ฟังเหตุผลจากใจคนชายแดนใต้...ทำไมต้องไปเรียนต่างประเทศ
คำกล่าวของคนระดับเลขาธิการ สมช. ที่แสดงความไม่ไว้วางใจนักเรียนนักศึกษามุสลิมจากชายแดนใต้ที่ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เพราะเชื่อว่ามีจำนวนหลักร้อยคนที่มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนนั้น ทำให้เห็นชัดเจนว่าท่านไม่เข้าใจถึงความอ่อนไหวในพื้นที่เอาเสียเลย
ยิ่งท่านบอกว่าเยาวชนในพื้นที่ชอบไปเรียนศาสนา แต่จบกลับมาไม่มีงานทำ ยิ่งสะท้อนว่าท่านไม่เข้าใจแก่นของปัญหาที่แท้จริงด้วย
ลองไปฟังอดีตนักศึกษามุสลิมในต่างแดน อธิบายถึงสาเหตุที่ต้องไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอิสลามในต่างประเทศ และเหตุใดเยาวชนส่วนใหญ่จึงต้องเรียนศาสนา
4 เหตุผลโบยบินจากชายแดนใต้
กอมารียะ (สงวนนามสกุล) ชาวจังหวัดยะลา อดีตนักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร ที่ไปพำนักอยู่ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์หลายปี
“เด็กบ้านเราไปเรียนต่างประเทศด้วยหลายสาเหตุ บางคนที่พ่อแม่ส่งไปเรียนเพราะต้องการพาลูกออกจากสังคมในพื้นที่ โดยเฉพาะลูกของผู้ที่มีความรู้และมีฐานะดี จะไม่นิยมส่งลูกหลานเรียนโรงเรียนในพื้นที่
อีกเหตุผลคือเด็กต้องการไปแสวงหาทุนจากองค์กรต่างๆ นอกประเทศ บ้างก็หาครอบครัวอุปถัมภ์เพื่อดูแลค่าใช้จ่าย คนกลุ่มนี้จะเลือกประเทศที่ไปเรียนตามความนิยม อย่าง อัล-อัซฮัร เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับ จบแล้วจะได้รับการยอมรับจากทุกสังคมทุกประเทศ ทำให้หลายคนเลือกไปเรียนที่นั่น
ไม่ต่างอะไรกับคนกรุงเทพฯ มักเลือกไปเรียนประเทศที่มีชื่อเสียงในแบบของตัวเอง คนมุสลิมในพื้นที่ก็เหมือนกัน
ที่สำคัญการเรียนที่นั่น เด็กสามารถเข้าถึงอาจารย์ได้ง่าย สามารถเลือกอาจารย์หรือรายวิชาได้ตามที่ต้องการ ทำให้ที่นั่นเป็นศูนย์กลางการศึกษาของคนมุสลิมทั่วโลก
อีกเหตุผลคือเรื่องค่าครองชีพที่ไม่สูง จึงเป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้ลายคนเลือกไปเรียนที่นั่น เพราะเดือนๆ หนึ่งมีเงิน 5,000 บาทถือว่าหรูมากแล้วถามว่าไปประเทศไหนบ้างจะมีแบบนี้ โดยเฉพาะสำหรับโอกาสของเด็กในภาคใต้ เอาแค่ไปเรียนกรุงเทพฯยังต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นหมื่นต่อเดือน ไม่ต้องไปคิดถึงยุโรปหรืออเมริกา”
เทียบวุฒิไม่ได้...ปัญหาที่รัฐไม่ยอมแก้
“ปัญหาที่เจอจริงๆ คือเรื่องของวุฒิการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหามาทุกสมัย ปัจจุบันก็ยังเป็น ทำให้เด็กบ้านเราที่จบจากสถาบันการศึกษาที่นี่ เมื่อไปเรียนที่นั่นไม่สามารถเทียบวุฒิกับ อัล-อัซฮัร ได้ ทำให้พวกเขาไม่สามารถเลือกเรียนสาขาวิชาได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ภาษาอาหรับ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ อักษรศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์ ส่วนใหญ่ต้องเลือกเรียนศาสนา เพราะเทียบชั้นกับสถาบันในพื้นที่ได้ เมื่อจบมาก็เป็นนักวิชาการ เป็นผู้รู้ทางศาสนา เป็นครูสอนตามโรงเรียนต่างๆ หรือหากมีฐานะก็จะเปิดโรงเรียนเองเลย
ถามว่าโรงเรียนกี่แห่งในพื้นที่ที่เน้นเรื่องของวิชาการจริงๆ ทุกวันนี้ทุกโรงเรียนเน้นจำนวนเด็กกับความยิ่งใหญ่ของโรงเรียน ไม่ต้องแปลกใจเลยที่ผู้ปกครองที่มีฐานะ หรือเด็กหลายคนเลือกออกไปเรียนต่างประเทศมากกว่า
ตอนนี้สิ่งที่เด็กในพื้นที่ต้องการคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้โรงเรียนในพื้นที่มีมาตรฐานจริงๆ อยากให้เงินที่อุดหนุนเด็กเป็นรายหัว ประโยชน์ไปลงที่เด็กจริงๆ ไม่ใช่เหมือนตอนนี้ที่ไปลงกับเจ้าของโรงเรียน ทำอย่างไรก็ได้ให้โรงเรียนมีวิชาการมากกว่าการโฆษณาชวนเชื่อ แล้วเมื่อนั้นผู้ปกครองส่วนใหญ่จะเลือกโรงเรียนในบ้านเรามากกว่าส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ
ส่วนเรื่องที่รัฐมองว่าเด็กที่ไปเรียนต่างประเทศบางส่วนมีความคิดเรื่องปกครองตนเองหรือต้องการแบ่งแยกดินแดนนั้น เรื่องนี้เด็กในพื้นที่รับรู้มาตลอด เหมือนต้องคำสาป เพราะรัฐตั้งโจทย์ไว้แล้ว ไม่แปลกใจเลยที่รัฐเอาเรื่องเก่าๆ มาพูดถึงอีก มันไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย”
พาลูกหนีสังคมหวาดระแวง
ฟังจากมุมของคนที่เคยไปเรียนมาแล้ว ลองหันมาฟังมุมมองของคนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองบ้าง ว่าเหตุใดจึงพยายามส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อยังต่าประเทศ เธอคือ คอรีเยาะ (ขอสงวนนามสกุล) ชาวจังหวัดปัตตานี
“ฉันส่งลูกชายไปเรียนอินโดนีเซีย เหลืออีก 2 ปีก็จะจบ เหตุผลที่ส่งลูกไปเรียนเพราะโรงเรียนในภาคใต้ถูกรัฐมองว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดแบ่งแยกดินแดน โดยช่วงปีที่ตัดสินใจส่งลูกชายไป เจ้าหน้าที่จับเด็กนักเรียน นักศึกษาบ่อยๆ ก็เลยคิดว่าการส่งลูกไปเรียนต่างประเทศคือทางรอดของลูกและครอบครัว ที่นี่สงบเมื่อไหร่ค่อยกลับมา หรือเขาเรียนจบเมื่อไหร่ เป็นผู้ใหญ่แล้วค่อยกลับมา
สาเหตุที่ตัดสินใจส่งลูกไปอินโดฯ เพราะคิดว่าเวลามีอะไรเราก็จะไปหาเขาง่าย ค่าใช้จ่ายเดือนหนึ่ง 5,000 บาท ก็ถือว่าไม่เกินกำลังสำหรับคนกรีดยางอย่างเรา
กับข่าวล่าสุดที่ออกมา ทำให้คิดว่าพอส่งไปเรียนต่างประเทศ ก็มาหาว่า เด็กที่ไปเรียนมีความคิดไม่ดีอีก ฟังแล้วรู้สึกจนใจที่จะช่วยลูกให้รอดจากอันตรายแบบนี้ บอกตรงๆ ตั้งแต่ส่งลูกไปเรียน ไม่มีครั้งไหนเลยที่เจ้าหน้าที่รัฐผ่านหน้าบ้านแล้วจะไม่จอดรถถามถึงลูกชาย จริงๆ รัฐก็รู้ปัญหานี้มาตลอด ทำไมไม่แก้ให้ตรงจุด ทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กมีที่ยืนของตัวเอง ไม่ใช่ว่าหนีจากตรงนี้ ก็ต้องถูกมองเป็นอีกกลุ่ม ความตายเท่านั้นหรืออย่างไรที่จะทำให้ปัญหานี้จบ ยอมรับว่าเหนื่อยจริงๆ”
"ไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าบ้านเรา"
นอกจากไม่เข้าใจปัญหาแล้ว ท่านเลขาฯสมช.ยังไม่สานต่องานของรัฐบาลชุดก่อนๆ อีกด้วย
เพราะหากยังจำกันได้ เมื่อปี 2556 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ทำเรื่องนี้กันอย่างขะมักเขม้น
ยุคนั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ได้เดินทางไปเยี่ยมนักศึกษาไทยที่มหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ โดยในปีนั้นมีนักศึกษามุสลิมจากประเทศไทยศึกษาอยู่ราวๆ 2,500 คน
พ.ต.อ.ทวี ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุย และพบปัญหาสำคัญของเด็กและเยาวชนจากชายแดนใต้ คือ วุฒิการศึกษาที่จบมา ไม่สามารถเทียบวุฒิของ อัล-อัซฮัร ได้
ช่วงที่คณะของ ศอ.บต.เดินทางไป มีพิธีมอบปริญญาบัตรแก่บัณฑิตพอดี ปรากฏว่ามีนักศึกษาไทยสำเร็จการศึกษา 71 คน ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาตรี ในจำนวนนี้ได้รับรางวัลนักเรียนเรียนดีถึง 67 คน หลายคนได้เกียรตินิยมอันดับ 1 และ 2 โดย ศอ.บต.ได้ทำเซอร์ไพรส์ พาพ่อแม่ของนักศึกษาบางคนไปร่วมพิธีด้วย ทำเอาหลายคนกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่
“ตั้งใจว่าเรียนจบจะกลับไปทำงานที่บ้านที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เพราะถ้าได้ทำงานอยู่ที่บ้านจะได้ดูแลพ่อกับน้องได้ อีกอย่างไม่มีที่ไหนจะสุขใจเท่าอยู่ที่บ้านเรา”
เป็นคำฝากจากใจของนักศึกษาไทยที่ อัล-อัซฮัร
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 คณะจาก ศอ.บต. ถ่ายภาพร่วมกันที่หน้าศูนย์ภาษาอารบิก มหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ขณะเดินทางไปเยี่ยมนักศึกษาไทย ซึ่งส่วนใหญ่ไปจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2556
2 นักศึกษาหญิงมุสลิมจากประเทศไทย
หมายเหตุ : ภาพทั้งหมดโดย นาซือเราะ เจะฮะ ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวอิศรา