เหยื่อจีที 200 "ตาย-เจ็บ-เข้าคุก" ใครรับผิดชอบ?
เป็นประเด็นที่วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับเจ้าเครื่องตรวจวัตถุระเบิดลวงโลก "จีที200" ที่ล่าสุดแม้ศาลประเทศอังกฤษได้ตัดสินยึดทรัพย์อดีตผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตเพื่อชดใช้แก่ผู้เสียหายแล้ว ทว่าประเทศไทยกลับไม่มีรายชื่ออยู่ในคิวที่จะได้รับการชดเชย
ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ ประชาชนที่เคยตกเป็นเหยื่อจากความผิดพลาดของอุปกรณ์ที่ไม่ต่างอะไรกับ “ไม้ล้างป่าช้า” ชิ้นนี้ ทั้งเสียชีวิต บาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหาย รวมทั้งถูกจับกุมเพราะถูกก้านเหล็กชี้ว่ามีสารประกอบระเบิดทั้งที่ไม่มี จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับชะตากรรมของพวกเขาเหล่านั้น
จะว่าไปแล้ว ก่อนที่ศาลประเทศอังกฤษจะตัดสินว่า “จีที 200” ใช้งานไม่ได้จริง ประเทศไทยเองก็ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากจากการที่เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือชนิดนี้ตรวจหาระเบิด และปรากฏความผิดพลาด โดยเฉพาะในเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่ อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2552 และเหตุระเบิดรถจักรยานยนต์ในตลาดสดเขตเทศบาลนครยะลา ในวันที่ 19 ต.ค.ปีเดียวกัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเกือบครึ่งร้อย
คำถามก็คือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายเหล่านั้น
ช่วงปี 2552 ชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเคยเข้าร้องเรียนกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนว่า ถูกเจ้าหน้าที่นำเครื่องจีที200 มาใช้ตรวจอาวุธและสารประกอบระเบิดกับประชาชน หากก้านเหล็กของเครื่องชี้ไปที่ใคร จะถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทันทีด้วย ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ ส่งผลให้ประชาชนก็ไม่ไว้ใจในประสิทธิภาพของเครื่องมือ จนส่งผลต่อเนื่องถึงความไม่ไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
อังคณา: มีคนถูกจับกุมเพราะ จีที 200
อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเคยทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในนามมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ได้ประสบพบเจอเรื่องเหล่านี้ด้วยตนเอง และได้บอกเล่าเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านตาดำๆ ซึ่งจนถึงป่านนี้รัฐก็ไม่เคยเหลียวแล...
O การใช้เครื่องจีที 200 มีประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในมิติใดบ้าง?
เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการใช้ จีที 200 เป็นที่รู้กันในในช่วงปี 2552-2553 พอดีในช่วงนั้นดิฉันทำงานกับองค์กรสิทธิมนุษยชน และมีชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้เครื่องมือนี้ ซึ่งเราและชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าคืออะไร รู้แต่ว่าเจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นเครื่องตรวจสารประกอบระเบิด ถ้านำเครื่องมาชี้ที่ใคร ก็จะนำตัวมา เพราะเชื่อว่าคนเหล่านั้นมีส่วนสัมผัสกับสารประกอบระเบิด
ช่วงนั้นมีการคุมตัวประชาชนจำนวนไม่น้อย และบางเครื่องก็ชี้ไปที่หลุมศพ เจ้าหน้าที่ก็ไปตรวจสอบเพราะกลัวว่าเป็นที่ฝังระเบิด ในช่วงนั้นมีเรื่องที่ชาวบ้านไม่ไว้วางใจรัฐมาก เพราะเครื่องนั้นชี้ไปที่ผู้สูงอายุ ผู้หญิงตั้งครรภ์ คนพิการ บางคนพิการทางสมอง แต่กลับถูกตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับสารประกอบวัตถุระเบิด
หลังจากที่ควบคุมตัวประชาชนโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังครบจำนวนวันควบคุมตัว คนเหล่านี้ก็ถูกส่งไปโครงการอบรมอาชีพที่ค่ายทหารใน จ.ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ถ้าจำไม่ผิดประมาณ 300 คน ซึ่งตอนนั้นเป็นนโยบายแยกปลาจากน้ำ ปรากฏว่าคนที่ถูกคุมตัวไปค่ายทหารมาร้องกับกรรมการสิทธิฯ และตอนนั้นร้องกับกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาปัญหาภาคใต้ของวุฒิสภา และกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้มีการตรวจสอบ จนกระทั่งรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตรวจสอบว่าเครื่องมือนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบวัตถุระเบิด
หลังจากนั้นประชาชนที่ถูกควบคุมตัวที่ร้องมายังกรรมการสิทธิฯ ก็ฟ้องร้องต่อศาลว่ามีการควบคุมตัวโดยมิชอบ สุดท้ายศาลจังหวัดระนอง ชุมพร สุราษฎร์ฯ มีคำพิพากษาให้ปล่อยตัวประชาชน
O รัฐบาลบอกว่าหน่วยงานรัฐถูกหลอกให้ซื้อ แต่ประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบ แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?
แบ่งเป็น 2 ส่วน สำหรับหน่วยงานรัฐที่ไปซื้อเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในการเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบกับงบประมาณที่เสียไป เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการ เพราะเรื่องนี้มีข่าวมานานแล้วว่าบริษัทที่ผลิต จีที 200 ถูกฟ้อง ซึ่งส่วนตัวไม่ได้ติดตามและไม่รู้ว่ารัฐบาลไทยได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ (หมายถึงในกระบวนพิจารณาคดีของศาลอังกฤษ) เพื่อยืนยันว่าประเทศไทยเองก็เป็นผู้เสียหายกับการนำเครื่องมือมาใช้
ส่วนการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการใช้เครื่องมือนี้ควบคุมตัวประชาชน ตรงนี้หากพิสูจน์ถึงที่สุดแล้วว่าเครื่องมันใช้ไม่ได้ แม้รัฐบาลจะเคยบอกว่าดีกว่าไม่มี หรือใช้ได้บ้าง แต่วันนี้ถึงที่สุดแล้วมันใช้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นคนที่ถูกควบคุมตัวเรื่องนี้ เป็นคำถามกับรัฐบาลว่าจะเยี่ยวยา หรือรับผิดชอบกับคนกลุ่มนี้อย่างไร
O ประชาชนสามารถฟ้องรัฐบาลได้หรือไม่?
สามารถฟ้องได้ตามกฎหมาย ถ้าฟ้องทางแพ่งต้องภายใน 1 ปี ซึ่งอาจจะขาดอายุความไปแล้ว แต่การฟ้องอาญาไม่แน่ใจว่าจะฟ้องได้หรือไม่ในเรื่องของการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คงต้องศึกษาแนวทางการต่อสู้ทางกฎหมาย
แต่สิ่งที่อยากให้คำนึงคือ ชาวบ้านในภาคใต้คงไม่กล้าฟ้องรัฐ และเครื่องมือนี้ไม่ได้ใช้แค่เฉพาะกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มีใช้กับคนในภาคเหนือ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส.เองก็ใช้เครื่องมือนี้หายาเสพติดด้วยเหมือนกัน เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากการควบคุมตัวจากการใช้เครื่องมือนี้
O เป็นห่วงเรื่องนี้หรือไม่ว่าจะเงียบหายไปอีก?
เรื่องนี้เงียบมานานตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์สรุปว่ามันใช้ไม่ได้ ก็มีคำถามจากประชาชนมาตลอดว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไรในส่วนของงบประมาณที่เสียไป ที่สำคัญคือการควบคุมตัวประชาชนโดยใช้เครื่องมือที่ไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อรัฐบาลมากในสถานการณ์ที่ข้อเท็จจริงปรากฏแล้วว่ารัฐบาลจะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างไร
อ.อ๊อด: ขายความเชื่อ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์
นักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ค่อนข้างแรง คือ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ “อ.อ๊อด” อาจารย์จากภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
O ประเทศไทยในฐานะผู้เสียหายควรทำอย่างไรหลังศาลอังกฤษตัดสินยึดทรัพย์อดีตผู้บริหารบริษัทผู้ผลิต?
มี 2 ระดับที่ดำเนินการได้ ระดับที่ 1 ผู้ที่จัดหามาเพื่อจำหน่ายให้รัฐและรัฐบาล ถือว่าเสียหายโดยตรง ซึ่งตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าเครื่องนี้หลอกลวง เพราะฉะนั้นรัฐบาลไทยต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับผู้ประกอบการที่นำเครื่องจีที200 หรือเครื่องอื่นที่เปลี่ยนชื่อมาเป็นจีที200 มาทำให้เราเสียหายเป็นมูลค่าหลักพันล้าน
ระดับที่ 2 คือตรวจสอบดูว่าการจัดซื้อจัดหาเป็นไปตามระเบียบราชการหรือไม่ ส่อแววการทุจริตหรือไม่ ซึ่งส่วนนี้จะเข้าสู่ประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับความผิดในการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ เข้ามาตรา 157 ถึง 159 รัฐบาลจะต้องตรวจสอบ แต่ในสเตปแรกควรต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับผู้ประกอบการก่อน
O ประสิทธิภาพของเครื่อง ทีแรกทำไมถึงมีคนเชื่อว่าใช้การได้?
เครื่องจีที 200 ตอนแรกไม่ได้ชื่อนี้ มันชื่ออัลฟ่า 6 มีการเปลี่ยนชื่อมาก่อน และรัฐบาลเคยซื้อมา ตอนนั้นราคาไม่กี่หมื่นบาท มีการตรวจสอบและสรุปผลว่ามันใช้ไม่ได้ ก็มีการยกเลิกไป
หลังจากนั้นบริษัทแม่ที่อังกฤษมีความพยายามขายให้หลายๆประเทศ และมีการทำโฆษณาชวนเชื่อว่าเครื่องนี้ใช้ได้ จนนำมาสู่การจัดซื้อครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นอีกรุ่นหนึ่ง ชื่อ “จีที 200” ตัวนี้เมื่อซื้อเข้ามาใช้ตามหลักความน่าจะเป็น ก็ตรวจถูกบ้างไม่ถูกบ้าง ใช้หลักความเชื่อ ในภาวะที่ไม่รู้ว่าจะหาตำแหน่งระเบิด และช่วงที่เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิด เครื่องนี้ดันหาเจอ ก็เลยเกิดความเชื่อใจ และระดมการจัดซื้อมากขึ้น และมูลค่าก็สูงขึ้น
แต่ท้ายที่สุดทดสอบแล้วว่ามันเป็นหลักความน่าจะเป็นธรรมดา “มั่ว” หรือเป็น “หมอเดา” ก็ทายถูกเท่ากันนี้ เจ้าหน้าที่แทนที่จะได้รับความปลอดภัยก็ได้รับอันตราย
O เรื่องราวเดินมาถึงจุดนี้ เราควรจะคิดแค่มันเป็นบทเรียน ใครๆ ก็ถูกหลอกกัน หรือควรมีการตรวจสอบทุจริต?
มีประเด็นน่าสงสัยคือ จากที่มันเปลี่ยนชื่อจากอีกชื่อหนึ่งมาเป็น จีที 200 มันคืออันเดียวกัน มันคือเครื่องสะวิงหาตาน้ำธรรมดา คือไม้ล้างป่าช้าธรรมดา แต่ว่าทำลักษณะที่มีพิรุธ เป็นจิตใต้สำนึกที่รู้ได้ว่ามันมีอะไรผิดปกติ เช่น ห้ามแกะเครื่อง ห้ามผ่าเครื่อง ห้ามพิสูจน์ พูดง่ายๆคือซื้อมาแล้วห้ามแกะ มันก็เป็นอะไรที่แปลก นั่นคือประการที่หนึ่ง
ส่วนประการที่สอง คือ ราคาขึ้นสูงมาก จากเครื่องมือเล็กๆ สู่ระดับล้านกว่าบาท อาจารย์จบเคมีมา เราสามารถซื้อเครื่องไอออนสแกนได้เลย แม่นยำกว่าด้วยซ้ำ แต่อันนี้เครื่องเล็กๆ ระดับล้านกว่าจึงเกิดข้อสงสัยในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างว่าส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ ผู้ที่มีหน้าที่จำเป็นต้องตรวจสอบและตอบคำถามสังคมให้ได้ เพราะว่าตอนนี้ต้นขั้วบริษัทสรุปไปแล้วว่าหลอกลวง บ้านเราจะต้องทำอะไรบางอย่าง
ผู้ที่จัดหามาจำหน่ายให้รัฐ จะต้องถูกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะหน่วยงานรัฐเราเสียหาย จะต้องพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกันต้องดูการจัดซื้อจัดจ้าง ถ้าเราบริสุทธิ์ใจก็ดำเนินไปตามปกติ เทคนิคทางกฎหมายที่จะพิสูจน์เอาผิดก็มีมากมาย ค่อนข้างชัดเจนในเรื่องรายละเอียด เอกสารก็มีอยู่แล้ว เราสามารถสืบต้นสายปลายเหตุได้ ถ้าเสียหายก็ต้องดำเนินการ
สาเหตุที่มีผู้ใช้มั่นใจกับจีที 200 เพราะมันมีความน่าจะเป็นที่จะถูก 50 เปอรเซนต์ ถ้าหันไปด้านนี้แล้วเจอมันก็ถูก แต่ถ้าเราหันแล้วไม่เจอก็เพราะมันอยู่ด้านหลัง เปอร์เซนต์ถูกก็ 50:50 ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสนามก็รู้สึกดี เป็นการขายความเชื่อ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เงินที่สูญเสียไปมาก รัฐต้องจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
** หมายเหตุ : นัฏฐิกา โล่ห์วีระ เป็นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW26
บรรยายภาพ : (ซ้าย) อังคณา นีละไพจิตร (ขวา) วีรชัย พุทธวงศ์