กรมการบินฯบริหารเหลวต้นตอไม่ผ่าน ICAO! สตง.ชี้ทำเสียรายได้ 475 ล.
สตง. สรุปผลการบริหารงานท่าอากาศยานภูมิภาคทั่วประเทศ ชี้กรมการบินบริหารเหลว ครุภัณฑ์ไม่พร้อม-อุปกรณ์ไร้มาตรฐาน ต้นตอไม่ผ่าน ICAO เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายปีละ 325-450 ล้าน เสียโอกาสรายได้ในการปล่อยเช่าพื้นที่ 475 ล้าน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลตรวจสอบการดำเนินงานการบริหารท่าอากาศยานภูมิภาค จำนวน 28 แห่ง ที่มีกรมการบินพลเรือน เป็นผู้ดำเนินการ พบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานจำนวน 3 ประเด็น ส่งผลกระทบต่อการบริหารเงินงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีต่ำกว่าเป้าหมายปีละประมาณ 325-450 ล้านบาท อีกทั้งเกิดความไม่คุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ครุภัณฑ์ตลอดจนเกิดค่าเสียโอกาสในการขาดรายได้จากการให้เช่าพื้นที่มูลค่าประมาณ 475 ล้านบาท นอกจากนี้จุดอ่อนของการบริหารจัดการเครื่องมืออุปกรณ์ของท่าอากาศยานภูมิภาคมีผลทําให้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนด ทั้งนี้ สตง. ได้รายงานปัญหาเกี่ยวกับความไม่พร้อมของครุภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของท่าอากาศยานที่ทำให้ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO ไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว
สำหรับประเด็นปัญหา 3 ประเด็น ได้แก่
หนึ่ง การลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคมีผลการดําเนินงานไม่เป็นไปตามแผนที่กําหนด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 469 ล้านบาท ปี 2553 398 ล้านบาท ปี 2554 866 ล้านบาท ปี 2555 619 ล้านบาท และปี 2556 893 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่า การเบิกจ่ายงบประมาณต่ํากว่าแผนค่อนข้างมากในทุกปีงบประมาณ และการดําเนินงานมีความล่าช้า โดยบางท่าอากาศยานต้องมีการยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงรายการ ซึ่งปัญหาสําคัญคือดําเนินการไม่ทันตามเวลาที่กําหนด ทําให้การบริหารงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศ และทําให้กรมการบินพลเรือนเสียโอกาสในการนําเงินไปพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ที่กําหนด
สอง การใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานภูมิภาคต่ำกว่าศักยภาพที่กำหนดไว้ โดยท่าอากาศยานภูมิภาคภายใต้การกํากับดูแลของกรมการบินพลเรือน จํานวน 28 แห่งมีเที่ยวบินพาณิชย์บินขึ้นลงประจํา 23 แห่ง ที่เหลืออีกจํานวน 5 แห่ง เป็นท่าอากาศยานที่ไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการ คือ ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์นครราชสีมา ตาก แม่สะเรียง และปัตตานี
หากพิจารณาผลการดําเนินงานในช่วงระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 – 2556 ของท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการ จํานวน 23 แห่ง พบว่า 16 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 69.57 ประสบปัญหาขาดทุนจากการดําเนินงานอย่างต่อเนื่องทุกปีปีละประมาณ 1.00 – 10.00 ล้านบาทต่อแห่ง รวมจํานวนเงินที่ขาดทุนเฉพาะท่าอากาศยานภูมิภาคที่มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการปีละประมาณ 85.00 –105.00 ล้านบาท โดยมีท่าอากาศยานเพียง 7 แห่งเท่านั้นที่มีกําไรจากการดําเนินงาน คือท่าอากาศยาน กระบี่สุราษฎร์ธานีอุดรธานีนครศรีธรรมราช อบลราชธาน ุ ีขอนแก่น และตรัง
จากการตรวจสอบผลการดําเนินงานของท่าอากาศยานภูมิภาคที่มีเที่ยวบินพาณิชย์เปิดให้บริการจํานวน 23 แห่ง พบว่า จํานวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่ใช้บริการในท่าอากาศยานภูมิภาคทุกแห่งต่ำกว่าศักยภาพที่กําหนด โดยเกี่ยวข้องกับปัจจัยสําคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการท่าอากาศยานของผู้โดยสาร ได้แก่ค่าโดยสาร จํานวนเที่ยวบิน ตารางการบิน ความเป็นเมืองสําคัญด้านการท่องเที่ยวหรือเป็นเมืองศูนย์กลางของภาค และระยะห่างระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดที่ตั้งท่าอากาศยานภูมิภาค
ทําให้ส่งผลกระทบที่สําคัญคือ 1.อาคารบริการและครุภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้ออกแบบสําหรับรองรับการให้บริการไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ให้เต็มศักยภาพที่กําหนด ในขณะที่ต้องจัดสรรงบประมาณสําหรับบุคลากร รวมถึงการบํารุงรักษาครุภัณฑ์ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม พร้อมใช้งานสําหรับบริการผู้โดยสาร จึงส่งผลต่อการดําเนินงานของท่าอากาศยานส่วนใหญ่ให้ประสบภาวะขาดทุนจากการดําเนินงานอย่างต่อเนื่องทุกปีและเป็นภาระต่อเงินงบประมาณแผ่นดินที่ต้องจัดสรรสําหรับการบริหารงานของท่าอากาศยาน
2.เกิดความไม่คุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณด้านการลงทุนพัฒนาของประเทศ และทําให้การบริหารเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ คิดเป็นมูลค่าที่ลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 18,919.64 ล้านบาท โดยเฉพาะท่าอากาศยานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ไม่สามารถให้บริการตามศักยภาพและวัตถุประสงค์รวมถึงท่าอากาศยานที่ไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการจํานวน 5 แห่ง คือท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ นครราชสีมา ตาก แม่สะเรียง และปัตตานีซึ่งจําเป็นต้องมีการดูแล บํารุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ซึ่งรัฐได้ใช้เงินลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานเหล่านี้ไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,052.31 ล้านบาท
สาม พื้นที่บางส่วนของอาคารผู้โดยสารและครุภัณฑ์บางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์และขาดการดูแลบำรุงรักษา จากการตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ของอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานภูมิภาค จํานวน 17 แห่ง พบว่า พื้นที่บางส่วนของอาคารที่พักผู้โดยสารและครุภัณฑ์บางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ครุภัณฑ์ที่ชํารุดส่วนใหญ่ไม่มีการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้โดยเร็ว ครุภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบํารุงรักษาตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่มีการจําหน่ายครุภัณฑ์บางรายการที่มีลักษณะเสื่อมสภาพ ล้าสมัย หรือไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมออกจากทะเบียนครุภัณฑ์ให้เป็นไปตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535
ซึ่งทําให้ 1.เกิดความไม่คุ้มค่าของเงินงบประมาณ มูลค่าของครุภัณฑ์บางรายการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ประมาณ 348.98 ล้านบาท และพื้นที่อาคารที่พักผู้โดยสารบางส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ทําให้ท่าอากาศยานเสียโอกาสที่จะมีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่คิดเป็นเงินประมาณ 126.93 ล้านบาท ในขณะที่พื้นที่ดังกล่าวต้องมีต้นทุนในการดูแลบํารุงรักษาทุกปีซึ่งท่าอากาศยานที่มีสภาพปัญหาดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นท่าอากาศยานที่ประสบภาวะขาดทุนจากการดําเนินงานอย่างต่อเนื่องทุกปี
2.ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานที่ ICAO กําหนด อาจไม่สามารถช่วยป้องกันหรือรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารที่มาใช้บริการได้เนื่องจากส่วนใหญ่มีปัญหาครุภัณฑ์ชํารุดโดยไม่ได้มีการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้โดยเร็ว อาทิยานพาหนะสําหรับการกู้ภัยและดับเพลิง เครื่องตรวจอาวุธและวัตถุอันตราย เป็นต้น
3.การใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์ซึ่งไม่ต่อเนื่อง ทําให้ประสิทธิภาพในการทํางานลดลง ซึ่งอาจไม่คงทนหรือมีอายุการใช้งานน้อยลง ทําให้ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมแพงกว่าปกติและหากต้องซ่อมแซมจําเป็นต้องใช้งบประมาณจํานวนมาก ซึ่งอาจไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะสามารถดําเนินการได้ทันทีและต้องรอการอนุมัติงบประมาณอีกเป็นเวลานาน ทําให้เสียโอกาสในการใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าวหรือไม่มีสําหรับรองรับการให้บริการได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ สตง. ยังมีข้อสังเกตถึงปัญหาความพร้อมทางด้านบุคลากรของเจ้าหน้าที่กู้ภัยและดับเพลิง โดยจากการตรวจสอบพบปัญหาเกี่ยวกับความพร้อมทางด้านการกู้ภัยและดับเพลิงของบุคลากรประจําท่าอากาศยานภูมิภาคจํานวน 17 แห่งที่สุ่มตรวจสอบ ทําให้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการกู้ภัยและดับเพลิงอากาศยานของ ICAO และอาจเกิดความเสี่ยงต่อการช่วยเหลือผู้โดยสารให้มีความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรืออากาศยานประสบอุบัติเหตุร้ายแรงด้วย