"โปรตุเกสโมเดล" สายกลางแก้ยาบ้า ไม่ทำให้ถูกกฎหมาย-ไม่ใช่ขายเสรี
พลันที่รัฐมนตรียุติธรรมเปิดประเด็นเกี่ยวกับ "แนวทางใหม่" ในการจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยเฉพาะ "ยาบ้า" ก็ทำให้เกิดกระแสคัดค้านขึ้นมาทันที
นั่นเพราะความเชื่อในทฤษฎีแก้ไขปัญหาที่มี 2 แนวคิดซึ่งสวนทางกันเกือบจะสิ้นเชิง ทว่าก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันทั่วโลก นั่นก็คือ...
แนวทางที่ 1 ทำให้ถูกกฎหมาย หรือ legalize เพื่อทำให้ราคาถูก ทำลายวงจรการค้าและผลประโยชน์ก้อนโต
แนวทางที่ 2 ปราบปราม ด้วยการกวาดล้าง จับกุม กำหนดโทษทางอาญาสูงๆ และใช้มาตรการคุมขังเป็นสำคัญ
ที่ผ่านมาราว 20 ปีประเทศไทยใช้แนวทางที่ 2 มาโดยตลอด ด้วยการยกระดับ “ยาม้า” หรือเมทแอมเฟตามีน เป็น “ยาบ้า” แล้วนำไปบรรจุในกฎหมายยาเสพติด เป็นยาเสพติดให้โทษร้ายแรงประเภท 1
แต่เมื่อยิ่งควบคุมมาก โทษสูงมาก ส่งผลให้ราคายิ่งแพง ในขณะที่การผลิตทำได้ง่าย เพราะเป็นสารเสพติดที่ผลิตจากสารเคมี ไม่ต้องพึ่งพาหรือใช้พืชเป็นฐานเหมือนฝิ่น เฮโรอีน และยังมีตลาดขนาดใหญ่รองรับ ทำให้มีคนก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
คิดง่ายๆ สมมติราคาต้นทุนของยาบ้าอยู่ที่เม็ดละ 2 บาท ขายจริงเม็ดละ 100 บาท ฉะนั้นถ้าผลิต 100 เม็ด ขายได้แค่ 2 เม็ดก็เท่าทุนแล้ว ศักยภาพทางเศรษฐกิจจึงเรียกว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
เหตุนี้เองจึงทำให้มีผู้เสนอทำยาบ้าให้ถูกกฎหมาย เพื่อตัดวงจรการซื้อขาย เพราะราคายาจะถูกลงทันที
แต่แนวคิดนี้ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากฝ่ายปราบปราม จนเป็นแนวคิดที่สวนทางกัน และยากที่จะหาจุดลงตัว
ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ ทีไอเจ ในฐานะอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เสนอแนวทางที่เป็น “ทางสายกลาง” ซึ่งอาจเป็นทางออกของปัญหานี้
“ทิศทางของโลกวันนี้ ชัดเจนว่าใช้การปราบอย่างเดียวไม่ค่อยได้ผล จึงลดโทนลงมา และมีระบบเบี่ยงคดีออกมาจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ประเทศไทยเราจริงๆ ก็มีทิศทางแบบนี้ แยกผู้เสพออกมา แล้วให้ได้รับการปฏิบัติพิเศษ แต่เราลังเล ลักลั่น ทำให้คนเสพมีเพิ่มมากขึ้น”
“วิธีของเราคือระบบบังคับบำบัด ซึ่งมีปัญหา เพราะเราแยกไม่ขาดจากโทษอาญา ทำให้ไม่มีใครกล้าเผยตัวว่าเป็นผู้เสพ เนื่องจากจะมีตราบาป ทำให้ไม่ค่อยได้ผล”
ดร.กิตติพงษ์ อธิบายต่อว่า แนวคิดให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วยในต่างประเทศ เริ่มมาพร้อมๆ กับประเทศไทย ราวๆ ปี 2544 ช่วงนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมคุมประพฤติ ได้พยายามนำแนวคิดนี้มาใช้ เพราะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่เวลานำมาใช้จริงสำหรับประเทศไทยกลับพบปัญหา
“บ้านเราไม่กล้าลดระดับการลงโทษทางอาญากับผู้เสพลง แต่ไปใช้ระบบที่เรียกว่าบังคับบำบัด คือจับตัวมาแล้วให้บำบัด ถ้าบำบัดได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็จะสั่งไม่ฟ้องคดี แต่ถ้าไม่ทำตามกฎเกณฑ์ ก็จะส่งตัวไปดำเนินคดีอาญา ถูกควบคุมตัว กลายเป็นปัญหาตามที่บอกไปแล้ว”
“ปีเดียวกันนั้น โปรตุเกสใช้มาตรการที่ไม่ใช้โทษทางอาญา หรือที่เรียกว่า decriminalize โดยใช้มาตรการทางปกครองแทน กำหนดให้ผู้ที่มียาในครอบครองในปริมาณไม่เกิน 10 วันของการเสพตามค่าเฉลี่ย ถือว่าเป็นผู้เสพ จะไม่ใช้มาตรการทางอาญา แต่ใช้มาตรการทางปกครอง”
“วิธีการคือมีคณะกรรมการฝ่ายกฎหมาย ร่วมกับฝ่ายสาธารณสุข และสังคมสงเคราะห์ เข้ามากำหนดว่าต้องบำบัดอย่างไร ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ใช้กลไกการปรับ เป็นกลไกทางปกครอง ไม่ใช้โทษทางอาญาเลย”
ดร.กิตติพงษ์ บอกว่า ในประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษเรื่องยาเสพติด หรือ UNGASS ปี 2016 ปรากฏว่าโปรตุเกสกลายเป็นพระเอกในการประชุมหนนี้ เพราะได้มารายงานว่า 15 ปีให้หลังของการดำเนินมาตรการ ผู้เสพยาลดลงมาก โดยเฉพาะวัยรุ่น
“ถ้าเห็นว่าปัญหาของการบังคับบำบัดที่ทำอยู่ไม่สามารถหยุดยั้งการเสพยาได้ ซัพพลายไม่ลด ดีมานด์ก็ไม่ลด กระบวนการที่เอาแอมเฟตามีนมาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ใช้โทษทางอาญาสูงๆ ก็ทำให้คุกแตก เกิดปัญหานักโทษล้น งบประมาณราชทัณฑ์พุ่งเกินกว่า 50% ของงบกระทรวงยุติธรรม”
“ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จำเป็นต้องมีวิธีคิดใหม่ ศึกษาวิธีการของโปรตุเกส แล้วนำไปสู่การกล้าตัดสินใจ ผมคิดว่าโมเดลนี้เป็นทางออกกลางๆ โดยทำให้ชัดเจนว่าผู้เสพไม่ใช่อาชญากร ใช้กลไกทางปกครอง โน้มน้าวสู่ระบบสมัครใจบำบัด การกลับคืนสู่สังคมก็ดีขึ้น เพราะไม่มี ‘ตราบาป’ หรือ stigmatization จากการถูกลงโทษทางอาญา สามารถหางานทำและเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้โดยไม่ถูกรังเกียจจากสังคม”
ดร.กิตติพงษ์ กล่าวด้วยว่า โมเดลของโปรตุเกสไม่ได้ทำให้ยาบ้า หรือแอมเฟตามีนถูกกฎหมายอย่างที่หลายฝ่ายกังวล การครอบครองยังคงเป็นความผิดตามกฎหมายอยู่ เพียงแต่ใช้มาตรการทางปกครองแทน ไม่ใช้โทษอาญา ส่วนผู้ค้าก็ต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดตามกฎหมาย
ส่วนการทำให้ยาบ้าถูกกฎหมายตามที่บางฝ่ายเสนอนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะการแพร่ระเบิดมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะไทยหรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่แพร่ไปหมดในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกด้วย
“จริงๆ ปัญหาการแพร่ระบาดของยาจำพวกสารกระตุ้นกลุ่มแอมเฟตามีน (Amphetamine-type stimulants หรือ ATF) กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นยาซึ่งสังเคราะห์มาจากสารเคมี ต่างจากยาเสพติดประเภทเฮโรอีนหรือฝิ่นที่การผลิตขึ้นกับพืชเป็นหลัก ฉะนั้นยาพวกนี้จึงผลิตได้ง่ายกว่า ราคาถูกกว่า การจะทำให้ถูกกฎหมายจึงอาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง”
ดร.กิตติพงษ์ บอกด้วยว่า ถึงที่สุดแล้วกระบวนการบำบัดแบบสมัครใจควรได้รับการยอมรับมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนามาตรการการช่วยเหลือต่อเนื่อง คือมาตรการที่ชุมชนต้องเข้ามาเกี่ยวข้องดูแลผู้เสพยา ที่เรียกว่า after care ไม่ให้มีรอยต่อกับรัฐ คือหลังจากบำบัดผู้เสพในระบบของรัฐแล้ว สามารถส่งกลับชุมชนต่อได้ แต่ขณะนี้ยังขาดช่วงกันอยู่
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กราฟฟิกแสดงการแพร่ระบาดของสารเสพติดกลุ่ม ATS จากรายงานของสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นโอดีซี
2 กราฟฟิกแสดงปริมาณยาบ้าของกลางที่จับกุมได้ในประเทศไทย
3 สถิติผู้ต้องขังคดียาเสพติดในเรือนจำที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว