กสม.เสนอครม.พิจารณาถอนร่างพ.ร.บ.แร่ หลังพบช่องโหว่หลายประการ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาถอนร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2556 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าว “ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... และการตรากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง” ณ ห้องเสวนา ชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นางเตือนใจ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เห็นชอบรายงานผลการพิจารณารายงานผลการพิจารณาเพื่อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ตามที่คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรเสนอ โดยมีมติให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาถอนร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกไปก่อนว่า จากการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการและประชาชน คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรมีความเห็นว่า ร่างกฎหมายแร่ฉบับดังกล่าวยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนและช่องว่างหลายประการ ทั้งในเรื่องกลไกการบริหารจัดการแร่ แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ การกำหนดเขตแหล่งแร่ทับซ้อนพื้นที่เขตอนุรักษ์ การใช้ระบบประมูลเขตแหล่งแร่ การแบ่งประเภทเหมืองแร่ กองทุนฟื้นฟูและประกันความเสี่ยง รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย จึงสมควรพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ
ขณะที่มาตรการต่างๆ ซึ่งกำหนดไว้ ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมาเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ได้ โดยเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวควบคู่ไปกับร่างกฎหมายอื่นๆ อย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การประกาศเขตควบคุมมลพิษ และกองทุนสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องพิจารณาตรากฎหมายว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในนโยบายสาธารณะ และกฎหมายว่าด้วยการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมขึ้นใหม่ หากกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบสามารถกำหนดกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสีย มาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ได้ตั้งแต่ต้นทาง
นางเตือนใจ กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้น คณะรัฐมนตรียังได้มีมติที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองทองคำ ซึ่งเป็นการตัดสินใจในเชิงนโยบายระดับประเทศที่สำคัญของรัฐบาล แต่ด้วยข้อจำกัดของการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งกำหนดให้การแก้ไขต้องไม่เกินหลักการกฎหมายที่สภานิติบัญญัติรับหลักการไว้ในวาระที่หนึ่ง ทำให้การปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ทำได้ยาก ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะว่า คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาถอนร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปก่อน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกลับไปพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์และนโยบายของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าว เกิดจากการที่ประชาชนได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อปี 2552 2557 2558 และ 2559 จำนวน 4 คำร้องโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากร ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งคณะอนุกรรมการคณะนี้ได้ร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายฯ ดำเนินการตรวจสอบ ศึกษา และสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับคำร้องและรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... แล้วจึงได้จัดทำรายงานข้อเท็จจริงและความเห็นเบื้องต้นเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ