ประธานศาลปกครองฯ : พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯขัดรัฐธรรมนูญ?
นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ให้สัมภาษณ์พิเศษกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเนื่องในวาระขึ้นปีใหม่ โดยช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ได้วิพากษ์ถึงปัญหาด้าน "นิตินโยบาย" และการตรากฎหมายหลายฉบับในระยะหลังที่ตัดอำนาจการพิจารณาคดีของศาลปกครอง ซึ่งหนึ่งในกฎหมายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)
นายหัสวุฒิ กล่าวว่า ระยะหลังมีการเขียนกฎหมายหลายฉบับในลักษณะที่เป็นการตัดอำนาจศาลปกครองในการเข้าไปพิจารณาคดี ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตามกฎหมายเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นข้อพิพาททางปกครอง แต่กลับไปเขียนกฎหมายไม่ให้ศาลปกครองพิจารณา
"อย่างร่างแก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะละเมิด ก็พยายามดึงอำนาจการพิจารณาคดีของศาลปกครองไปอยู่ที่ศาลยุติธรรม หรืออย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปเขียนไว้ในกฎหมายว่า การใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องทางปกครองโดยแท้เลย"
“การเขียนกฎหมายแบบนี้ไม่ใช่เขียนไม่ได้ และเขาก็เขียนแล้ว แต่เขียนแล้วมันมีปัญหา เพราะเขียนอย่างนั้นไม่ใช่เป็นการตัดอำนาจของศาลปกครอง แต่เป็นการขจัดอำนาจศาลปกครองเลยทีเดียว คือถ้าเป็นศาลปกครองก็ออกไปเลย อย่ามายุ่งเรื่องนี้"
ประธานศาลปกครองสูงสุด ยังตั้งข้อสังเกตว่า การเขียนกฎหมายตัดอำนาจการพิจารณาคดีของศาลบางศาล ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นตามกฎหมายเป็นอำนาจการพิจารณาคดีของศาลนั้นโดยแท้ น่าจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ
"ปัญหาก็คือบทบัญญัติแบบนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ต้องไปดูรัฐธรรมนูญเรื่องอำนาจของศาลที่จะพิจารณาคดี รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ามี 4 ศาล คือ ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลทหาร ดูมาตรา 218 ที่เป็นบทหลัก คืออำนาจของศาลยุติธรรม บัญญัติเอาไว้ว่าศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น"
"จากนั้นลองไปดูมาตรา 223 เขียนว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีดังต่อไปนี้ แล้วก็อธิบายถึงลักษณะคดี คู่ความเป็นใคร ซึ่งเขียนเอาไว้ละเอียด แต่พอไปดู พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อมีบทบัญญัติว่าการใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง หรือไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือหนักไปกว่านั้นคือไปเขียนให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมตรงๆ ไปเลย ลองคิดดูว่าถ้าเกิดข้อพิพาทจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยที่ลักษณะของข้อพิพาทมันเป็นคดีปกครอง ก็จะเข้ามาตรา 223 ของรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองก็ต้องมีอำนาจพิจารณาคดี ศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจ ฉะนั้นเมื่อเขียนกฎหมายอย่างนี้ก็ต้องขัดมาตรา 223"
"และถ้าเผื่อลักษณะข้อพิพาทเป็นคดีปกครองตามมาตรา 223 ย่อมอยู่ในอำนาจศาลปกครอง ก็ต้องถือเป็นการตัดอำนาจศาลยุติธรรมไปโดยปริยาย การเขียนแบบนี้ก็เพราะรู้ใช่ไหมว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นอยู่ในอำนาจศาลปกครอง แล้วศาลยุติธรรมจะมีอำนาจได้อย่างไร"
นายหัสวุฒิ กล่าวอีกว่า ทั้งหมดที่อธิบายมา หมายถึงว่าเมื่อเขียนกฎหมายแบบนี้ จะเป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพในการฟ้องคดีของประชาชน เพราะศาลยุติธรรมใช้ระบบกล่าวหา ศาลปกครองใช้ระบบไต่สวน ถ้าเป็นคดีปกครองแล้วไปใช้ระบบกล่าวหา คือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคู่ความในการแสวงหาข้อเท็จจริงนำเสนอต่อศาล แน่นอนว่าชาวบ้านเสียเปรียบอยู่แล้ว
"เหมือนกับร่างพระราชบัญญัติชุมนุมในที่สาธารณะ เขียนไว้ในกฎหมายเลยว่าให้ไปฟ้องศาลยุติธรรม ทั้งๆ ที่คำสั่งต่างๆ เกี่ยวกับการอนุญาตให้ชุมนุมหรือไม่อนุญาต เป็นคำสั่งทางปกครองทั้งสิ้น แต่ร่างกฎหมายนี้ตกไปแล้วเพราะมีการยุบสภา และรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาไม่ยืนยันร่างกฎหมาย"
อย่างไรก็ดี นายหัสวุฒิ ชี้ว่า การเขียนกฎหมายที่เขาเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนนี้ แม้จะมีผู้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็คงไม่เป็นผล เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีธงคำตอบอยู่แล้วว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
"บ้านเรามีนักกฎหมายที่สั่งสอนกันมาดี เป็นนักกฎหมายบ้านเมือง คือทำตามกฎหมายที่บัญญัติมาทุกอย่าง ส่วนจะถูกหรือไม่ถูกเราไม่เคยสอน ไม่เคยเปิดให้วิพากษ์วิจารณ์กัน คำถามคือทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็ต้องย้อนไปถึงการศึกษากฎหมายในบ้านเรา ถึงเวลาแล้วเหมือนกันที่จะต้องปฏิรูป โดยเฉพาะการใช้กฎหมายและนิตินโยบายในการบัญญัติกฎหมาย เชื่อหรือไม่ว่าตอนนี้ประเทศไทยออกกฎหมายเละเทะที่สุดในโลก แต่เราจะไปว่า ส.ส. หรือ ส.ว.ไม่ได้หรอก เพราะเขาอาจจะไม่ได้จบด้านกฎหมายมา แต่เชื่อเถอะแม้จะจบกฎหมายมาก็อาจไม่รู้ ผมคิดว่าร้อยละ 99 ของคนจบกฎหมายในเมืองไทยไม่รู้เรื่องนิตินโยบายของการออกกฎหมาย" ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าว
ล้อมกรอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 16 ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
รัฐธรรมนูญมาตรา 218 ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
รัฐธรรมนูญมาตรา 223 ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :
- กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจที่ร่วมสัมภาษณ์พิเศษประธานศาลปกครองสูงสุด ประกอบด้วย สุทธิรักษ์ อุฒมนตรี, ไพศาล เสาเกลียว และ ปกรณ์ พึ่งเนตร
- ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดได้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันที่ 4 มกราคม 2555 และชมคลิปสัมภาษณ์ได้ทาง "กรุงเทพธุรกิจทีวี" เว็บไซต์ http://www.bangkokbiznews.com ในวันเดียวกัน