นัดพิพากษา‘หมอเลี๊ยบ-พวก’ 25 ส.ค. คดีแปลงสัญญาดาวเทียมเอื้อ‘ชิน คอร์ปฯ’
‘หมอเลี๊ยบ-พวก’ รอลุ้น! ศาลฎีกาฯ นัดพิพากษา 25 ส.ค. 59 คดีแปลงสัญญาดาวเทียมเอื้อกลุ่ม ‘ชิน คอร์ปฯ’ หลังไต่สวนพยาน 2 ปากสุดท้ายเสร็จสิ้น ‘ไกรสร’ อดีตปลัดไอซีที ไร้ข้อสงสัยทำไมเลขาฯ ครม. บอกไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตอบไม่ได้ ปมไม่ปล่อยให้กลุ่มชินฯระดมทุนกันเอง ชี้ถ้าไม่ทำรัฐสูญเสียหนัก ถึงขั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ใช้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดไต่สวนพยาน 2 ปากสุดท้าย ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี (หมอเลี๊ยบ) อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที สมัยรัฐบาลนายทักษิณ และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีต ผอ.สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีทียุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
กรณีที่มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51%เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์
สำหรับพยาน 2 ปากสุดท้ายคือ นายไกรสร และนายไชยยันต์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2-3 โดยทนายฝ่ายโจทก์ได้ซักนายไกรสรในประเด็นเกี่ยวกับการส่งผลการพิจารณาเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ขณะนั้น) ระบุว่า ไม่เข้าตามหลักเกณฑ์การนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทำไมถึงไม่มีเหตุสงสัยว่า ไม่เข้าในหลักเกณฑ์อะไร
นายไกรสร ระบุทำนองว่า ข้อเท็จจริงตามเอกสารชัดแจ้งแล้ว จึงไม่สงสัยอะไรอีก แต่เชื่อได้ว่าสาเหตุที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์การนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี
โดยประเด็นนี้ศาลฯได้ซักหลายครั้งในประเด็นดังกล่าวทำนองว่า ในฐานะปลัดไอซีทีทำไมไม่เฉลียวใจว่า สาเหตุที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่เข้าตามหลักเกณฑ์การนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีคืออะไร ซึ่งนายไกรสร ระบุเหมือนเดิมทำนองว่า ข้อเท็จจริงตามเอกสารเป็นที่ชัดแจ้งแล้ว
ทั้งนี้ศาลฯซักประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว ที่นายไกรสร ยืนยันว่า รัฐและประชาชน ได้ประโยชน์ เป็นอย่างไร มีการบันทึกข้อความไว้หรือไม่
นายไกรสร ระบุทำนองว่า กรณีนี้ไม่มีการบันทึกไว้ แต่เป็นการวิเคราะห์ โดยรัฐจะได้ประโยชน์จากการที่ได้ดาวเทียมดวงใหญ่ขึ้น ประชาชนมีอินเทอร์เน็ตใช้มากขึ้น และกระจายไปตามต่างจังหวัดที่ต่อสายไม่ได้ และมีราคาถูกลง ซึ่งก็ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างในปัจจุบัน
ศาลฯซักอีกว่า ถ้าอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวแล้วรัฐกับประชาชนได้ประโยชน์ แต่ถ้าไม่อนุมัติแล้วรัฐกับประชาชนจะเสียผลประโยชน์หรือไม่ นายไกรสร ระบุทำนองว่า ไม่ได้วิเคราะห์ในส่วนนี้ วิเคราะห์เพียงด้านบวกที่รัฐและประชาชนได้ประโยชน์
ศาลฯซักประเด็นการส่งหนังสือให้อัยการสูงสุด (มีนายชัยเกษม นิติศิริ เป็น อสส. และมีนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ เป็นที่ปรึกษา) พิจารณาการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว อสส. ระบุเพียงว่า “เป็นดุลยพินิจของกระทรวงไอซีทีในการพิจารณา” ซึ่งตรงนี้ได้เฉลียวใจหรือไม่ว่า อสส. ยังตอบไม่ชัดเจน เพราะถ้าตอบชัดก็จะไม่เกิดคดีนี้ขึ้น นอกจากนี้จากการสืบพยานพบว่า ในการพิจารณาของ อสส. นายจุลสิงห์มีความเห็นว่า “เห็นด้วย” แต่นายชัยเกษม แก้ไขข้อความเป็น “เป็นดุลยพินิจ” หมายความว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติก็ได้ ดังนั้นหากไม่อนุมัติรัฐจะเสียหายหรือไม่ ประการใด
นายไกรสร ระบุทำนองว่า ถ้าไม่มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว บริษัท ชิน แซทฯ ก็ไม่อยากจะลงทุน ดาวเทียมก็จะได้ราคาแพงประมาณ 4 พันล้านบาท แต่ดวงเล็ก ค่าตอบแทนก็ได้น้อยลง รวมถึงอาจไม่มีบรอดแบรนด์อินเทอร์เน็ตใช้ ตรงนี้คือสิ่งที่รัฐอาจสูญเสียไป
ศาลฯซักประเด็นทำไมไม่ให้บริษัท ชิน คอร์ปฯ ที่ถือหุ้นบริษัท ชิน แซทฯ ร่วมกันระดมทุนกันเอง เพราะตามข้อเท็จจริงคือบริษัท ชิน แซทฯ ระดมทุนได้แล้วประมาณ 208 ล้านหุ้น แต่บริษัท ชิน คอร์ปฯ ซึ่งเป็นบริษัทแม่น่าจะระดมทุนได้มากกว่านี้อีก จะได้ไม่ต้องแก้ไขสัญญา และจะทำให้ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
นายไกรสร ระบุทำนองว่า การระดมทุนอาจมีปัญหาขึ้นได้ เนื่องจากผู้ให้กู้เงินกับบริษัท 2 แห่งอาจไม่มีความมั่นใจ ส่วนการระดมทุนมีขีดความสามารถทำได้ถึงขนาดนั้นหรือไม่ ตรงนี้ไม่ทราบ
ศาลฯซักอีกทำนองว่า หมายความว่า ถ้าไม่แก้ไขสัญญาสัมปทาน ก็ยังไม่ทราบว่าบริษัท ชิน คอร์ปฯ และบริษัท ชิน แซทฯ จะระดมทุนได้ใช่หรือไม่ และบริษัท ชิน คอร์ปฯ กับบริษัท ชิน แซทฯ ได้มีหนังสือถึงกระทรวงไอซีทีเล่าถึงปัญหานี้หรือไม่
นายไกรสร ระบุทำนองว่า บริษัททั้ง 2 แห่ง ไม่ได้มีหนังสือเล่าถึงปัญหานี้ ทั้งนี้เรื่องการลงทุนของบริษัทตนไม่ทราบในรายละเอียด
ศาลฯซักอีกว่า ในการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว ทราบหรือไม่ว่าคู่สัญญาเดิมของรัฐคือนายทักษิณ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในการส่งเรื่องให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ปรากฏชื่อของนายทักษิณอีกเช่นกัน แต่คนละตำแหน่ง ในฐานะอดีตข้าราชการระดับสูงคิดว่าตรงนี้จะมีประเด็นปัญหาหรือไม่
นายไกรสร ระบุทำนองว่า ประเด็นนี้ไม่ทราบในรายละเอียด เป็นหน้าที่ของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่กลั่นกรองเรื่องก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และเลขาธิกาคณะรัฐมนตรีไม่ได้บอกรายละเอียดในส่วนนี้
ศาลฯซักในประเด็นที่ว่า รมว.ไอซีที (นพ.สุรพงษ์) อาศัยอำนาจตามกฎหมายอะไร ถึงพิจารณาอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวได้เอง โดยไม่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี มีการสอบถามนิติกร หรือนักกฏหมายประจำกระทรวงหรือไม่ นายไกรสร ระบุทำนองว่า ก่อนหน้านี้ รมว.คมนาคม เคยกระทำการในลักษณะนี้เช่นกัน และสามารถทำได้ ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นอำนาจของ รมว.ไอซีที
ทั้งนี้ ศาลฯได้นัดให้โจทก์และจำเลยส่งรายงานการปิดคดีต่อศาลฯภายในวันที่ 18 ส.ค. 2559 และนัดพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค. 2559 เวลา 10.30 น.
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นพ.สุรพงษ์ จาก tnamcot