หลากมุมคิด 'พันธมิตรสื่อ' เมื่อไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์ฯ ฉลองครบรอบ 36 ปี นำสื่อมวลชนไทยเเสดงความจงรักภักดีในหลวง พร้อมเปิดมุมมองก้าวสู่ประชาคมอาเซียน มุ่งสู่การเป็นผู้นำภูมิภาค
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ที่ห้องราชเทวี โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานครบรอบ 36 ปี สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ ‘สื่อไทยสู่ยุคประชาคมอาเซียน’ โดยมีนายอภิชาติ ชินวรรโณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน
นายเทพชัย หย่อง ประธานสมาพันธ์ฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ ความตอนหนึ่งว่า ในโอกาสครบรอบ 36 ปี สมาพันธ์ฯ มีความหมายมากพิเศษ เนื่องจากเป็นปีที่ไทยและอีก 9 ประเทศ ร่วมเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ บทบาทสมาพันธ์ฯ มิได้จำกัดเฉพาะการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพและความร่วมมือขององค์กรสื่อในประเทศเท่านั้น แต่ยังมุ่งสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคด้วย ขณะที่ความจำเป็นต้องมีสมาพันธ์ฯ เนื่องจากเห็นความเปลี่ยนแปลงของสื่อใหม่มากมาย มีโซเซียลมีเดียเกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า สื่อดั้งเดิมที่มีอยู่ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ยังมีความจำเป็นต้องมีองค์กรอย่างสมาพันธ์ฯ หรือไม่
นายเทพชัย กล่าวว่า สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยังจำเป็นอยู่ เพราะยิ่งสังคมมีความเปลี่ยนแปลง หรือความแตกแยกมากเพียงใด สื่อมืออาชีพยังจำเป็นอยู่มาก
“โลกโซเซียลมีเดียอาจทำให้เห็นข้อมูลข่าวสารได้เร็วขึ้น แต่ในหลายโอกาสสื่อเหล่านั้นเปรียบได้กับเสียงอื้ออึง จับไม่ได้ศัพท์ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของสื่อกระแสหลักต้องทำอย่างไรให้เสียงที่มีเหตุมีผลดังกว่าเสียงอื้ออึง มากกว่าความเห็นส่วนตัว หรืออคติส่วนตัว ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญขององค์กรสื่อ และสมาพันธ์ฯ ควรจะมีบทบาทส่งเสริมความสำคัญจนทำให้สังคมเชื่อถือสื่อกระแสหลักได้” นายเทพชัย กล่าว
สื่อมีอิทธิพลสร้างแรงบันดาลใจ ปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยม
ด้าน นายอภิชาติ ชินวรรโณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันอาเซียนก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ปลายปี 2558 ส่งผลให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยและอาเซียนล้วนตื่นตัว ปรับตัว และเตรียมพร้อม เพื่อรับมือกับโอกาสและความท้าทายที่จะมาพร้อมกับการเป็นประชาคม และในยุคนี้คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ข้อมูลข่าวสาร คือ อำนาจ ซึ่งอยู่ในรูปแบบการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ หรือมุมมองของประชาชนในสังคม แต่เดิมเป็นของรัฐ ต่อมาได้ผ่อนถ่ายไปยังสื่อมวลชน ที่มีช่องทางในการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้นสื่อมวลชนจึงเป็นผู้มีความสำคัญอย่างยิ่ง
“สื่อมวลชนมีอิทธิพลในการสร้างแรงบันดาลใจ ปลูกฝังทัศนคติ หรือค่านิยมให้สังคมได้ในหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะปัจจุบันวิวัฒนาการเทคโนโลยีพัฒนาสูงขึ้น ทำให้อำนาจในการสร้างความรับรู้และทัศนคติทำได้อย่างรวดเร็ว กว้างขวาง ไปสู่ประชาชนทุกหย่อมหญ้า” ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว และว่ากระทรวงการต่างประเทศตระหนักในข้อเท็จจริงข้างต้น จึงได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการขอความร่วมมือกับสื่อมวลชน ให้ใช้อำนาจที่มีอยู่ในการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนแก่ประชาคมอาเซียน เพื่อจะขับเคลื่อนให้เกิดความแข็งแกร่งมากขึ้นต่อไป
นายอภิชาติ ยังกล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจทัศนคติ การรับรู้ และความพร้อม ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย สะท้อนถึงอิทธิพลของสื่อมวลชนทุกแขนง รวมทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ในการส่งเสริมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน พบว่า ปี2558 ร้อยละ 84.8 ไทยมีความพร้อมระดับปานกลางถึงมากที่สุดเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 61.3 และปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 79.7
อีกทั้ง กลุ่มตัวอย่างยังมีพฤติกรรมเปิดรับข้อมูลข่าวสารอาเซียนผ่านสื่อต่าง ๆ ระดับสูง ร้อยละ 70.9 ซึ่งได้รับข้อมูลเหล่านี้เกือบทุกวัน หรืออย่างน้อย 1-2 วัน/สัปดาห์ ผ่านสื่อโทรทัศน์ หนังสือ และออนไลน์ ตามลำดับ ทำให้เชื่อว่าสมาพันธ์ฯ มีความตั้งใจหรือมีศักยภาพช่วยส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ถึงประชาคมอาเซียน เกิดการตื่นตัว และช่วยสนับสนุนให้ไทยเป็นสมาชิกอาเซียนที่แข็งขัน และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนต่อไปได้
สื่อต้องทำหน้าที่ สร้างความรู้สึกคนไทย อยากจะมีส่วนร่วม
ขณะที่ในเวทีเสวนาย่อย เรื่อง สื่อไทยกับประชาคมอาเซียน มีผู้ร่วมเสวนา คือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน, นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน, นายสุทธิชัย หยุ่น ที่ปรึกษากองบรรณาธิการเครือเดอะ เนชั่น และนายกวี จงกิจถาวร อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมพูดคุย
ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนอาเซียนและสื่อมวลชนไทย เมื่ออยู่ในประชาคมอาเซียน ต้องยกระดับให้มากขึ้นอีกหลายองศา หลายดีกรี เพราะการเริ่มสร้างประชาคมเต็มไปด้วยสิ่งท้าทาย ซึ่งเราแตกต่างจากอียูที่ว่า พื้นที่นี้ร้อยละ 4 ของผิวโลก ใน 10 ประเทศ มีความหลากหลายมากที่สุด
ส่วนอียูยังมีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นระดับการพัฒนา หรือวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นค่านิยมจึงคล้ายกัน แต่อาเซียนมีความหลากหลายมาก อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ไม่มีองค์กรใดที่จะทำหน้าที่ผู้ประสาน จึงตกมาอยู่ที่ประชาคมอาเซียน ซึ่งสื่อมวลชนถือว่ามีความสำคัญที่จะนำวิสัยทัศน์ไปสู่ประชาชนอย่างถูกต้อง
อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวต่อว่า ในฐานะไทยเป็นประเทศเจ้าของความคิดประชาคมอาเซียน แต่ 15 ปีที่ผ่านมา ไทยชกต่ำกว่าน้ำหนักตัวเองบนเวทีอาเซียน หมายความว่า ไม่ได้ฝึกซ้อม กลไกติดขัด ทะเลาะกันไม่สิ้นสุด เวลาใดที่วาระอาเซียนจะเข้าสู่การพิจารณา จะมีการเดินขบวนหน้าสภาผู้แทนราษฎร เวลาใดที่วาระอาเซียนต้องตัดสินใจจะมีการทะเลาะกันบนถนน เพราะฉะนั้นไทยในฐานะเจ้าของความคิดประชาคมอาเซียนจึงให้สัตยาบันกับกฎบัตรอาเซียนเป็นประเทศที่ 10
ขณะที่กรุงเทพฯ ได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติให้เป็นเมืองหลวงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันเรากลับไม่ทำตัวเป็นเมืองหลวง
ดร.สุรินทร์ ยังระบุถึงกรณีการลงเสียงประชามติช๊อกโลก สหราชอาณาจักรขอถอนตัวออกจากอียูว่า อียูเป็นแหล่งเงินทุนในอาเซียนสูงสุดหลายปี จนกระทั่ง 2 ปีที่ผ่านมา อาเซียนลงทุนในอาเซียนสูงกว่าอียูเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี อย่างไรก็ตาม หากเกิดกระแสขอถอนตัวเพิ่มมากขึ้น อาเซียนย่อมได้รับผลกระทบ เพราะเมื่ออียูมีบทบาทลดลง แหล่งเงินทุนถูกกระทบ จะมีความปั่นป่วนทางการเงินทันที
ไทยจึงต้องเร่งเตรียมตัว และช่วยกำหนดทิศทางในอนาคต แต่จะทำอย่างไร ในเมื่อประเทศยังไม่มีสิทธิเสรีภาพในการใช้สิทธิใช้เสียงขณะนี้ กลับมาเป็นเรื่องภายในประเทศ ดังนั้น ไทยต้องเรียกคืนศักดิ์ศรีตนเองคืนมา ต้องสร้างเอกภาพ ภายใต้หลักการมีส่วนร่วม ในฐานะเจ้าของประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี สื่อมวลชนจึงมีส่วนสำคัญในการปฏิบัติภารกิจ จะต้องเรียกคืนประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบ เลิกทะเลาะ หรือเผชิญหน้า เพราะประเทศชาติจะอ่อนแอ
“หากสื่อมวลชนไม่ทำหน้าที่ของตนเอง ในการฟื้นความรู้สึกของคนไทย ในการอยากมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ หรือสะสางปัญหาประเทศเต็มที่ แล้วจะให้ประชาชนตระหนักรู้ได้อย่างไร ว่ายังมีสิ่งท้าทาย มีโอกาส ในภูมิภาคนี้ ให้เก็บเกี่ยวประโยชน์ ตราบใดยังไม่เป็นหนึ่งเดียว ไม่มีความพร้อม จะไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นและรักษาเกียรติภูมิของตนเองไว้” อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าว
คุณภาพรายงานข่าวอาเซียนไม่เต็มร้อย ความต่อเนื่องไม่ดีพอ
นายสุทธิชัย หยุ่น กล่าวถึงการให้สื่อมวลชนเรียกคืนบทบาทของประเทศไทยในอาเซียน ทุกวันนี้เชื่อว่า สื่อมวลชนไทยยังเป็นแกนหลักพอสมควร ถึงแม้ว่าการเมืองและเศรษฐกิจจะมีปัญหา แต่เวลาพบปะในภูมิภาคด้วยกันเองแล้ว ประเทศต่าง ๆ ยังมองไทยมีความสำคัญอยู่
ทั้งนี้ เมื่อสื่อมวลชนไทยเป็นผู้ริเริ่มให้มีบทบาทสำคัญในอาเซียน มาถึงจังหวะที่แกนนำสื่อมวลชนไทยมีภารกิจต้องแสดงความเป็นผู้นำอีกครั้งหนึ่ง ไม่เฉพาะหนังสือพิมพ์แล้ว หากยังมีสื่ออื่น ๆ ที่ปรากฎขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น สื่อโทรทัศน์ สื่อโซเซียลมีเดีย สื่อออนไลน์ เกิดขึ้นชัดเจน เข้าร่วมด้วย แต่หนังสือพิมพ์ยังคงเป็นสื่อหลักสร้างความเข้าใจเรื่องเสรีภาพ จริยธรรม ลึกซึ้ง มากกว่าสื่ออื่น ๆ
ด้านนายมานิจ กล่าวว่า สื่อมวลชนไทยยังคงความเป็นผู้นำ ความเป็นผู้รับผิดชอบ ในการใช้สิทธิเสรีภาพให้ได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้บริโภคข่าวสาร และรัฐบาลอยู่เนือง ๆ ดังนั้นต้องหันมาทบทวนตนเอง เพราะเท่าที่ผ่านมา ไม่ต้องการให้มีกฎหมายคุ้มครอง แต่การควบคุมกันเองให้อยู่ภายใต้กรอบความรับผิดชอบยังไม่เกิดผล ซึ่งเรื่องนี้มีมานานแล้ว จึงเห็นด้วยให้กลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง
“การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต้องทำให้เกิดการรู้เข้ารู้เรา และในเรื่องความรับผิดชอบ จริยธรรม คุณธรรม ทำได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยก่อน” นายมานิจ กล่าว และว่า ผลประโยชน์ประเทศไทย เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อาจกระทบกระทั่งบ้างในเรื่องผลประโยชน์ โดยกลัวว่าประเทศอื่นจะมาตักตวงผลประโยชน์ในประเทศไทย ดังนั้นสื่อมวลชนต้องช่วยกันดูแลเรื่องเหล่านี้ จะเป็นกลางไม่ได้
สุดท้ายนายกวี จงกิจถาวร กล่าวว่า ความกระตือรือร้นของนักข่าวไทยต่ออาเซียนเพิ่มสูงมากขึ้นเป็นร้อยเท่า และหนังสือพิมพ์ไทยมีข่าวเกี่ยวกับอาเซียนมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว เป็นร้อยเท่า แต่น่าเสียดาย ข่าวและความกระตือรือร้นของนักข่าว ไม่สามารถทำให้หนังสือพิมพ์ไทย มีบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียนได้ เพราะคุณภาพในการรายงานข่าวยังไม่เต็มร้อย และมีความต่อเนื่องอย่างดีพอ อย่างไรก็ดี นักข่าวในปัจจุบันมีพื้นฐานเพียงพอที่จะศึกษาประเด็นอาเซียนอย่างลึกซึ้ง .