นศ.มุสลิมไทยใน ตปท.คิดแยกดินแดน... เรื่องเก่าเล่าใหม่สะท้อนดับไฟใต้เหลว
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาท่ามกลางข่าวสารจากชายแดนใต้ที่เงียบหายไป เพราะเป็นช่วงเดือนรอมฎอนและไม่มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากนัก
คราวนี้ต้นตอข่าวมาจากภาครัฐเอง และเป็นบุคคลสำคัญระดับเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ด้วย
อ่านชัดๆ เลขาฯสมช.พูดอะไร…
พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการ สมช.ให้ข่าวเรื่องนี้ 2 ครั้ง 2 วันติดกัน ครั้งแรกคือวันพฤหัสบดีที่ 16 มิ.ย.59 ให้สัมภาษณ์นักข่าวกลุ่มหนึ่งภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยบอกว่าที่ประชุมได้รับทราบการติดตามความเคลื่อนไหวของนักศึกษาไทยมุสลิมที่ได้รับทุนจากต่างประเทศและใช้ทุนส่วนตัวเดินทางไปศึกษาต่อในหลายประเทศ ซึ่งมีประมาณ 4,000-5,000 คน เช่น ในอียิปต์ อินโดนีเซีย และปากีสถาน เพราะพบว่ามีบางกลุ่มมีพฤติกรรมการที่จะมุ่งไปสู่แนวคิดการปกครองตนเองในจังหวัดชายชายแดนภาคใต้ หรือบางคนคิดไปถึงการแบ่งแยกดินแดน โดยคนกลุ่มนี้หลักร้อยคน แต่ยังไม่พบว่ามีส่วนไปเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส
ต่อมาในวันรุ่งขึ้น พล.อ.ทวีป ให้สัมภาษณ์อีกครั้งกับผู้สื่อข่าวของ "สำนักข่าวเนชั่น" ขยายความว่านักศึกษามุสลิมไทยที่ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศหลักร้อยคนที่มีแนวคิดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ปกครองตนเองหรือแบ่งแยกดินแดนจากรัฐไทยนั้น คนเหล่านี้ถูกยุยงให้ใช้ "หลักกำหนดใจตนเอง" หรือ self determination แล้วนำเผยแพร่ในพื้นที่
พล.อ.ทวีป ยังบอกอีกว่า นักศึกษากลุ่มที่มีปัญหานี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้รับทุนจากต่างประเทศโดยตรงจากมหาวิทยาลัยในประเทศมุสลิม จากนั้นก็ไปขอวีซ่า และเดินทางไปเลย ทำให้รัฐบาลตรวจสอบได้ยาก และไม่รู้จำนวนที่แน่ชัด พร้อมกับโฟกัสให้ชัดลงไปอีกว่านักศึกษากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไปศึกษาอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งทางสมช.ต้องไปทำความเข้าใจและขอความร่วมมือต่อไป
ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มิ.ย. เลขาธิการ สมช.ยังบอกด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้จัดตั้งคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเฉพาะด้านการศึกษาสังคม เพื่อหาแนวทางที่ดีสำหรับนักศึกษามุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รับทุนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาไทยมุสลิมเหล่านั้นนำความรู้กลับมาใช้ประโยชน์ในทางที่สร้างสรรค์ให้กับประเทศ และเตรียมการให้มีโอกาสในการทำงานมากขึ้น เพราะบางคนไปศึกษาวิชาทางศาสนา เมื่อกลับมาอาจมีโอกาสได้งานทำน้อย
กอ.รมน.มึนแจงข่าวคนละทาง
หลังจากข่าวจากปากเลขาฯสมช.เผยแพร่ออกไป ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจง แต่กลับให้ข้อมูลไปคนละทิศคนละทาง
พ.อ.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สัมภาษณ์ "สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น" ในเรื่องนี้ว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันยืนยันว่า นักศึกษาไทยมุสลิมที่เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ไม่มีพฤติกรรมหรือแนวคิดแบ่งแยกดินแดนอีกแล้ว เรื่องนี้เป็นเพียงแค่แนวคิดของคนบางกลุ่มเท่านั้น และจากข้อมูลหน่วยงานความมั่นคง รวมทั้ง กอ.รมน. ตรวจสอบแล้วก็ยังไม่พบพฤติกรรมการแบ่งแยกดินแดน
ขณะที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ในพื้นที่มีข้อมูลเรื่องนี้อยู่ ทั้งเป็นข้อมูลบอกเล่าและข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งข้อมูลในเชิงประจักษ์นี้ พบจากผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่จับกุมมาได้ แล้วพบว่าบางคนไปเรียนจากต่างประเทศมา ส่วนจำนวนมีเท่าไหร่ ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียด เพราะเป็นงานของอีกฝ่ายหนึ่งที่ดูแล
เรื่องเก่าเล่าใหม่-อย่าด่วนสรุป
เมื่อ "ทีมข่าวอิศรา" สำรวจความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ สะท้อนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่า ฝ่ายความมั่นคงก็ติดตามตรวจสอบนักศึกษาจากชายแดนใต้ที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศทุกยุคทุกสมัย การออกมาพูดในวันนี้เพื่อประโยชน์อะไร
นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เรื่องแบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว เราปฏิเสธไม่ได้ เรื่องความคิดเราไม่สามารถห้ามกันได้ ใครจะคิดอะไรก็คิดไป ที่สำคัญคือจะเป็นไปได้ไหม ฉะนั้นจึงต้องมีการพุดคุยทำความเข้าใจกัน รัฐบาลเองก็ต้องเข้าใจ ต้องแยกนักเรียนนักศึกษาให้ออก เพื่อแก้ปัญหา
"บางทีก็มีการเอาเรื่องเดิมๆ มาพูด ทั้งที่ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ฉะนั้นรัฐต้องรอบคอบ อย่าด่วนสรุป" ผู้นำศาสนาจากจังหวัดปัตตานี ระบุ
นายมูฮำหมัด (สงวนนามสกุล) ซึ่งจบการศึกษาจากประเทศอียิบต์ บอกว่า จะว่าไปแล้วฝ่ายรัฐก็มองนักศึกษาไทยมุสลิมทุกคนที่ไปเรียนต่างประเทศในแง่ลบ ซึ่งจริงๆ เราอาจไม่รู้หรอกว่าแต่ละคนที่ไปเรียนมีความคิดอะไร แต่เมื่อรัฐเหมารวมแบบนี้ ทำให้ทุกคนได้รับผลกระทบ
"ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมารัฐก็จับตามองทุกคนที่ไปเรียนต่างประเทศอยู่แล้ว โดยมองว่าไปเรียนเรื่องของการก่อการร้าย มองว่าไปเรียนเพื่อกลับมาทำเรื่องไม่ดีในประเทศ นักเรียนและครอบครัวของนักเรียนต่างประเทศทุกคนจะต้องถูกติดตาม ถูกจับตา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้ารัฐจะหยิบขึ้นมาพูดอีกเพื่อแก้ปัญหา ก็ไม่ควรเหมารวม และต้องจัดระบบให้ดี" นายมูฮำหมัด กล่าว
แกะรอยต้นตอข้อมูลเลขาฯสมช.
การให้ข้อมูลต่อสาธารณะในลักษณะเหมารวม หรือพูดแบบรวมๆ ไม่แยกแยะชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหวอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความขัดแย้งทับซ้อนอยู่หลายเรื่องนั้น เคยมีบทเรียนมาหลายครั้งแล้วว่า ก่อผลลบมากกว่าผลบวก (เช่น กรณีเครือข่ายคนสามจังหวัดที่ไปทำงานร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซีย เป็นต้น)
แม้เลขาฯสมช. จะพูดทิ้งท้ายไว้กับผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวเนชั่นทำนองว่า "นักศึกษาที่ไปเรียนจริงๆ ไม่มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนก็ไม่ต้องเดือดร้อนอะไร" แต่ผลกระทบจากคำพูดหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากหน่วยที่ไม่ใช่ทหาร พยายามตรวจสอบว่าเลขาฯสมช.นำข้อมูลมาจากที่ไหน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าที่ไม่ได้มีนัยกับการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันมากนัก ปรากฏว่าพบความเคลื่อนไหวของเลขาฯสมช.เพิ่งเดินทางกลับจากการเยือนประเทศมุสลิมประเทศหนึ่ง จึงอาจได้ข้อมูลมาจากแหล่งข่าวระหว่างเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ แล้วกลับมารายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเรื่องนี้หลายหน่วยก็มีข้อมูลในอดีตอยู่แล้ว จึงอาจเกิดการแสดงความคิดเห็นกันไปมา กระทั่งเป็นประเด็นที่ถูกเปิดเผยผ่านสื่อมวลชน
สาเหตุที่เรื่องนักศึกษามุสลิมไทยในต่างประเทศถูกจับตาขึ้นอีกครั้ง เพราะกระแสเรื่องการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นถี่ยิบในระยะหลังๆ โดยเฉพาะปฏิบัติการของ "กลุ่มไอเอส" ซึ่งมีการระดมคนหนุ่มสาว นักศึกษาปัญญาชนจากทุกพื้นที่ทั่วโลกไปร่วมรบในตะวันออกกลาง หรือบางส่วนก็เผยแผ่อุดมการณ์ผ่านทางสื่อออนไลน์ไปยังเป้าหมายที่ตรวจสอบไม่ได้ ทำให้หน่วยงานความมั่นคงทุกประเทศต้องหันมาให้ความสนใจ และตรวจสอบคนของตัวเองกันอย่างเข้มงวด
คำพูดมัดตัว-กระทบมิตรประเทศ
แต่ไม่ว่าการดำเนินงานของเลขาฯสมช.จะมาจากเรื่องใด สิ่งที่พึงตระหนักเอาไว้ก็คือ "งานด้านความมั่นคงเขาไม่พูดมากกัน"
"เรื่องแบบนี้ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามันเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ หรือแหล่งข่าวที่เราได้มาไปได้ยินอะไรแล้วจับแพะชนแกะ แต่สิ่งสำคัญคือถ้าไม่จริง หรือไม่ชัดเจน เป็นข้อมูลภาพรวมที่ไม่ชี้ชัด ก็ไม่ควรพูด หรือหากเป็นข้อมูลชัด แต่กระทบกับการแก้ไขปัญหา หรือกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คนที่ทำงานด้านความมั่นคงก็จะไม่พูด เพราะจะทำให้การประสานงานกับประเทศเหล่านั้นเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาทำได้ยากขึ้น" เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุ
และว่า "เมื่อใดที่พูดออกสื่อ คำพูดจะมัดตัวเอง มัดหน่วยงาน มัดประเทศ เพราะเรื่องแบบนี้ละเอียดอ่อนมาก หากผิดพลาดจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศของเราเอง"
ภาพสะท้อนดับไฟใต้เหลว!
นักวิชาการด้านความมั่นคงที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงท่านหนึ่ง กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เรื่องแบบนี้พูดออกมาแล้วมีประโยชน์อะไร มีแต่จะสร้างปัญหามากขึ้น เพราะการคลี่คลายสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินมาสู่จุดที่กำลังสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นระหว่างกัน มีการเปิดโต๊ะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างเปิดเผยมาถึง 2 รัฐบาลต่อเนื่องกัน ฉะนั้นท่าทีแบบนี้ของเลขาฯสมช.จึงน่าเป็นห่วง
"คำถามคือการแก้ไขปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลนี้ไปถึงไหนแล้ว มีอะไรประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมบ้างหรือไม่ โต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขก็หยุดชะงักไป แล้วผู้รับผิดชอบระดับสูงด้านความมั่นคงกลับออกมาพูดแบบนี้อีก เอาข้อมูลเก่าที่สร้างความหวาดระแวงออกมาพูด ยิ่งสะท้อนว่าการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในเรื่องภาคใต้ล้มเหลว"
นักวิชาการด้านความมั่นคง บอกด้วยว่า อายุของรัฐบาลทหารตามโรดแมพจะอยู่ถึงปี 2560 หากไม่มีปัจจัยแทรกซ้อนทำให้เปลี่ยนแปลงไปจากแผนที่วางเอาไว้ ฉะนั้นระยะเวลาก็เหลืออีกเพียงปีเศษๆ กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่อยู่ในต่างประเทศจึงไม่ต้องการพูดคุยกับรัฐบาลชุดนี้แล้ว เพราะถือว่าอยู่อีกไม่นาน การแก้ไขปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลจึงถือว่าหยุดชะงัก หากจะจัดรูปขบวนใหม่คงต้องเริ่มหลังลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าผลของประชามติจะเป็นอย่างไร จึงเดาไม่ออกว่ารัฐบาลจะกลับมาให้ความสำคัญกับปัญหาภาคใต้อีกหรือไม่ หรือจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ...
ถือเป็นความเคลื่อนไหวและทิศทางการแก้ไขปัญหาที่ดูแล้วมืดมนจริงๆ!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ :
1 ภาพ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการ สมช. จากศูนย์ภาพเนชั่น ถ่ายโดย วรวิทย์ พุ่มพวง
2 บทสัมภาษณ์ พล.อ.ทวีป วันพฤหัสบดีที่ 16 มิ.ย.59 โดย ไพศาล เสาเกลียว ผู้สื่อข่าวไทยรัฐทีวี อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ