3 เดือน คนไทยโดนแฮ็ก เฟสบุ๊ค อีเมล์ หลอกโอนเงินกว่า 20 ล.
ปอท. ให้คาถากันภัยผู้ใช้อีเมล์-เฟสบุ๊ค ป้องหลอกโอนเงิน 'ห้ามโง่ ห้ามซื่อ ห้ามขี้เกียจ' ชี้การตั้งระบบความปลอดภัย 2 ชั้นสำคัญ ค่ายอีเมล์ต่างๆมีให้ใช้ฟรี สละเวลากรอกรหัส เชื่อการทำธุรกิจก็จะปลอดภัยมากขึ้น
พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย ผู้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวถึงภัยออนไลน์ว่าในระยะเวลา3 เดือนผ่านมา คนไทยโดนแฮ็ก เฟสบุ๊คและอีเมล์ และสร้างความเสียหาย โดยถูกหลอกโอนเงินกว่ายี่สิบล้านบาท ส่วนวิธีที่คนร้ายใช้ในการหลอกขโมย PASSWORD สำหรับแฮ็กเฟสบุ๊คนั้นมี 3 วิธี วิธีแรกคือเดาจากเลขวันเดือนปีเกิด หรือเบอร์โทรศัพท์ และเหยื่อการเดา PASSWORD จะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป เนื่องจากมักตั้ง PASSWORD เป็นวันเดือนปีเกิดและเบอร์โทรศัพท์เพื่อกันลืม ซึ่งเป็นการง่ายที่คนร้ายจะสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้บนอินเตอร์เน็ต
"วิธีต่อมาคือ สร้างหน้าเพจปลอมขึ้นมา แล้วแจ้งว่า PASSWORD ของท่านกำลังจะหมดอายุ หรือแจ้งว่ามีคนร้ายกำลังจะแฮ็ก เฟสบุ๊ค เพื่อความปลอดภัยให้คลิกไปตามลิงค์ที่ให้มาเพื่อทำการเปลี่ยน PASSWORD ใหม่ โดยเมื่อหลงกลคลิกไปตามลิงค์หน้าเพจปลอมนั้น ก็จะให้เราใส่ PASSWORD อันใหม่และ PASSWORD ปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้คนร้ายได้ PASSWORD ไปทันที"
ส่วนวิธีสุดท้ายคือคนร้ายจะปล่อย SPYWARE เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยที่ SPYWARE นั้นทำลายระบบ และเข้าถึงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ซึ่งนั่นก็แปลว่า คนร้ายจะสามารถรู้ PASSWORD ได้ทันที
สำหรับการแฮ็กเฟสบุ๊ค พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่สร้างความเสียหายคือ โจรจะสวมรอยเป็นเจ้าของเฟสบุ๊ค และส่งข้อความหาเพื่อนๆ ญาติๆว่า กำลังเดือดร้อน หรือต้องการใช้เงินด่วนให้โอนเงินไปให้ตามเลขที่บัญชีที่โจรให้มา ถ้าเกิดหลงเชื่อขึ้นมา พวกเขาต้องมาสูญเสียเงินมากมายให้โจรไป ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชนว่าห้ามตั้ง PASSWORD เป็นหมายเลขดังกล่าวเด็ดขาด งดข้อมูล PASSWORD ในหน้าเพจที่ส่งมาหรือตามลิงค์ต่างๆ หากต้องการเปลี่ยน PASSWORD สิ่งที่ควรทำคือการเข้าไปที่เว็ปไซต์ของเฟสบุ๊กโดยตรงเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลคือ และท้ายสุดให้ไปตั้งค่าระบบความปลอดภัยของเฟสบุ๊ค ซึ่งได้มีรองรับ และหากมีเพื่อนเฟสบุ๊คมาหาและบอกให้เราโอนเงินให้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ต้องโทรเช็คเจ้าตัวโดยตรงทุกครั้งว่าข้อความที่ส่งมาเป็นของเขาจริงหรือไม่
สำหรับการแฮ็กอีเมลล์นั้น พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้เสียหายจะเป็นบริษัทที่ต้องติดต่อซื้อขายกับต่างประเทศทางอีเมลล์ เมื่อแฮ็กไปเข้าอีเมล์แล้ว โจรจะเฝ้าดูการโต้ตอบอีเมล์อย่างใจเย็น รอจนถึงเวลาที่สั่งสินค้า และโอนเงินค่าสินค้าไปให้บริษัทนั้น จังหวะนี้โจรจะสวมรอย ส่งอีเมล์มาแจ้งว่า บริษัทได้เปลี่ยนบัญชีรับโอนเงินเป็นบัญชีใหม่ ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือบัญชีของโจรนั่นเอง
สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไปตั้งค่าความปลอดภัยเพิ่มเติมในกรณีนี้คือ ต้องใส่รหัสพิเศษอีกตัวที่ทางผู้ให้บริการอีเมล์เช่น GMAIL, HOTMAIL หรือ YAHOO จะส่งมาให้ทางมือถือทาง SMS เพื่อใส่ควบคู่กับ PASSWORD ไปด้วย โดยรหัสนี้ (รหัส OTP) จะถูกส่งมายังมือถือเท่านั้นทำให้บุคคลอื่นไม่สามารถเข้าอีเมล์ของคุณได้แน่นอน ซึ่งระบบความปลอดภัย 2 ชั้นแบบนี้ ค่ายอีเมล์ต่างๆมีให้ทุกคนได้ใช้ฟรี แค่สละเวลาเพียงสองสามนาที การทำธุรกิจก็จะปลอดภัยขึ้น
หากอยู่ๆบริษัทที่เราเคยซื้อของกันเป็นประจำอยู่แล้ว ส่งอีเมล์มาแจ้งว่า บริษัทได้เปลี่ยนเลขที่บัญชีในการโอนเงินเป็นอีกบัญชีหนึ่ง แล้วบอกให้เราโอนเงินค่าสินค้าที่จะซื้อไปยังบัญชีใหม่แทน ห้ามเชื่อเด็ดขาด ต้องได้รับการยืนยันทางโทรศัพท์เท่านั้นถึงจะมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกหลอก เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าอีเมล์ที่ได้รับไม่ได้มาจากบริษัท แต่มาจากคนร้ายนั่นเอง
ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลสูงสุดในการป้องกันผู้ประกอบการจากการตกเป็นเหยื่ออีเมล์สแกม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจึงได้ร่วมมือทุกธนาคาร โดยส่งวิทยากรเจ้าหน้าที่เข้าไปอบรมพนักงานธนาคารที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การโอนเงินต่างประเทศ และการบริการลูกค้า เพื่อให้นำความรู้ไปแนะนำลูกค้า โดยเนื้อหาในการอบรมจะครอบคลุมถึงทุกมิติของการหลอกลวงทางอีเมล์ เช่นลักษณะคดีที่เกิดขึ้น พฤติการณ์และกลอุบายของอาชญากร วิธีการสังเกตและป้องกัน รวมทั้งวิธีการปฏิบัติตัวของลูกค้าหากพบว่า ตนเองตกเป็นเหยื่ออีเมล์สแกมแล้ว โดยบก.ปอท. และธนาคารทุกธนาคารเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะสามารถป้องกันผู้ประกอบการจากการตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งเป็นการยกระดับการให้บริการของธนาคารในการดูแลลูกค้าต่อไป
ทั้งนี้ ผบก.ปอท. กล่าวด้วยว่า หากประชาชนต้องการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะการไม่ตกเป็นเหยื่อหลอกโอนเงินนั้น มีคาถาสั้นๆ 3 ข้อที่อยากให้จำไว้ คือ
1. ห้ามมึน คืออย่าเป็นเพียงผู้ใช้เพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจหาความรู้ในการป้องกันตัวเองเลย ประชาชนต้องคอยหาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอทั้งในเรื่องการป้องกัน และอาชญากรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้น
2. ห้ามซื่อ เนื่องจากคนร้ายมีวิธีการหลอกลวงต่างๆมากมาย เพราะฉะนั้นต้องหัดเป็นคนช่างสังเกตและไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เพราะแทบทุกสิ่งในโลกออนไลน์นั้นสามารถปลอมได้หมด
และ 3.อย่าขี้เกียจ นั่นคือถ้าหากผู้ให้บริการต่างๆมีระบบความปลอดภัยอะไรมาให้ใช้ ต้องใช้ให้หมด อย่าขี้เกียจไปเซ็ตค่าทั้งที่จริงแล้วใช้เวลาเพียงไม่เกิน 5 นาที ดีกว่าต้องเสียเงินมากมายให้คนร้ายไป