ไทยไม่เคยแล้งน้ำ แต่จัดการไม่ดี ดร.สุเมธ แนะทุกฝ่ายปรับแก้ประโยชน์ที่ดิน
ดร.สุเมธ ย้ำไทยไม่แล้งน้ำ แต่เก็บไม่เก่ง แนะเร่งแก้การใช้ประโยชน์ที่ดิน จัดการน้ำต้นทุน รองรับการเติบโตด้านอุตสาหกรรม
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว เอสซีจี มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงาน “Thailand Sustainable Water Management Forum 2016”
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สถานการณ์น้ำของประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยไม่เคยขาดน้ำ ปีหนึ่งประเทศไทยมีฝนตกปีละกว่า 7-8 แสนล้าน ลบ.ม. แต่สิ่งที่น่าพะวง คือความแปรปรวน โดยฌแพาะระยะหลัง เหตุการณืที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ แต่เดิมอัตราการแปรปรวนมีแค่ 9% แต่ปัจจุบันเพิ่มมาเป็น 24% เพราะฉะนั้นอัตราความเสี่ยงในการบริหารน้ำต้องเพิ่มขึ้น ความซับซ้อนก็ย่อมมากขึ้น เวลาพูดถึงน้ำแล้ว เราก็คิดถึงเขื่อน แม้ว่านักอนุรักษ์จะไม่ค่อยชอบ แต่อย่างไรก็ตาม ภาชนะในการกักเก็บก็จำเป็น
ดร.สุเมธ กล่าวถึงการศึกษาตัวเลขเทียบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกต่อปีเเล้ว พบว่า มีเพียงแค่ 5-7% เท่านั้นที่ถูกกักเก็บในเขื่อน สำหรับ ภัยแล้ง ในปี 2558 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าปริมาณฝนน้อยลง และส่วนใหญ่มีเหตุการณ์ฝนตกท้ายเขื่อน ไหลเป็นน้ำผิวดิน 2.1 แสนล้าน ลบ.ม. ต่อปี
"สิ่งที่เราศึกษาพบว่า โครงสร้างของน้ำไม่ยืดหยุ่นเพียงพอในการรับมือปริมาณน้ำฝน ในสถานที่กักเก็บ เรามีที่กักเก็บน้ำ 7 หมื่นล้าน ลบ.ม. ต่อปี แต่น้ำไหลลงเพียง 4.2 หมื่นล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมี 1 แสน ลบ.ม. ตัวเลขแค่นี้เราพอมองเห็นเเล้วว่า ไม่สมดุลกัน"
ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ กล่าวอีกว่า วันนี้เราต้องปรับแก้การใช้ประโยชน์ที่ดิน จัดการน้ำต้นทุนที่ไหลลงมา ให้เกิดประสิทธิภาพให้ได้ โดยเฉพาะมองไปในปี 2567 คาดว่ามีประชากรเพียง 67 ล้านคน แต่ถึงแม้คนไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กิจกรรมต่างๆ มีการขยายตัวมากขึ้น ในเกษตรกรรมคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 31% ตัวเลขที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ การขยายตัวของอุตสาหกรรม ซึ่งประมาณว่าความต้องการของอุตสาหกรรม ได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 97%
ดร.สุเมธ กล่าวด้วยว่า การสร้างความสมดุลของทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “น้ำคือชีวิต” และการบริหารจัดการน้ำ “จากภูผาสู่นที” คือต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำที่เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องของการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การพัฒนารูปแบบป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การจัดการน้ำแล้งและน้ำหลากนอกเขตชลประทาน และอีกหลายแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงทำเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นต้นแบบสู่การนำไปใช้ในชุมชนได้จนประสบความสำเร็จ
“วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้ร่วมกันออกแบบและนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องไปใช้อย่างจริงจัง สร้างสมดุลระหว่างน้ำต้นทุนและการใช้น้ำให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เพื่อตัวเรา ประเทศของเรา และลูกหลานของเราในอนาคต” ดร.สุเมธ กล่าว