Home Health Literacy (HHL)..."ความแตกฉานในการใช้ชีวิต"
โจทย์หลักของสังคมไทย และสังคมโลกในปัจจุบันและในอนาคต ที่จะต้องร่วมกันหาคำตอบคือ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้คนของเราทุกคนมีภูมิคุ้มกันต่อภัยคุกคามต่อสุขภาพในครัวเรื่อน และจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าหรือป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ได้ด้วยตนเอง...
Home Health Literacy (HHL)..."ความแตกฉานในการใช้ชีวิต" คำนี้ผมใช้นำเสนอไปในกลุ่มสนทนาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาวะ
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กลไกสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัยมักดำเนินไปโดยมุ่งเน้นประเด็นการปรับผังเมือง การจัดสรรพื้นที่ที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรของประเทศ
ทั้งนี้เราทราบกันดีว่าที่ดินจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ถูกครอบครองโดยกลุ่มนายทุนเจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ การผลักดันของกลไกสาธารณะจึงมักมุ่งไปกระตุ้นให้รัฐควักที่ดินของภาครัฐออกมาใช้ประโยชน์และ/หรือจัดสรรให้คนยากไร้ ร่วมไปกับการผลักดันตัวบทกฎหมายประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี และการกดดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ที่แต่ละคนครอบครองอยู่ก็ตาม
แม้จะมีประโยชน์จากการขับเคลื่อนต่างๆ ดังกล่าว แต่ต้องยอมรับว่าจำนวนประชากรในประเทศอีกมากที่ยังไม่ได้รับประโยชน์จากการขับเคลื่อนดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือในการดำรงชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการใช้ชีวิตในบ้าน
โจทย์หลักของสังคมไทย และสังคมโลกในปัจจุบันและในอนาคต ที่จะต้องร่วมกันหาคำตอบคือ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้คนของเราทุกคนมีภูมิคุ้มกันต่อภัยคุกคามต่อสุขภาพในครัวเรื่อน และจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าหรือป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ได้ด้วยตนเอง...
จินตนาการโลกที่มีคนสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มีทั้งการเสื่อมถอยของสมรรถนะร่างกาย เดินเหินช้าและลำบากมากกว่าสมัยวัยรุ่น โดยอาจมีโรคประจำตัวหรือไม่มีก็ได้ หากจะมีโรคประจำตัวก็เป็นโรคที่เลี่ยงได้จากการปรับพฤติกรรม เช่น อ้วน เบาหวาน ไขมันสูง ไตเสื่อม และที่เลี่ยงไม่ได้จากวัยที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้อกระจก ข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น
หากปล่อยไว้โดยเน้นการการจัดการทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่ประชาชน ภายใต้เวลาและทรัพยากรที่จำกัด คงเชื่อขนมกินได้แน่นอนว่า หวังผลเลิศได้ยาก และก้าวตามสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ข้างต้นไม่ทันแน่นอน
ถามว่าจะทำอย่างไร...ยากที่จะหาสูตรสำเร็จ และไม่มีใครกล้าตอบพร้อมการันตีผล
แต่ทิศทางที่นักวิชาการและนักปฏิบัติจำนวนไม่น้อย รวมถึงผมเองเชื่อมาตลอดคือ การเชื่อมั่นในศักยภาพของคนที่จะพัฒนาศักยภาพในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ด้วยตนเองหรือเราเรียกหรูๆ ว่า Self-reliance and self-management
เมืองไทยตอนนี้มีทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังทั้งติดเตียงและไม่ติดเตียง รวมถึงผู้พิการ โดยรวมแล้วมากขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนมากก็มารับการดูแลสุขภาพที่สถานพยาบาลระดับต่างๆ จนดีขึ้นแล้วกลับไปบ้าน และวนกลับมาด้วยปัญหาเดิม หรือปัญหาใหม่ที่หนักกว่าเก่า หรือทั้งสองอย่าง
80% ของปัญหาที่มาที่โรงพยาบาลเกิดจากการใช้ชีวิตในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน พื้นที่ที่อยู่อาศัย การดูแลในบ้าน ฯลฯ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วจัดการได้ ป้องกันได้ ควบคุมได้ หากทำให้ตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น พร้อมวิธีแก้ไขปัญหาที่พบบ่อยโดยละเอียด
การพลัดตกหกล้มเป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาที่ทำให้คนจำนวนมากบาดเจ็บที่ศีรษะ ไปจนถึงกระดูกหัก จนอาจถึงแก่ความตาย หรือพิการเป็นภาระระยะยาวให้ครอบครัว หากเราทำให้รู้ว่าจะจัดการบ้านแสนรักของตนเองเช่นไร เพื่อที่จะลดการสะดุดหกล้ม ลื่นล้ม เดินชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรื่องแสง ของตกแต่งบ้าน พื้นบ้าน บันได ด้วยวิธีที่ไม่ยุ่งยาก ไม่แพง และจัดการเองได้ด้วยการประยุกต์ใช้ของที่มีอยู่แล้ว หรือซื้อหาจากแหล่งขายวัสดุใกล้บ้าน หรือจัดหาให้เลือกดูเลือกซื้อได้หลากหลายที่ ตั้งแต่สถานพยาบาล ร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ หรือโทรหรือสั่งออนไลน์แล้วจัดส่งไปถึงบ้าน ก็คงจะช่วยคนได้อีกจำนวนมาก
เฉกเช่นเดียวกับเรื่องอาหารการกิน คุณหมอคุณพยาบาลรวมถึงนักโภชนากรมักถนัดกับการแนะนำแนวทางการปรับพฤติกรรมการกินแบบกว้างๆ เช่น งดหรือลดการกินเค็ม กินหวาน กินมัน แต่สุดท้ายพอกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน คนจำนวนมากประสบความยากลำบากเหลือเกินในการปฏิบัติตามคำแนะนำ เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งในบ้านและนอกบ้าน ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต ตั้งแต่การซื้อหาวัตถุดิบ และการไม่รู้วิธีการทดแทนกิเลสที่มนุษย์พึงมีจากการเห็นสิ่งที่เคยซื้อ เคยกิน เคยทำ ยังไม่นับถึงอคติและกิเลสที่เกิดขึ้นจากการที่เห็นเพื่อนร่วมโลกใช้ชีวิตอิสระแบบที่ตนเองเคยกระทำ จนสุดท้ายก็ปฏิบัติไม่ได้หรือไม่ดี และเกิดผลแทรกซ้อนตามมา
วิถีชีวิตคนเรานั้น หนีไม่พ้น 7 มิติ ได้แก่ การกิน การจับจ่ายใช้สอยสินค้า/บริการ/คมนาคม การพักพิง/อาศัย การนอนหลับ/พักผ่อนหย่อนใจ การสื่อสาร/มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น การทำงาน และการเรียนรู้
เมืองไทยต้องการนโยบายและกลไกสาธารณะที่จะช่วยให้คนตื่นรู้ รู้วิธีการใช้ชีวิต และมีทางเลือกในการใช้ชีวิต โดยปรับเรื่องการให้ความรู้จากระดับมหภาค (แนวทางกว้างๆ แบบที่เคยทำกันมาตลอด) ให้ลงไปถึงระดับจุลภาค (วิธีและทางเลือกในการใช้ชีวิตจริงของเขาหรือเธอ) พร้อมออกแบบระบบความรู้เหล่านั้นกับองค์ประกอบในสังคมที่มีอยู่จริง เน้นการเข้าถึงได้ และสอดคล้องกับชีวิตและจริตของประชาชนไทย
นั่นแหละครับคือแนวทางการพัฒนาให้เกิด "Home health literacy" หรือที่ผมแปลง่ายๆ ว่า "ความแตกฉานในการใช้ชีวิต"...