หมอต้นไม้ ชี้ผลิต 'รุกขกร' ใช้เวลา 3 เดือนไม่พอ ระยะสั้นแนะสร้าง Training the Trainer
รุกขกรเมืองไทย ชี้ จะสร้างนักศัลยกรรมต้นไม้เวลา 3 เดือนไม่พอ แนะพัฒนาองค์ความรู้ ปรับแนวคิดผู้บริหารท้องถิ่น เผยแนวคิดนายกฯถือเป็นพลังที่ดี
สืบเนื่องจากกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ในรายการคืนความสุขในคนในชาติ มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูเเลต้นไม้ หยุดตัดบั่นยอด ตัดแบบเรื่อยเปื่อย รวมถึงการเพิ่มรุกขกรในการดูเเลต้นไม้ (อ่านประกอบ: หยุดตัดเรื่อยเปื่อย! นายกฯ สั่งเข้มเพิ่ม 'รุกขกร' ทำหน้าที่ดูแลการตัดต้นไม้)
นายธราดล ทันด่วน รุกขกร ผู้ชำนาญการด้านการดูแลต้นไม้ในเขตเมือง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ถึงการเพิ่มบุคลากรด้านการดูแลต้นไม้ จะกำหนดระยะเวลา 3 เดือนเป็นไปได้ยาก แต่ก็เป็นเรื่องท้าทายว่า เราจะใช้แรงกดดันท่านนายกฯ เพื่อให้เกิดผล จริงๆ ได้อย่างไร วันนี้ต้องยอมรับเราไม่สามารถสร้างคนได้ทันตามที่ตั้งเป้าไว้อย่างแน่นอน แต่ในภาวะเร่งด่วนแบบนี้ เราควรเริ่มสร้างสิ่งที่เรียกว่า Training the Trainer สมมติว่าการไฟฟ้าฯ อยากอบรมภายใน เพื่อสร้างคนดูเเลต้นไม้ในเขตเมืองไม่ต้องถึงขั้นเป็น รุกขกร แต่เราก็ฝึกคนเหล่านี้ให้เชี่ยวชาญ เข้าใจต้นไม้แล้วให้เขาเอาไปถ่ายทอดต่อกับคนในองค์กร หรือกรมทางหลวงก็อาจจะฝึกอีกแบบไปตามความต้องการของกรม ฝึกคนของเขาเพื่อให้เขาเป็นครูฝึก เป็นวิทยากรให้กับองค์กรต่อไป
"ถ้าเราพยายามจะสร้างวิทยากรให้มากพอ ให้เร็วพอ ปัญหาก็จะทุเลาลงในเวลาอันสั้น แม้จะไม่เสร็จในสามเดือน แต่เชื่อว่าจะบรรลุได้เร็วขึ้น ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดี และเมื่อนายกฯ ออกแรงแบบนี้ ความคิดของเราต้องเปลี่ยน"
นายธราดล กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเราใช้ระบบผู้นำ เมื่อผู้นำไม่ทำ ผู้ตามก็ไม่ทำ และเมื่อสังคมโดยรวมไม่ว่าจะเป็น ระบบการศึกษา นักวิชาการอย่างด้านวนศาสตร์ ถ้านักวิชาการที่มีองค์ความรู้หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังคิดว่า ป่าในเมืองไม่น่าสนใจ ไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน ต้องไปสนใจการอนุรักษ์ป่าบนดอยอย่างเดียว การพัฒนาองค์ความรู้ในด้านนี้ก็จะน้อยลง
"วันนี้เราต้องกลับมามองที่ปัญหาว่า ผู้บริหารเมืองได้ให้ความสนใจไหม กรุงเทพฯ ต้องถามคำถามง่ายๆ ว่า วันนี้อายุของกรุงเทพจะเข้าสู่ 250 ปี ถามว่าเรามีต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุเกินร้อยปี หนึ่งต้นต่อหนึ่งตารางกิโลเมตรหรือไม่ คำตอบคือไม่มี" นายธราดลกล่าว และว่า เพราะการพัฒนาเมืองของเราให้ความสนใจกับการตัดถนน ให้ความสนใจกับการก่อสร้าง และเมื่อต้นไม้ขวางการก่อสร้าง เราก็เลือกให้ความสำคัญกับการก่อสร้างมากกว่า แต่หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าบางเทศบาล บางเขตที่ผู้บริหารใส่ใจ ต้นไม้ก็เติบโตสวยงามขึ้นมาได้
ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลต่อการอยู่การดูเเลรักษาต้นไม้ในเมือง นายธราดล กล่าวว่า มีปัจจัยอยู่ 2 ประการ อย่างแรกเกิดจาก ผู้บริหารเมืองให้ความสนใจในเรื่องน้อยกว่าที่ควร เราจะเห็นว่าเทศบาล กทม.หรือว่าการไฟฟ้าฯ กรมทางหลวงให้น้ำหนักคุณค่าของต้นไม้น้อยกว่าที่คิด เมื่อผู้บริหารไม่มียุทธศาสตร์ที่จะอยากรักษาต้นไม้เอาไว้ เลยพาเรามาอยู่จุดนี้ ประการที่ 2 ระบบการศึกษาของเราไม่ได้ให้น้ำหนักของป่าในเขตเมือง ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ที่ไปไกลมาก เทียบกันแล้วเรายังอยู่ในระดับอนุบาล
"เมื่อกระแสสังคมเดินทางเร็วกว่า แนวคิดของผู้บริหารเมือง ระบบการศึกษาองค์ความรู้จึงต้องเร่งพัฒนาให้ทันด้วย" นายธราดล กล่าวทิ้งท้าย