค่กดปุ่มเดียว ทุกอย่างก็จะกระจายไปทั่ว เพราะฉะนั้นคนที่ใช้โซเชียลมีเดียต้องมีความรับผิดชอบ มีสติรู้ตัว ในการกระทำของตัวเองเสมอ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะมากกว่าเด็กๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ มีคลิปวีดีโอชิ้นหนึ่งที่คุณครูถ่ายเด็กผู้ชายสองคนที่เป็นนักเรียนในความดูแล ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก มีการแชร์กันอย่างเเพร่หลายในโลกโซเชียลมีเดีย หลายคนดูแล้ว ก็รู้สึกเอ็นดูและขำในความไร้เดียงสา แต่ในมุมของเชิงจิตวิทยาเด็กจะเป็นอย่างไร หมอมินบานเย็นแอดมินเพจชื่อดังอย่าง เข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า หมอเห็นแล้วรู้สึกไม่สบายใจและคิดว่าเป็นหน้าที่ ที่จะต้องมาอธิบายเรื่องนี้ให้สังคมรับทราบ และมีความละเอียดอ่อนมากขึ้นในเรื่องของเด็ก
คลิปที่คุณครูถ่ายเด็กผู้ชายสองคนที่เป็นนักเรียนในความดูแล เด็กคนหนึ่งถูกเด็กที่ตัวโตกว่าแกล้งด้วยการต่อยที่ปากเป็นแผล
เด็กที่ตัวโตกว่าร้องไห้แสดงความกลัวออกมาอย่างเห็นได้ชัด และพยายามขอโทษเพื่อนบอกว่าจะไม่ทำอีก ส่วนคุณครูพูดในทำนองขู่ว่าจะโทรไปแจ้งตำรวจให้จับ
จริงอยู่ว่าการรังแกกันการทำร้ายร่างกายเป็นเรื่องที่ไม่ถูก และต้องจัดการ แต่วิธีการจัดการของครู หมอก็คิดว่าไม่เหมาะสมเช่นกัน ในการถ่ายคลิปวิดีโอมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย
และเรื่องการขู่เด็กให้กลัวก็เหมือนกัน หมอไม่คิดว่ามันจะเป็นวิธีการที่ยั่งยืนในการจัดการกับพฤติกรรมของเด็ก หลายๆ ครั้งที่ผู้ใหญ่ไม่สามารถจัดการพฤติกรรมของเด็กได้ ทำให้เกิดความโกรธ หงุดหงิด เสียใจ ที่เด็กไม่เชื่อฟัง ที่โกรธมาก ลึกๆ อาจจะเป็นเพราะว่ารู้สึกว่าความเป็นผู้ใหญ่ถูกท้าทาย ที่เสียใจ ก็เพราะน้อยใจที่ไม่เชื่อฟัง ทั้งๆ ที่รักและเป็นห่วง อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ใหญ่ทำและพูดบางสิ่งบางอย่างรุนแรงออกไป คำพูดอย่างหนึ่งที่ผู้ใหญ่มักจะพูดกับลูกเวลาที่จัดการพฤติกรรมไม่ได้ ก็คือ คำพูดข่มขู่ สำหรับเด็กเล็กๆ คำพูดข่มขู่อาจจะได้ผล เพราะทำให้เด็กกลัว เมื่อเด็กกลัวก็จะหยุดพฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ชอบ อย่างเช่น คำขู่ ชนิดที่ว่า
"ครูจะเรียกตำรวจมาจับหนูไปเข้าคุก ถ้าหนูแกล้งเพื่อน"
"หนูทำแบบนี้ พ่อจะให้โจรมาจับตัวไปเรียกค่าไถ่"
"ถ้าหนูยังทำตัวแบบนี้ แม่จะเป็นลมตายไปเลยนะ หนูจะไม่ได้เห็นแม่อีก"
คำขู่แบบนี้มีผลกับเด็กๆ จนคาดไม่ถึงทีเดียว
ในเด็กนั้น พื้นฐานสำคัญที่จะให้เด็กคนหนึ่งเติบโตไปเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง นั่นก็คือ ความปลอดภัยและมั่นคงทางจิตใจ ถ้าไม่มี ก็เหมือนต้นไม่ที่ขาดรากแก้ว เด็กที่ถูกข่มขู่อยู่บ่อยๆ ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิภาพของชีวิตตัวเอง และคนที่เด็กรัก เช่นพ่อแม่ เด็กคนนั้นก็จะเติบโตมาด้วยความกลัว ไม่มั่นคง ส่งผลให้ อาจจะกลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ โกรธง่าย เสียใจ หวั่นไหว และ เปราะบางกับสิ่งที่เข้ามากระทบ มีความเสียงที่จะมีปัญหาทางจิตใจได้ง่าย เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า
อำนาจของผู้ใหญ่ ไม่ได้เกิดจากความกลัว แต่ควรจะมาจากความรักและเคารพที่เด็กมีต่อผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการขู่ให้กลัว แต่เกิดจากสัมพันธภาพที่ก่อตัวมาเป็นเวลานาน ร่วมกับการให้กฎระเบียบที่เหมาะสม ให้เด็กรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ โดยที่ไม่ต้องข่มขู่ สำคัญคำขู่ จะใช้ผลน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเด็กๆ โตขึ้น และยิ่งทำให้เด็กโกรธ เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นด้วย
ความเห็นส่วนตัวของหมอเมื่อได้เห็นคลิปของเด็กสองคนนี้ หมอคิดว่า
1)หมอไม่อยากให้คุณครูถ่ายคลิปเด็กแล้วเอามาลง เพราะอย่างหนึ่ง การทำเช่นนี้สุ่มเสี่ยงเป็นการละเมิดสิทธิเด็กตามพรบ.(แม้จะคิดว่าคุณครูไม่เจตนา) พ่อแม่เด็กทั้งคู่อาจจะไม่สบายใจ เด็กเองจะรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นพวกเขาอยู่ในคลิปวิดีโอที่คนดูแล้วก็หัวเราะด้วยความตลกขบขัน ถึงแม้ว่าจะบอกว่าเป็นความเอ็นดูก็ตาม
2)เด็กที่ต่อยเพื่อนนั้นก็ดูขอโทษด้วยความกลัวอย่างมาก เด็กอาจจะมีประสบการณ์ไม่ดีจากการถูกทำโทษ หรือเคยถูกทำร้ายจากคนรอบข้าง รึเปล่า และมาทำร้ายเพื่อนต่อ เป็นพลวัตทางจิตที่เราพบบ่อยๆ ในเด็กที่ทำร้ายเพื่อน ซึ่งเด็กที่แกล้งเพื่อนและเด็กที่ถูกแกล้งก็สมควรได้รับการช่วยเหลือ ดูแลทางด้านจิตใจเช่นกัน
3)แทนที่ครูจะถ่ายคลิปแล้วเอามาลงยูทูบ ครูควรจะคุยกับเด็กส่วนตัว ไม่ขู่ให้กลัว สร้างแรงจูงใจในการปรับพฤติกรรม เรียกพ่อแม่คุยถึงลักษณะนิสัยใจคอของเด็กเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือปรับพฤติกรรมอย่างยั่งยืนต่อไปมากกว่า
หมอเข้าใจว่าคุณครูมีความปรารถนาดีที่จะปรับพฤติกรรมของเด็ก แต่เรื่องของความรู้สึกเป็นเรื่องที่เราต้องมีความละเอียดอ่อน แถมโซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่ใครๆก็สามารถโพสต์อะไรก็ตามที่ต้องการลงไป เพียงแค่กดปุ่มเดียว ทุกอย่างก็จะกระจายไปทั่ว เพราะฉะนั้นคนที่ใช้โซเชียลมีเดียต้องมีความรับผิดชอบ มีสติรู้ตัว ในการกระทำของตัวเองเสมอ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะมากกว่าเด็กๆ
ที่มา เพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา https://www.facebook.com/kendekthai/photos/a.468916916480833.98758.468898189816039/1106644629374722/?type=3&theater