โวยทหารสกัดเสวนานักสิทธิ์ - "ปราโมทย์" แจงแค่ให้ ม.อ.ปัตตานี พิจารณา
ปัญหาการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ภายหลัง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง 3 คนในการจัดทำและเผยแพร่รายงานการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งภาครัฐมองว่าเป็นรายงานที่ไม่มีมูลความจริง
ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 21 มิ.ย.59 เครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ได้นัดหมายจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิ” ในเวลา 14.00 น. ที่ห้อง บี 310 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) แต่ปรากฏว่าในช่วงเช้า ทางแกนนำเครือข่ายฯผู้จัดงานได้รับการประสานจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยว่า ขอให้เลื่อนการจัดเสวนาออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ต่อมามีข่าวโดยอ้างการเปิดเผยของอาจารย์ในคณะวิทยาการสื่อสารว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ให้เหตุผลในการขอเลื่อนการเสวนา และขอให้เปลี่ยนชื่อหัวข้อใหม่ เพราะได้รับแรงกดดันอย่างมหาศาลจากนายทหารระดับสูงใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
จากนั้น ทางเครือข่ายฯ ได้ออกแถลงการณ์ขอเปลี่ยนสถานที่จัดการเสวนา และระบุว่ามี 2 ปัญหาสำคัญที่สะท้อนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ขณะนี้ คือการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาโดยไม่สนใจเสียงค้านของชาวบ้าน และการคุกคามแจ้งความดำเนินคดีนักสิทธิมนุษยชน 3 คนที่ร่วมกันจัดทำรายงานการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง
ย้ายจัดใต้ถุนอาคาร วสส.
ในที่สุด การเสวนายังคงมีขึ้นเช่นเดิม โดยย้ายสถานที่ไปจัดเวทีบริเวณใต้ถุนอาคารคณะวิทยาการสื่อสาร (วสส.) โดยมีกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าเทพา และกลุ่มสนับสนุนนักสิทธิมนุษยชน 3 คนที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี เข้าร่วมรับฟังประมาณ 100 คน
ส่วนบทเวทีมีการพูดคุยและบอกเล่าประสบการณ์การถูกคุกคาม การถูกละเมิดสิทธิ์ และบทบาทการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา โดยมี นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ซึ่งเป็น 2 ใน 3 นักสิทธิมนุษยชนที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี ร่วมเสวนาด้วย
"พรเพ็ญ"เตรียมตั้งศูนย์ร้องทุกข์
น.ส.พรเพ็ญ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) คนใหม่ กล่าวว่า อยากให้สังคมและหน่วยกำกับดูแลด้านกฎหมายเข้าใจปัญหาและอุปสรรคในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยอุปสรรคสำคัญในขณะนี้ คือเรื่องการถูกฟ้องคดี
“การละเมิดสิทธิของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมีมานานแล้ว เราก็มีวิธีปรับเปลี่ยนการทำงาน เปลี่ยนทักษะ และเปลี่ยนทัศนคติทั้งสองฝ่าย (ฝ่ายนักสิทธิ และเจ้าหน้าที่) เพราะเราต้องอยู่ร่วมกันตลอดไป ทุกคนมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือต้องการสันติสุข”
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้อยากทำงานด้านนี้มากขึ้น และคิดว่าในอนาคตจะลงมาตั้งศูนย์ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าจะช่วยเปิดพื้นที่ให้คนมาร้องเรียนมากขึ้น ก็ขอยืนยันว่าจะทำงานด้านนี้ต่อไป”
"อัญชนา"บอกแจ้งความเพื่อปิดปาก
น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า ถูกคุกคามมาโดยตลอด และถูกโจมตีผ่านเฟซบุ๊ค มีแทบทุกสัปดาห์ เมื่อกลุ่มด้วยใจสะท้อนเสียงประชาชนออกสู่สาธารณะ ก็จะมีเฟซบุ๊คโจมตีทันที บางช่วงก็มีเจ้าหน้าที่ไปที่บ้าน เคยถูกเชิญให้เข้าร่วมพูดคุย และสุดท้ายก็มาเจอเรื่องที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี
“เรื่องการแจ้งความเป็นรูปแบบใหม่ที่ทำให้รู้สึกว่า ไม่ใช่แค่เราที่เป็นผู้ที่ถูกให้หยุดส่งเสียงสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชน แต่การแจ้งความกับเราหมายความว่า ต้องการหยุดการส่งเสียงของเอ็นจีโอทุกคนทุกด้านที่ทำเพื่อพี่น้องประชาชน และที่สำคัญเป็นการหยุดเสียงประชาชนไม่ให้ร้องถึงการถูกละเมิดสิทธิ” น.ส.อัญชนา กล่าว
วันเดียวกัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ด้วย
กอ.รมน.แจงแค่ให้ ม.อ.พิจารณาเอง
ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ทางทหารไม่ได้สั่งห้ามจัดการเสวนา และทางแม่ทัพภาคที่ 4 ยังได้สั่งให้ตนไปร่วมงาน แต่ขณะเดียวกันก็ได้แจ้งกับทางมหาวิทยาลัยไปว่าให้พิจารณาอย่างรอบคอบด้วย เพราะเรื่องนี้ละเอียดอ่อน มีการแจ้งความดำเนินคดีกันอยู่ หากปล่อยให้ใช้สถานที่แล้วเกิดความเสียหาย ทางมหาวิทยาลัยจะรับผิดชอบไหวหรือไม่
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า ขอทำความเข้าใจว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับเอ็นจีโอ หรือคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน แต่เราแจ้งความดำเนินคดีกับคน 3 คนในฐานะส่วนตัว ฉะนั้นจึงไม่ใช่การมีปัญหาขัดแย้งกับเอ็นจีโอในภาพรวม นอกจากนั้นเป้าหมายของการแจ้งความ ก็ไม่ได้ต้องการให้คนเหล่านี้ถูกลงโทษ แต่เพื่อขออำนาจศาลให้ได้ข้อมูลของผู้ที่อ้างว่าถูกซ้อมทรมาน จะได้นำไปสู่การตรวจสอบและแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การเสวนาของเครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ย้ายมาจัดบริเวณใต้ถุนอาคารคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี