ผลวิจัยทีดีอาร์ไอชี้ ‘รถตู้ระหว่างจังหวัด’ อันตรายสุด ขับเร็ว ไม่มีเข็มขัดนิรภัย
ทีดีอาร์ไอเผยผลสำรวจความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ ยังไม่ได้มาตรฐาน รถตู้ระหว่างจังหวัดอันตรายสูงสุด เหตุขับเร็ว ไม่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ‘ดร.สุเมธ องกิตติกุล’ แนะเร่งติด GPS เข้มงวดคันผิด กม. แนะปรับโครงสร้างระบบเดินรถ-ปรับปรุงจุดจอดใน กทม.
วันที่ 22 มิถุนายน 2559 มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดประชุมเสนอผลงานวิจัย เรื่อง คุณภาพมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ ณ ห้องอินทนิน โรงแรมสวิส โซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ
น.ส.ณัชชา โอเจริญ นักวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยถึงข้อค้นพบบางช่วงบางตอน เกี่ยวกับความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ พบว่ายังไม่ได้มาตรฐาน แต่หลายคนไม่มีทางเลือกจึงต้องยอมรับสภาพ
ทั้งนี้ สถิติอุบัติเหตุรถโดยสาร ปี 2558 ระบุมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุต่อรถจดทะเบียน 1 หมื่นคัน จากรถบัส 2 ชั้น มากที่สุด 85.7 คัน รองลงมา รถตู้ 29.6 คัน และรถบัส 1 ชั้น 15.4 คัน
ขณะนี้อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยต่อรถจดทะเบียน 1 หมื่นคัน จากรถบัส 2 ชั้นมากที่สุด 47.8 คัน รองลงมา รถตู้ 16.1 คัน และรถบัส 1 ชั้น 8.5 คัน
นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้โดยสารกว่า 1 พันคน มีความพึงพอใจภาพรวมและความปลอดภัยของรถเมล์ระหว่างจังหวัดสูงสุด เนื่องจากไม่ใช้ความเร็วเกินกำหนด และมีอุปกรณ์ความปลอดภัย
ขณะที่รถตู้ระหว่างจังหวัดกลับเป็นรถโดยสารสาธารณะที่สร้างความกังวลถึงความปลอดภัยมากที่สุด เนื่องจากรถขาดอุปกรณ์ความปลอดภัย พฤติกรรมผู้ขับขี่ รถผิดกฎหมาย แต่ผู้โดยสารหลายคนยังเลือกใช้บริการ
“กว่าร้อยละ 10 ของรถเมล์ระหว่างจังหวัดและรถตู้ ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยไม่ครบถ้วน และมีผู้โดยสารจำนวนหนึ่งไม่สังเกตว่ารถโดยสารติดตั้งไว้” น.ส.ณัชชา กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่ผู้โดยสารไม่นิยมคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะรู้สึกอึดอัด คิดว่าใกล้ ๆ และอาย
นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ ระบุด้วยว่า ผู้โดยสารรถเมล์ในกรุงเทพฯ และรถตู้ระหว่างจังหวัด และกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 20 เห็นว่า ปัจจุบันพนักงานขับรถมีพฤติกรรมขับเร็วเกินไป และไม่พอใจกับมารยาทการให้บริการของผู้ขับ อีกทั้งผู้โดยสารรถตู้ระหว่างจังหวัด ร้อยละ 7 และรถตู้ภายในกรุงเทพฯ ร้อยละ 12 บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
“ผู้โดยสารจำนวนมากยังใช้บริการรถตู้โดยสารประจำทางผิดกฎหมาย หรือบางส่วนทราบ แต่ยังใช้บริการอยู่” น.ส.ณัชชา กล่าว และว่า ผู้ใช้บริการรถตู้ป้ายทะเบียนเหลือง (ถูกกฎหมาย) ร้อยละ 67 ป้ายทะเบียนขาว (ผิดกฎหมาย) ร้อยละ 8 และที่ไม่ทราบอีก ร้อยละ 25
ทั้งนี้ ไม่เฉพาะความปลอดภัยของรถตู้ผิดกฎหมายไม่ได้มาตรฐานแล้ว นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ค่าโดยสารเฉลี่ยของรถตู้ผิดกฎหมายเหล่านี้ยังสูงกว่ารถตู้ถูกกฎหมายถึงร้อยละ 18 หน่วยงานภาครัฐจึงควรเข้มงวดกับรถตู้ผิดกฎหมายมากขึ้น นอกจากนี้ต้องสร้างระบบกำกับดูแลความเสี่ยงของคนขับ เช่น กำหนดให้ทุกคันติด GPS
ส่วนผู้ประกอบการต้องจัดหลักสูตรอบรมพนักงานขับขี่ปลอดภัย มีมารยาท ให้เวลาพักอย่างน้อย 30 นาที หลังจากขับรถติดกัน 4 ชม. หรือเปลี่ยนคนขับ ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง พร้อมอุปกรณ์ฉุกเฉินอื่น อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บริการจะต้องให้ความร่วมมือคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งด้วย
ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมารัฐผลักดันมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะต่อเนื่อง แต่ยังจำเป็นต้องเฝ้าติดตามต่อไป โดยเฉพาะการรณรงค์คาดเข็มขัดนิรภัย และโครงสร้างความแข็งแรงของรถ เนื่องจากผู้ใช้บริการไม่มั่นใจ ดังเช่น รถเมล์ในกรุงเทพฯ ที่มีสภาพเก่าทรุดโทรม
นอกจากนี้พฤติกรรมของพนักงานขับขี่ก็มีความสำคัญ บางรายมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม จะได้รับการลงโทษตามระเบียบปฏิบัติ แต่ปัญหาคงไม่เกิดขึ้นครั้งเดียว และการแก้ไขไม่ง่าย และเห็นว่า กรณีขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด รัฐต้องจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จติดตั้ง GPS ในรถ บขส. ควบคุมได้ระดับหนึ่ง เเต่จะให้ดีควรขยายไปยังรถร่วมบริการและรถโดยสารสาธารณะประเภทอื่นด้วย
สำหรับกรณีกระทรวงคมนาคม (คค.)มีแผนจะปฏิรูปโครงสร้างระบบเดินรถ ขสมก. ดร.สุเมธ กล่าวเห็นด้วย แต่ต้องตอบโจทย์แก้ไขปัญหาการให้บริการ และการทับซ้อนของเส้นทาง เพราะการมีรถให้บริการให้เส้นทางใดเส้นทางหนึ่งมากเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ลดลง จึงต้องแข่งขันมากขึ้น ดังเช่น รถเมล์สาย 8
รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับป้ายรถโดยสารประจำทาง ซึ่งในกรุงเทพฯ พบไม่มีใครรับผิดชอบ หรือรับผิดชอบ แต่กลับไม่ใช่ภารกิจหลัก เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด ทำให้ขาดการบำรุงรักษา อย่างไรก็ตาม รัฐลงทุนรถไฟฟ้าเขตกรุงเทพฯ หลายแสนล้านบาท แต่รถเมล์กลับไม่มีให้
"แนวคิดให้มีหน่วยงานใหม่ขึ้นมารับผิดชอบ จึงเป็นทางออก โดยต้องจัดสรรงบประมาณเหมาะสม เชื่อจะช่วยยกระดับการให้บริการในอนาคตได้" ดร.สุเมธ กล่าวทิ้งท้าย .