ปัญหาเพียบ! พ.ร.บ.ป้องกันทารุณสัตว์ฯ ‘วัลลภ’ ชี้ กฎหมายยังพิการ เหตุไร้กฎกระทรวงรองรับ
วงถกผลบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันทารุณกรรมสัตว์ฯ “หมากัดคน คนทำร้ายหมา” ครูหยุยเผย กม.ยังพิการ ขาดกฎกระทรวง ระเบียบ รองรับ ด้านสมาชิก สนช. ชงขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงทุกชนิด ใช้โทษทางปกครองแทนอาญา จัดการผู้กระทำผิด ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ ชี้ปัญหาเพียบ สอบสวนคดี
วันที่ 17 มิถุนายน 2559 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง หมากัดคน คนทำร้ายหมา แก้ปัญหาอย่างไร หลังจากมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ณ ห้องรับรอง 1-2 อาคารรัฐสภา 2
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ ยังพิการอยู่ โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ยังไม่เกิดขึ้น ขณะที่กฎกระทรวง ระเบียบ จำนวนมากยังไม่มี ฉะนั้นหลายเรื่องที่พูดคุยกันเลยไม่มีรายละเอียดนำไปปฏิบัติได้
ดังนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงศึกษาและเห็นว่า ควรมีการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงทุกชนิดให้ได้ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการไม่ทอดทิ้งสัตว์ แต่จะออกกฎหมายเดิมที่มีอยู่ หรือจะออกกฎหมายใหม่ และการบังคับให้ขึ้นทะเบียน กรณีผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษอย่างไร ต้องมีการพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ต้องวางมาตรการดูแลสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งในที่สาธารณะ โดยการทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยเฉพาะการทำหมันจะช่วยควบคุมจำนวนประชากร แต่ปัจจุบันทำได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น สิ่งสำคัญกว่านั้น สัตว์ชนิดใดควรนำมาดูแล ซึ่งมีแนวคิดว่า สัตว์ทุกชนิดเป็นสมบัติของรัฐ ถ้าใช้ตรรกะนี้ ถามว่ารัฐจะนำงบประมาณส่วนใดไปดูแล
“หมาทั้งหมดมีประมาณ 8 แสนตัว ต้องฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้า เเต่กทม.ดูแลได้ 8,000 ตัว ยังไม่รู้ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะเรียกเงินคืนเมื่อไหร่ เพราะไม่ให้เงิน ส่วนเทศบาลดูแลได้ 30 วัน ภายใต้กฎหมายป้องกันโรค นอกเหนือจากนั้นดูแลต่อเอาเงินที่ไหน เพราะ สตง.ระบุไม่ใช่ภารกิจเทศบาล จะเห็นว่า มีปัญหาเชิงกฎหมายมาก ดังนั้น ต้องดูแลหมาดุร้าย เป็นโรค ตั้งท้อง และพิการ ก่อน ” ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าว
ด้านนายธานี อ่อนละเอียด สมาชิก สนช. กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังมีช่องโหว่ โดยเฉพาะเรื่องการจดทะเบียนสัตว์ ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ ยกเว้น พ.ร.บ.ว่าด้วยสัตว์พาหนะ พ.ศ.2482 กำหนดให้ต้องตีตั๋วรูปพรรณ ช้าง ม้า โค กระบือ ล่อ ลา แต่ไม่มีหมา เมื่อเกิดปัญหาผู้เลี้ยงทอดทิ้ง กลายเป็นหมาจรจัด ถามว่าใครจะรับผิดชอบ กรณีกัดหรือทำลายสิ่งของ ดังนั้น ต้องมีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง
ขณะที่บทลงโทษสำหรับผู้ทารุณกรรมสัตว์ สมาชิก สนช. ระบุว่า กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 31 “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับการทำร้ายร่างกายในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 “ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 พันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ”
“ผู้กระทำผิดทารุณกรรมหมาไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นความผิดต่อหน้าที่ศีลธรรมอันดี ก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง หากจะมีการกำหนดให้เป็นความผิดน่าจะกำหนดให้องค์กร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เป็นผู้ดำเนินการลงโทษกับการกระทำความผิดดังกล่าวแทนองค์กรตุลาการ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและทันท่วงที และควรนำแนวคิดเรื่องโทษปรับทางปกครอง เช่น ปรับเพื่อการลงโทษ การตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ การจำกัดประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ น่าจะมีความเหมาะสมมากกว่าการกำหนดความผิดทางอาญา” นายธานี กล่าว
ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ กรรมาธิการวิสามัญฯ ในฐานะรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เปิดเผยถึงปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ในการประชุมพนักงานสอบสวนทุกเดือน พนักงานสอบสวนมีความหนักใจทุกครั้งในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับคดีหมากัดคน คนทำร้ายหมา โดยคดีที่มีผู้ต้องหาและพยานหลักฐานชัดเจน จะดำเนินการสอบสวนปกติ แต่คดีที่ไม่มีพยานหลักฐาน ผู้กระทำผิดจะอ้างว่า มีเหตุจำเป็นต้องทำเพื่อป้องกันตนเอง
ทั้งนี้ มาตรา 20 กำหนดว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร" ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยที่พนักงานสอบสวนต้องพิจารณา คำว่า ‘เหตุอันควร’ มีขอบเขตมากน้อยเพียงใด ทำให้ปัจจุบันนี้มีคดีค้างอยู่ในชั้นการสอบสวนจำนวนมาก เพราะสรุปไม่ได้
รองผบ.ตร.กล่าวต่อว่า อีกปัญหาหนึ่งในชั้นการสอบสวน คือ กรณีคนถูกหมากัด และตามหาเจ้าของไม่เจอ เพราะส่วนใหญ่เป็นหมาจรจัด ถามว่าจะเอาผิดได้อย่างไร หรือแม้ทราบเจ้าของชัดเจน แต่เมื่อไปสอบถาม บุคคลนั้นกลับปฏิเสธ กรณีนี้จึงเป็นปัญหาในการดำเนินคดี ยกเว้น จะมีกล้องวงจรปิด หรือพยานบุคคล เท่านั้น
สุดท้ายนายเกียรติยศ โรเยอร์ โลหนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมาธิการอำนวยการภาคีเพื่อการอนุรักษ์เอเชีย ระบุถึงสาเหตุของการทำร้ายหมาเกิดจากความกลัว ความเกลียด รวมถึงความโกรธ และความคึกคะนอง โดยเฉพาะหมาจรจัด ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นข้อยกเว้นโทษการทารุณกรรมโดยเจตนาได้ แต่บางข้ออาจเป็นเหตุผลให้ได้รับการลดหย่อนโทษ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
อย่างไรก็ตาม หากศึกษาสถิติหมากัดคน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นหมาบ้า ไม่ใช่หมาจรจัด และส่วนใหญ่เป็นหมาเลี้ยงในบ้านที่มีเจ้าของ โดยร้อยละ 80 ไม่ได้รับการฉีควัคซีนกันโรคพิษสุนัขบ้า แตกต่างจากหมาจรจัดที่มีการจัดการเรียบร้อย ฉะนั้น เราต้องดูอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์จงอย่าโทษว่าเกิดจากหมาจรจัด อย่างไรก็ตาม ทางออกต้องทำหมัน ฉีดวัคซีน และขึ้นทะเบียนหมา ทุกตัว ผู้เลี้ยงก็จะเลี้ยงดูหมาของตัวเองอย่างดี ไม่ปล่อยขึ้นถนน .