ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ: 'EU เป็นแรงบันดาลใจ แต่ไม่ใช่ตัวอย่างให้เดินตาม'
"อาเซียนไม่ได้รวมตัวกันอย่างแนบแน่นเหมือน EU ซึ่งตนเองพูดอยู่เสมอว่า EU เป็นแรงบันดาลใจ แต่ไม่ใช่ตัวอย่างให้เดินตาม"
ภายหลังผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการออกมาว่าสหราชอาณาจักรจะเป็นชาติเเรกที่ออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ด้วยคะเเนนเสียง 17.4 ล้านเสียง หรือร้อยละ 52 (ให้อยู่ต่อ 16.1 ล้านเสียง หรือร้อยละ 48)
(อ่านประกอบ:คาเมรอนลาออก หลังคนอังกฤษ 17 ล้านเสียง โหวตออกจากอียู)
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ระบุกับสื่อมวลชนภายในงานครบรอบ 36 ปี สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ณ โรงเเรม เอเชีย ว่า เศรษฐกิจของอังกฤษเป็น 1 ใน 6 ของ EU เพราะฉะนั้นการขอถอนตัวจึงมีผลกระทบกระเทือนพอสมควร
ขณะเดียวกัน EU เป็นแหล่งเงินทุนในอาเซียนอันดับ 1 มานาน และเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน จึงมีผลกระทบกระเทือนกับอาเซียนในระยะเวลาหนึ่งด้วย
“ความไม่แน่นอนนี้ ทำให้อนาคตอาจมีอีกหลายประเทศลุกขึ้นมาแสดงเจตจำนงขอถอนตัวจาก EU เช่นกัน” อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าว และว่า ส่วนอังกฤษกำลังเกิดประเด็นสก๊อตแลนด์และไอร์แลนด์ขอแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร เนื่องจากทั้งสองประเทศลงเสียงประชามติขออยู่ต่อใน EU
ส่วนไทยควรมีแนวทางการรับมือผลกระทบอย่างไร ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า ช่วง 1-2 วันนี้ ยังคงมีอาการช๊อกเกิดขึ้น แต่ไทยต้องมุ่งมั่นในเรื่องการสร้างความสามารถทางการแข่งขันภายในประเทศ โดยเฉพาะความสามารถในการผลิต การลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่สำคัญ ไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของอาเซียน จากที่จะต้องเป็นประเทศรับผลกระทบอันดับ 2 เราน่าจะทำให้เป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตอนนี้มากกว่า และต้องสร้างความเป็นเอกภาพ คืนสู่กระบวนการประชาธิปไตย เมื่อเกิดสิทธิเสรีภาพ ประชาคมโลกจะมีความมั่นใจ
อย่างไรก็ตาม เวลา 2 ปี หลังจากนี้ ที่กระบวนการขอถอนตัวจาก EU ของอังกฤษ จะเสร็จสิ้น ไทยยังมีเวลาสร้างความพร้อม แต่ต้องรีบ มุ่งมั่น และไม่ทะเลาะกัน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สอบถามเพิ่มเติมต่อความกังวลอาเซียนจะเกิดกรณีเดียวกับ EU ในอนาคต อดีตเลขาธิการอาเซียน ตอบว่า อาเซียนไม่ได้รวมตัวกันอย่างแนบแน่นเหมือน EU ซึ่งตนเองพูดอยู่เสมอว่า EU เป็นแรงบันดาลใจ แต่ไม่ใช่ตัวอย่างให้เดินตาม
แม้ปัจจุบันจะไม่มีประสิทธิภาพ แต่ยืนยันสามารถประคับประคองให้อยู่ร่วมกันได้ อีกทั้งประเทศคู่เจรจาอื่น ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ต่างพึงพอใจที่จะเข้าร่วมกับอาเซียน จึงพยายามทำให้เรื่องการค้าการลงทุนมีความสะดวกราบรื่นยิ่งขึ้น
“อาเซียนมิได้ถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยเหมือน EU ที่ถ่ายโอนไปยังกรุงบรัสเซลส์ และทุกประเทศต้องปฏิบัติตามมติเหมือนกัน ซึ่งทำให้หลายประเทศใน EU เกิดความรู้สึกว่า ไม่ได้รับผลประโยชน์”
ดร.สุรินทร์ บอกต่อว่า สมาชิกอาเซียนจึงต้องเร่งปรับเปลี่ยนและยกระดับมาตรฐานต่าง ๆ ภายในของตนเอง แต่จะไม่กำหนดจากศูนย์กลาง ขณะนี้หลายประเทศกำลังมองหาแหล่งฝากทุนหรือทรัพย์สิน ซึ่งเงินสกุลเยนของญี่ปุ่นกำลังได้รับความสนใจ เพราะมั่นคงและมีเสถียรภาพ จึงแย่งกันนำเงินไปฝากมากขึ้น เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังศึกษาอยู่
“อาเซียนรวมตัวกันก้าวหน้าพอสมควร ประกอบกับเคยมีประสบการณ์จากการร่วมมือแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในอดีต ถือเป็นการช่วยเหลือกันมา ประคับประคองกันมา และเป็นแรงผลักดันที่ดีให้ทุกประเทศหันหน้าเข้าหากัน ทำให้เกิดการลงทุนในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ” อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าว