สหกรณ์จุฬาฯถือหุ้น'สหประกันชีวิต' ด้วย-ก่อนฟ้อง'มงคลเศรษฐี'เรียกคืน 215 ล.
“…ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะทำให้ฝ่ายบริหารของสหกรณ์จุฬาฯ เชื่อมั่นและนำเงินไปฝากไว้กับสหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ ถึง 200 ล้านบาทในช่วงปี 2557 (รวมเงินต้น+ดอกเบี้ยประมาณ 215 ล้านบาท) ทว่ากลับไม่ ‘หวาน’ เหมือนที่ ‘ฝัน’ เอาไว้ เนื่องจากสหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ ไม่มีเงินมาคืนตามกำหนด ทำให้ต้องดำเนินการฟ้องศาล แต่ก็ยังเชื่อว่าจะสามารถได้เงินคืน เนื่องจากมีหุ้นอยู่ในบริษัท สหประกันชีวิตฯ ที่สหกรณ์จุฬาฯก็ร่วมถือหุ้นเช่นเดียวกัน…”
คำถามที่ยังคงค้างคาใจสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางกลุ่มในขณะนี้มีอยู่ 2 ประเด็นคือ กรณีสหกรณ์จุฬาฯปล่อยกู้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 1.4 พันล้านบาท ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการชดใช้หนี้คืนตามคำสั่งศาลล้มละลาย แต่ยังคงเป็นปริศนาในเรื่องการปล่อยกู้ที่ยังไม่มีใครออกมาชี้แจงได้อย่างชัดเจนว่า เหตุใดจึงดำเนินการปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์คลองจั่นฯ
และกรณีสหกรณ์จุฬาฯฝากเงินไว้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีกว่า 215 ล้านบาท สหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ 915 ล้านบาท และสหกรณ์คลองจั่นฯ 144 ล้านบาท
ซึ่งในประเด็นการฝากเงินก็เป็นที่สงสัยกันว่า เหตุใดจึงมีการนำเงินไปฝากในสหกรณ์ฯเหล่านั้น ทั้งที่บางแห่งไม่มีหลักค้ำประกันความเสี่ยง ซึ่งอาจทำให้เงินสูญได้ ?
โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดอยู่ในขณะนี้คือ กรณีการฝากเงินสหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ ที่ปัจจุบันสหกรณ์จุฬาฯได้ยื่นฟ้องเพื่อเรียกเงินต้น+ดอกเบี้ยคืนจากสหกรณ์มงคลเศรษฐีฯแล้ว
เนื่องจากไม่มีการจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมวงเงินกว่า 215 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงธัญบุรี
อย่างไรก็ดีแนวโน้มคดีดังกล่าวอาจไกล่เกลี่ยกันได้ โดยผู้สอบบัญชีสหกรณ์จุฬาฯ ระบุว่า สหกรณ์มงคลเศรษฐีฯอาจคืนเป็นหุ้นสามัญบริษัท สหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มูลค่า 190 ล้านบาท ทำให้สหกรณ์จุฬาฯ ตั้งงบเผื่อหนี้จะสูญไว้ประมาณ 25 ล้านบาท
(อ่านประกอบ : สหกรณ์จุฬาฯฟ้อง‘มงคลเศรษฐี’เรียกเงินฝากคืน 215 ล.ส่อสูญ-เอาหุ้นใช้หนี้)
แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันคือ บริษัท สหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในเอกชน 19 แห่ง ที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการสอบสวนว่า อาจเข้าข่ายมีพฤติการณ์ฟอกเงิน เนื่องจากได้รับเช็คจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์คลองจั่นฯ และสหกรณ์มงคลเศรษฐี รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 2.2 พันล้านบาท
(อ่านประกอบ : INFO: 13 คดียักยอก-ฟอกเงินสหกรณ์คลองจั่นฯในมือดีเอสไอ-เบ็ดเสร็จ 2 หมื่นล.)
อย่างไรก็ดีกรณีนี้ รศ.ดร.สวัสดิ์ ทัศนา ประธานสหกรณ์จุฬาฯ ก็ยังยืนยันมั่นใจว่า สหกรณ์จุฬาฯได้เงินคืนอย่างแน่นอน !
แม้ว่าหุ้นบริษัท สหประกันชีวิตฯ จะถูกดีเอสไอสอบอยู่ก็ตาม แต่ รศ.ดร.สวัสดิ์ เชื่อมั่นว่า กรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการฝากเงินแต่อย่างใด ?
(อ่านประกอบ : มั่นใจได้คืนแน่! ปธ.สหกรณ์จุฬาฯไม่หวั่นคืนเป็นหุ้นเอกชนถูกดีเอสไอสอบฟอกเงิน)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลบริษัท สหประกันชีวิตฯ ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2554 ทุนจดทะเบียน 2 พันล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 411 อาคารยูทาวเวอร์ ถ.ศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กทม. ประกอบธุรกิจรับประกันชีวิต และการลงทุน ปรากฏชื่อ พล.ต.อ.นิพจน์ วีระสุนทร และนายสหพล สังข์เมฆ เป็นผู้มีอำนาจทำการ มี พล.ต.อ.นิพจน์ นายสหพล นายเผด็จ มุ่งธัญญา นายบรรเจิด พฤฒิกิตติ นายอานันต์ หินแก้ว เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
ข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุด เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2558 (หุ้นละ 10 บาท) มีหลายสหกรณ์เข้าไปปรากฏเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัท สหประกันชีวิตฯ
โดยมีชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ เข้าไปถือหุ้นด้วย 1 ล้านหุ้น มูลค่า 10 ล้านบาท ขณะที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี ถือ 19 ล้านหุ้น มูลค่า 190 ล้านบาท
บริษัท สหประกันชีวิตฯ แจ้งงบการเงินปีล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2557 มีรายได้ทั้งหมด 332,517,557 บาท (เป็นเบี้ยประกันภัยสุทธิประมาณ 291 ล้านบาท รายได้ค่าจ้างประมาณ 172 ล้านบาท รายได้จากการลงทุนประมาณ 40 ล้านบาท) มีรายจ่ายทั้งหมด 297,791,572 บาท กำไรสุทธิ 42,154,698 บาท
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์บริษัท สหประกันชีวิตฯ (www.sahalife.co.th) พบว่า เป็นบริษัทประกันชีวิตหนึ่งเดียวของขบวนการสหกรณ์ไทย ที่มีผู้ถือหุ้นเป็นสหกรณ์ประเภทต่างๆ ทั้ง 7 ประเภท คือ 1.สหกรณ์การเกษตร 2.สหกรณ์ประมง 3.สหกรณ์นิคม 4.สหกรณ์ร้านค้า 5.สหกรณ์บริการ 6.สหกรณ์ออมทรัพย์ และ 7.สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
สำหรับ คณะผู้เริ่มก่อตั้งบริษัท ประกอบด้วย
1.นายอวยผล กนกวิจิตร อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (ขณะนั้น)
2.นายอนันต์ ชำนาญกิจ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ (ขณะนั้น)
3.พลตำรวจโท เฉลิม โรจนประดิษฐ ประธานกรรมการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (ขณะนั้น)
4.นายเกษม ไม้เรียง ผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ขณะนั้น)
5.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา ผู้แทนชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ขณะนั้น ปัจจุบันเป็น ปธ.สหกรณ์จุฬาฯ)
6.นายจันทร์แก้ว เมืองใจ ผู้แทนชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด (ขณะนั้น)
7.นายสินธ์ กีรตยาคม ผู้แทนชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ขณะนั้น)
8.นางวรรณี รัตนวราหะ ผู้อำนวยการกองวิชาการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ (ขณะนั้น)
ทั้งนี้น่าสังเกตว่าในบรรดาสหกรณ์ที่เข้าไปถือหุ้นกับบริษัท สหประกันชีวิตฯ มีสหกรณ์จุฬาฯ ร่วมด้วยวงเงิน 10 ล้านบาท
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะทำให้ฝ่ายบริหารของสหกรณ์จุฬาฯ เชื่อมั่นและนำเงินไปฝากไว้กับสหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ ถึง 200 ล้านบาทในช่วงปี 2557 (รวมเงินต้น+ดอกเบี้ยประมาณ 215 ล้านบาท) ทว่ากลับไม่ ‘หวาน’ เหมือนที่ ‘ฝัน’ เอาไว้ เนื่องจากสหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ ไม่มีเงินมาคืนตามกำหนด ทำให้ต้องดำเนินการฟ้องศาล แต่ก็ยังเชื่อว่าจะสามารถได้เงินคืน เนื่องจากมีหุ้นอยู่ในบริษัท สหประกันชีวิตฯ ที่สหกรณ์จุฬาฯก็ร่วมถือหุ้นเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังสหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ขณะเดียวกันได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัท สหประกันชีวิตฯ เพื่อสัมภาษณ์กรรมการผู้มีอำนาจ หรือผู้บริหารที่สามารถตอบข้อเท็จจริงกรณีถูกดีเอสไอสอบคดีฟอกเงิน แต่เจ้าหน้าที่บริษัทดังกล่าวยืนยันว่า ต้องทำหนังสือมาให้ผู้บริหารพิจารณาก่อนว่าจะสามารถให้สัมภาษณ์ได้หรือไม่
ท้ายสุดจะได้เงินคืนเต็มเม็ดเต็มหน่วย และคุ้มค่า ตามที่สมาชิกสหกรณ์จุฬาฯบางกลุ่มตั้งคำถามหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ :
ขีดเส้น 7 วันแจงปมปล่อยกู้คลองจั่น! ประชุมสหกรณ์จุฬาฯเดือดวอล์คเอ้าท์เพียบ
เจาะเงื่อนปมสหกรณ์จุฬาฯปล่อยกู้สหกรณ์คลองจั่น 1.4 พันล.ชงดีเอสไอสอบ