อังคณา นีละไพจิตร:รัฐควรหามาตรการปกป้องนักสิทธิมนุษยชน
"ดิฉันขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม ดำเนินการตามที่ได้รับข้อเสนอแนะจากสหประชาชาติในการหามาตรการเพื่อปกป้องการทำหน้าที่ของนักสิทธิมนุษยชน และขอเน้นย้ำว่า การแจ้งความดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชนจะไม่เกิดประโยชน์ใดต่อสาธารณะ..."
เป็นที่น่ายกย่องที่ประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะจากมิตรประเทศ ในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้วยระบบ UPR ทั้งหมด 181 ข้อ โดยเฉพาะข้อเสนอแนะในการหามาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน และการสร้างหลักประกันว่าสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะได้รับการเคารพอย่างเหมาะสม
ปัจจุบันมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักปกป้องสิทธิชุมชน จำนวนไม่น้อยที่ถูกข่มขู่ คุกคาม ในจำนวนนี้รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงด้วย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนถูกสังหาร ถูกบังคับสูญหาย ถูกข่มขู่ คุกคาม ซึ่งรวมถึงการคุกคามทางเพศอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนที่ถูกฟ้องร้อง ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาต่างๆ ทั้งจากรัฐหรือเอกชน
ไม่ว่าจะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต่อต้านการทำเหมืองทอง นักปกป้องสิทธิในที่ดินและทรัพยากร รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งล่าสุด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ. รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งความดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 3 คนที่ร่วมกันจัดทำรายงานเรื่องปัญหาการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ
“ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง ดิฉันมีความกังวลใจอย่างยิ่งที่รัฐใช้วิธีการแจ้งความดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แทนที่จะแสวงหาหนทางในการสร้างความร่วมมือในการหามาตรการเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” “การฟ้องร้องดำเนินคดีจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่กลับจะทำให้สังคมเกิดความหวาดกลัว และประชาชนที่ถูกละเมิดจะไม่กล้าที่จะร้องเรียนหากเกิดการละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยมีข้อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวมานาน จนประชาชนหวาดระแวง ดังนั้นทุกฝ่ายจึงควรหาแนวทางในการตรวจสอบร่วมกันเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม
ดิฉันขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม ดำเนินการตามที่ได้รับข้อเสนอแนะจากสหประชาชาติในการหามาตรการเพื่อปกป้องการทำหน้าที่ของนักสิทธิมนุษยชน และขอเน้นย้ำว่า การแจ้งความดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชนจะไม่เกิดประโยชน์ใดต่อสาธารณะ ดิฉันเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะนำสู่การการสร้างมาตรฐานการให้ความคุ้มครองป้องกัน และยุติการทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง”
นางอังคณา นีละไพจิตร
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง
16 มิถุนายน 2559
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ