'อังคณา' เรียกร้องพม่า ร่วมแก้ปัญหาผู้อพยพย้ายถิ่นชาวโรฮิงญา
เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ เรียกร้อง ออง ซาน ซูจี ให้ทบทวน พ.ร.บ. ความเป็นพลเมือง (สัญชาติ) ค.ศ. 1982 เพื่อยุติการไร้รัฐ ไร้สัญชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญา และให้รัฐบาลพม่าไฟเขียว ให้หน่วยงานระหว่างประเทศเข้าช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่
วันที่ 23 มิถุนายน 2559 เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) และ Asylum Access Thailand (AAT) แถลงข่าวเรียกร้องถึงข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาผู้อพยพย้ายถิ่นชาวโรฮิงญาจากพม่า ต่อ นางออง ซาน ซูจี ประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรัฐมนตรีต่างประเทศประเทศพม่า ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยในวันที่ 23-25 มิถุนายน 2559 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย
เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) ที่ประกอบด้วยสถาบันวิชาการ องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรศาสนาในประเทศไทย นำโดย คุณศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัย และคนไร้รัฐ,นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และนาย Haji Ismail เลขาธิการ กลุ่มโรฮิงยาในประเทศไทย ร่วมกันอ่านประกาศข้อเรียกร้อง ดังนี้
1.ให้ทบทวน พ.ร.บ. ความเป็นพลเมือง (สัญชาติ) ค.ศ. 1982 เพื่อยุติการไร้รัฐ ไร้สัญชาติของกลุ่มชาติพันธ์ชาวโรฮิงญา รวมถึงให้คืนสถานะสัญชาติให้กับชาวโรฮิงญาที่เคยมีสัญชาติพม่ามาก่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ความเป็นพลเมืองฉบับดังกล่าว
2.ให้รัฐบาลพม่าอนุญาตให้หน่วยงานระหว่างประเทศเข้าถึงและดำเนินกิจกรรมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชาวโรฮิงญาในรัฐยะใข่ ที่ไม่เข้าถึงการบริการและความช่วยเหลือ
3.ให้ยุติการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยในรัฐต่างในประเทศพม่า โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา ในรัฐยะใข่ และให้พิจารณารับรองสนธิสัญญาที่รับรองสิทธิมนุษชน เช่น CERD และปฏิญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของบุคคลไร้รัฐและปฏิญญาในการลดจำนวนคนไร้รัฐในประเทศ
4.ให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับประเทศที่เกี่ยวข้อง และองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งกระบวนการบาหลี (Bali Process) ในการแก้ไขปัญหาผู้อพยพลี้ภัยและผู้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จากประเทศพม่าที่ รวมถึงชาวโรฮิงญา และให้หลักประกันในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
5.ให้รัฐบาลพม่าตั้งคณะทำงานร่วมกับประเทศที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและพิสูจน์สัญชาติในกระบวนการส่งกลับโดยสมัครใจของผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-พม่าโดยการมีส่วนร่วมจากประชาสังคม
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่เรียกร้องถือเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การให้สัญชาติ หรือการขอให้เรียกผู้อพยพไม่ปกติในอ่าวเบงกอลว่า “ชาวโรฮิงญา” เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น และคิดว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวจะไม่กระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
“การแก้ปัญหาโรฮิงญาเป็นเรื่องของอาเซียนที่จะต้องร่วมมือกัน เพราะไทยเป็นเพียงทางผ่าน แต่ประเทศต้นทางอย่างพม่าต้องเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยมีทุกๆประเทศในอาเซียนเข้ามาร่วมด้วย เพราะถ้าพม่าไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาว่าเป็นประชากรพม่า รวมถึงการเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ที่ควรจะได้ เช่น การทำงาน การศึกษา หรือคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม วิถีชีวิตของโรฮิงญาก็ไม่พ้นจากการออกนอกประเทศ กลายเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ หรือถูกควบคุม กักขัง วนเวียนอย่างไม่จบสิ้น”
พร้อมกันนี้นางอังคนา ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยว่า หลังจากที่พบศพชาวโรฮิงญา 30 กว่าศพ ไทยก็เป็นเจ้าภาพในการหารือเพื่อแก้ปัญหาโรฮิงญา แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
“ถ้าไม่ยอมรับปัญหา ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากประเทศต้นทางไม่เข้ามาแก้ปัญหาจะเป็นการสร้างภาระให้ประเทศไทยรวมถึงประเทศที่สาม ในเรื่องการผลักดันชาวโรฮิงญากลับประเทศ จะมีอนุสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศภาคีที่ห้ามมีการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย แต่กฎหมายของประเทศเพื่อนบ้านได้บัญญัติไว้ถึงบุคคลที่ออกนอกประเทศผิดกฎหมาย หากกลับไปแล้วต้องรับโทษ ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่ทำให้ชาวโรฮิงญากลับประเทศไม่ได้”
ขณะที่ นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทซ์ กล่าวถึงความกังวลว่า ภายใต้รัฐบาล คสช. ประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ถูกจำกัดการแสดงออกแค่ในไทยเท่านั้นแต่การพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่สามารถทำได้ ทำให้ไทยซึ่งเคยเป็นฐานในการผลักดันการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนของภูมิภาคอาเซียนถูกลดบทบาทลง ขณะนี้ไทยไม่สามารถผลักดันให้มีการพูดและการนำเสนอปัญหาสิทธิมนุษยชนในอาเซียนให้เกิดขึ้นได้
นายสุณัย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่อ้างว่าถ้าเปิดให้มีการคุยกันอย่างเสรีเกี่ยวข้องกับปัญหาสถานการณ์โรฮิงญาจะกระทบต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่การไม่พูดถึงต่างหากที่จะเป็นปัญหาต่อความมั่นคง ไม่ใช่ต่อไทยหรือพม่า แต่ทั้งภูมิภาคอาเซียนปัญหาของผู้อพยพชาวโรฮิงญามันถูกซุกไว้ใต้พรมต่อไป
“ในวันที่28 มิถุนายน 2559 นี้ จะมีการลงมติในที่ประชุมของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ถึงเรื่องที่ไทยจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะมนตรีความมั่นคงหรือไม่ ถ้าการที่ไทยแสดงออกต่อกรณีโรฮิงญารวมทั้งการมีวิสัยทัศน์ต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างจริงจัง ชัดเจน ก็มีความเป็นไปได้ที่สหประชาชาติจะเลือกไทยเข้ามาดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้ ไทยได้ทุ่มเทงบประมาณอย่างมหาศาลในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าไทยควรจะได้ตำแหน่งนี้โดยมีประเด็นหนึ่งในการโฆษณาคือการเป็นที่ไทยเป็นหัวหอกในการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่แล้วในทางการปฏิบัติกลับตรงกันข้ามกับโฆษณา”ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทซ์ กล่าวปิดท้าย