ประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทย กรณีอังกฤษออกจากอียู
การประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยจากกรณีที่ สหราชอาณาจักรลงประชามติออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป
ตามที่สหราชอาณาจักรได้จัดให้มีการลงประชามติและผลปรากฏเป็นการลงคะแนนเสียงข้างมากเพื่อออกจากสมาชิกของสหภาพยุโรปนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอเรียนประเมินผลกระทบเบื้องต้น ว่า ผลกระทบทางตรงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยผ่านช่องทางการค้าและความเชื่อมโยงของสถาบันการเงิน คาดว่าจะค่อนข้างจำกัด แต่ไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกในระยะสั้นที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งภาวะความไม่แน่นอนจากกระแสการแยกตัวของประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ซึ่งจะกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป
สำหรับการประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ เบื้องต้น มีดังนี้
ผลกระทบผ่านช่องทางการค้า คาดว่าจะมีค่อนข้างจำกัด โดยหากพิจารณาระดับการค้าของไทย กับสหราชอาณาจักรโดยตรง พบว่าไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรคิดเป็นร้อยละ 1.8 ในปี 2558 (เป็นตลาดส่งออกที่มีความสำคัญเป็นอันดับสามในกลุ่มสหภาพยุโรป รองจากเยอรมนีและ เนเธอร์แลนด์) อย่างไรก็ดี หากรวมการส่งออกที่รวมกลุ่มสหภาพยุโรป ผลกระทบก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนการส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าว (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) มีประมาณร้อยละ 8.4 อย่างไรก็ดี ผลกระทบทางอ้อมคาดว่าจะไม่มากนัก หากปัญหาไม่ลุกลามจนก่อให้เกิดการแยกตัวของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวทางเศรษฐกิจของ ทั้งสหราชอาณาจักรและกลุ่มสหภาพยุโรปภายหลังจากแยกตัวด้วย
ทางด้านผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของไทย ประเมินว่ามีในวงจำกัดเช่นกัน เนื่องจาก สถาบันการเงินของไทยมีความเชื่อมโยงทางการเงินโดยตรงกับสถาบันการเงินในสหราชอาณาจักรและ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นเพียงร้อยละ 1.31 ของสินทรัพย์รวม นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสถาบัน การเงินไทยได้มีการเตรียมความพร้อมและป้องกันความเสี่ยงสถานะเงินตราต่างประเทศไว้ล่วงหน้าแล้ว
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดการเงินโลก ทั้งในตลาด เงินตราต่างประเทศและตลาดทุน จากความกังวลของนักลงทุนที่มีเพิ่มขึ้นและการปรับฐานะการลงทุน ระหว่างประเทศให้ตอบสนองกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความผันผวนของราคาสินทรัพย์และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในระยะสั้นและเป็นที่คาดหมายไว้ล่วงหน้า แล้ว โดยล่าสุดพบว่า ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงและค่าเงินยูโรปรับอ่อนค่าลงร้อยละ 8.0 และ 3.2 ตามลำดับ (ณ เวลา 13.00 น.) จากวันก่อนประกาศผลการลงประชามติ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ค่าเงินเยน รวมทั้งราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย สำหรับค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลง ร้อยละ 0.7 (ณ เวลา 13.00 น.) สอดคล้องกับค่าเงินภูมิภาคอื่นๆ ที่ปรับอ่อนค่าลงเช่นกัน ส่วนผลกระทบต่อ ตลาดทุนก็จะเผชิญกับความผันผวนในระยะสั้นได้เช่นกัน โดยคาดว่าอาจมีเงินทุนไหลออกจากตลาด หลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรของไทยบ้าง แต่จะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติได้ปรับลดการ ลงทุนในตลาดการเงินไทยไประดับหนึ่งแล้วก่อนหน้านี้
แม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินไทยในเบื้องต้นจะมีค่อนข้างน้อย กอปรกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะฐานะด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยรองรับผลกระทบจาก สถานการณ์ดังกล่าวได้ แต่ผลกระทบจากการปรับแผนธุรกิจของเอกชนและคู่ค้าต่างๆ ของสหภาพยุโรป เพื่อรับมือกับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่จะเปลี่ยนไปจะสร้างความไม่แน่นอนในการค้าและการลงทุน ระหว่างประเทศที่ถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป
โดย ธปท. จะติดตามพัฒนาการทาง เศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างใกล้ชิด และพร้อมดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินหากมีความจำเป็น รวมทั้งขอแนะนำให้ภาคธุรกิจเอกชนดำเนินการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากยังมีความ เสี่ยงจากความผันผวนของตลาดการเงินได้ในระยะต่อไป.
ขอบคุณภาพประกอบจาก CNN Money