สหราชอาณาจักรบนเส้นทางเป็นเอกราชจากอียู
ปัญหาผู้อพยพและความนิยมที่เพิ่มขึ้นในพรรคการเมืองแนวขวาจัดในหลายประเทศในยุโรปสะท้อนว่าประชาชนเริ่มตั้งคำถามถึงอียูและสิ่งที่ตัวเองได้รับจากการเป็นสมาชิกของอียู เป็นคำถามที่แสดงถึงความไม่พอใจต่อกฎกติกาต่าง ๆ ที่ออกมาจากอียู
ผลการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ของคนในสหราชอาณาจักร (ยูเค) เรื่องการอยู่ในสหภาพยุโรป (อียู) หรือไม่ ซึ่งฝ่ายที่ต้องการให้ถอนตัวจากอียูชนะด้วยคะแนน 51.9% และฝ่ายที่ต้องการให้อยู่ต่อได้คะแนน 48.1% นั้น ได้กลายเป็นแผ่นดินไหวที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปในวงกว้าง นับตั้งแต่ส่งผลทางการเมืองให้นายเดวิด คาเมรอน ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของยูเค ค่าเงินปอนด์ร่วงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 30 ปี ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วง สกอตแลนด์กับไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นประเทศในยูเคเรียกร้องให้มีการลงประชามติแยกตัวออกจากยูเค เพราะเสียงประชามติเรื่องอียูนั้น คนส่วนใหญ่ในสกอตแลนด์กับไอร์แลนด์เหนือต้องการให้อยู่ในอียูต่อไป มีเพียงในเวลส์กับอังกฤษเท่านั้นที่ฝ่ายที่ต้องการให้ออกจากอียูเป็นฝ่ายชนะ (ยูเคประกอบไปด้วย 4 ประเทศคืออังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ) นอกจากนั้นพรรคแนวขวาจัดในหลายประเทศที่เป็นสมาชิกของอียู ยังออกมาเรียกร้องให้มีการลงประชามติเรื่องการอยู่ในอียูภายในประเทศของตนตามแบบของยูเคบ้าง ต่อไปอาจมี Frexit (French exit), Gerexit (German exit) หรือ Swexit (Swedish exit) ตามมา
ชัยชนะของฝ่ายที่ต้องการให้ถอนตัวหรือถ้าเรียกแบบสั้น ๆ ตามแบบภาษาในทวิตเตอร์ว่า Brexit ที่ย่อมาจาก British exit เหนือฝ่ายที่ต้องการให้อยู่ Brimain หรือ British remain ส่งผลพวงทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การจ้างงาน สังคม และภูมิรัฐศาสตร์
ปัญหาผู้อพยพและความนิยมที่เพิ่มขึ้นในพรรคการเมืองแนวขวาจัดในหลายประเทศในยุโรปสะท้อนว่าประชาชนเริ่มตั้งคำถามถึงอียูและสิ่งที่ตัวเองได้รับจากการเป็นสมาชิกของอียู เป็นคำถามที่แสดงถึงความไม่พอใจต่อกฎกติกาต่าง ๆ ที่ออกมาจากอียู
ก่อนหน้าการลงประชามตินั้น พรรคการเมือง หน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนนักวิเคราะห์ นักสังเกตการณ์และสื่อมวลชนต่างเชื่อว่า ฝ่ายที่ต้องการให้ยูเคอยู่ในอียูต่อจะเป็นฝ่ายชนะด้วยคะแนนท่วมท้น แม้กระทั่งนายไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคแนวขวาจัดที่เป็นหนึ่งในแกนนำรณรงค์ให้ออกจากอียูยังเคยพูดว่า การรณรงค์ของเขาคงลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ แต่ผลที่ออกมาตรงข้ามทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวกันยกใหญ่ เป็นการปรับตัวทั้งในระดับองค์กรอย่างอียู ระดับประเทศอย่างยูเค และระหว่างประเทศ
จะเกิดอะไรต่อไป
สถานการณ์ในตอนนี้ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพราะยูเคกับอียูก้าวมาถึงทางแยกที่ไม่เคยมีฝ่ายไหนเคยก้าวเดินไปก่อน ทำนองเดียวกับสามีภรรยาที่ตัดสินใจหย่าขาดจากกัน หลังจากที่ใช้ชีวิตด้วยกันมาหลายสิบปี ต่างฝ่ายต่างไปตามเส้นทางของตน ในกรณียูเคกับอียูนั้น ทั้งสองฝ่ายตัดสินใจหย่าขาดจากกันหลังจากอยู่ด้วยกันมา 43 ปี โดยจะยึดหลักตามมาตรา 50 ในสนธิสัญญาลิสบอน ที่กำหนดแนวทางในกระบวนการถอนตัวของสมาชิกประเทศ และหลังจากผ่านกระบวนการทางกฎหมายของยูเคแล้ว ยูเคจะต้องยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการต่อคณะมนตรียุโรป โดยสถานภาพการเป็นสมาชิกอียูของยูเคจะสิ้นสุดลงภายใน 2 ปี หลังจากที่ได้มีการยื่นคำร้องต่อคณะมนตรียุโรป
ว่าที่อดีตนายกรัฐมนตรีคาเมรอนได้กล่าวไว้ตอนที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งว่า จะปล่อยให้ผู้นำคนต่อไปของยูเคเป็นผู้ตัดสินใจว่า เมื่อไรจะเริ่มใช้มาตรา 50 ซึ่งคาดว่ายูเคจะได้ผู้นำคนใหม่ในราวเดือนตุลาคม ขณะที่ทางผู้นำของอียูออกมากล่าวว่าอียูต้องการให้ยูเคเริ่มกระบวนการถอนตัวทันที เพราะเรื่องต่าง ๆ จะได้มีความชัดเจนโดยเร็ว
ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของยูเค
นายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน สมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งอยู่พรรคเดียวกับนายคาเมรอน แต่นายจอห์นสันเป็นแกนนำให้ยูเคถอนตัวจากอียู กำลังมาแรง หลังจากการรณรงค์ให้ยูเคถอนตัวจากอียูประสบความสำเร็จ เขาเป็นบุคคลที่บริษัทรับพนันรับแทงว่า เป็นตัวเก็งเบอร์หนึ่งที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของยูเค แต่งานนี้อาจมีม้ามืดทำนองเดียวกับที่ทีมเลสเตอร์ ซิตี้กลายเป็นม้ามืดที่บริษัทรับพนันให้คะแนนต่อรองถึง 1 ต่อ 5,000 กรณีคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกในลีกลูกหนังชั้นสูงสุดของอังกฤษ ม้ามืดในวงการเมืองยูเคครั้งนี้อาจเป็นนางเทเรซา เมย์ รัฐมนตรีกิจการภายในของยูเค ทำนองคล้าย ๆ กับรัฐมนตรีมหาดไทย มีนักวิเคราะห์มองว่านางเมย์ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกิจการภายในที่ยาวนานที่สุด (6 ปี) เหมาะที่จะเป็นผู้นำคนต่อไปมากกว่านายจอห์นสัน เพราะว่าตอนนี้ยูเคกำลังแตกแยกจากกรณีการลงประชามติ โดยนายจอห์นสันนั้นเป็นที่รู้กันว่าอยู่ฝ่ายให้ออกจากอียู ขณะที่นางเมย์นั้น แม้ว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับนายคาเมรอนและหนุนให้ยูเคอยู่ในอียู แต่ไม่ได้ออกมารณรงค์อยู่แถวหน้า เหมาะกว่าที่จะเป็นผู้นำเพื่อสานรอยร้าวและนำพายูเคไปบนเส้นทางที่เป็นเอกราชจากอียู แต่ก็มีฝ่ายที่มองว่านางเมย์ไม่เหมาะ เพราะไม่ได้เป็นผู้นำให้ยูเคก้าวมาถึงจุดที่ประชาชนแสดงพลังถอนตัวจากอียู นายจอห์นสันเหมาะที่สุด เพราะเป็นหัวเรือใหญ่นำยูเคมาถึงจุดนี้
ยูเคจะเลือกเส้นทางเอกราชจากอียูแบบไหน
มีไม่กี่ประเทศในยุโรปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอียู เช่น ไอซ์แลนด์, ลิกเตนสไตน์, สวิตเซอร์แลนด์, และนอร์เวย์ นักวิเคราะห์มองว่ามีแนวทางที่ยูเคอาจเลือกเป็นแบบอย่างได้ เช่น แบบสวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ หรือแนวทางแบบยูเคเอง ขึ้นอยู่กับว่ายูเคจะสามารถเจรจาต่อรองกับอียูได้แค่ไหน
ในกรณีนอร์เวย์นั้น สามารถเข้าถึงตลาดอียูได้ เพราะนอร์เวย์เป็นสมาชิกของเขตเศรษฐกิจยุโรป (อีอีเอ) หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนรายงานว่า การเป็นสมาชิกอีอีเอของนอร์เวย์ เอื้อให้นอร์เวย์เข้าถึงตลาดอียูและค้าขายกับภาคีอียูได้โดยที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศุลกากร ยกเว้นอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับเงินอุดหนุนจากอียู ไอซ์แลนด์กับลิกเตนสไตน์ต่างก็เป็นสมาชิกของอีอีเอ
เพื่อแลกกับการเป็นสมาชิกอีอีเอ นอร์เวย์ต้องยึดตามกฎกติกาของอียูราวสามในสี่ โดยที่นอร์เวย์ไม่มีคนของตนนั่งอยู่ในอียู ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจต่อกระบวนการออกกฎหมายของอียู
หรือถ้าจะเลือกแนวทางแบบสวิตเซอร์แลนด์ ที่ยังคงมีความสัมพันธ์กับอียู แต่ไม่ได้ใกล้ชิดแบบกรณีนอร์เวย์ โดยสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีข้อตกลงทวิภาคีกับอียูกว่า 120 ฉบับ เป็นข้อตกลงที่ได้มีการเจรจากันมานับตั้งแต่ที่คนสวิสบอกปัดการเป็นสมาชิกอีอีเอเมื่อปี 2535 อย่างไรก็ตามสวิตเซอร์แลนด์ต้องทำตามกฎของอียูเพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดอียูได้ สวิตเซอร์แลนด์ยังคงต้องจ่ายเงินเข้ากระเป๋าอียู แต่จ่ายน้อยกว่านอร์เวย์ เช่นเดียวกับนอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดกฎกติกาของอียู
ในกรณียูเคนั้น ภาคบริการและภาคการเงินเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญมาก ซึ่งหากยูเคยึดตามแนวทางของสวิตเซอร์แลนด์ ยูเคอาจไม่สามารถเข้าถึงตลาดอียูในภาคบริการและภาคการเงิน ดังนั้นไม่ว่าใครก็ตามจะมาเป็นผู้นำยูเคคนต่อไป จำเป็นจะต้องเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับยูเค แนวทางแบบนอร์เวย์หรือสวิตเซอร์แลนด์นั้น อาจเป็นเพียงตัวอย่าง เพราะแต่ละประเทศมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน ในตอนนี้ความไม่แน่นอนจะยังคงมีอยู่ต่อไป ไม่เพียงความไม่แน่นอนในยูเคเท่านั้น แต่ในอียูเองด้วย
ในทุกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับยูเคอาจเปิดโอกาสให้ยูเคเข้าถึงตลาดอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากอียูได้มากกว่าการเป็นสมาชิกอียู แต่ความแน่นอนที่เห็นชัดเจนที่สุดในตอนนี้คือการวางเดิมพันทางการเมืองของนายคาเมรอนไว้ที่เรื่องการลงประชามติครั้งนี้ ทำให้เขาต้องเปิดหมวกอำลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเร็วกว่าที่คาดคิด ซึ่งที่จริงเขาน่าจะรู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า การลงประชามติครั้งนี้มีชื่อว่า Brexit ไม่ใช่ Brimain
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากipcopy.wordpress.com