'ไพโรจน์' เเนะคดีหมิ่นประมาทบุคคล ให้ฟ้องกันเอง เลิกใช้กลไกรัฐเป็นเครื่องมือ
'ไพโรจน์ พลเพชร' ชี้คดีหมิ่นประมาทบุคคล ให้ฟ้องกันเอง เลิกนำกลไกรัฐเป็นเครื่องมือ เรื่องประโยชน์สาธารณะต้องไกล่เกลี่ยได้ ด้านผอ.อิศรา เผยผู้ฟ้องมักใช้มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จัดการ เหตุโทษหนัก ยอมความไม่ได้ ควรลดฐานความผิดลง ขณะที่ 'สุภิญญา' เเนะสื่อสารข้อมูลบนข้อเท็จจริงช่วยป้องกันเสี่ยง
วันที่ 16 มิถุนายน 2559 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเสวนา เรื่อง การฟ้องหมิ่นประมาท:จุดสมดุลระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม ณ ห้องซาลอน เอ โรงแรม สวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ
นายไพโรจน์ พลเพชร นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงสาเหตุที่มีการฟ้องหมิ่นประมาทมากขึ้น เพราะไทยมีการพัฒนาด้านประชาธิปไตย โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ในมาตรา 36 และ 2550 ในมาตรา 35 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า การกล่าวหรือไขความไปสู่สาธารณชนด้วยวิธีการใดก็ตามที่มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ครอบครัว ชื่อเสียง เกียรติยศ ของบุคคล ทำไม่ได้ เว้นแต่เพื่อประโยชน์สาธารณะ การฟ้องหมิ่นประมาทจึงเกิดขึ้น เพื่อหวังสกัดการตรวจสอบงานสาธารณะทั้งหมด
ทั้งนี้ การฟ้องหมิ่นประมาทส่วนใหญ่ เกิดจากผู้มีอำนาจทำงานสาธารณะ ซึ่งจำเป็นต้องเชื่อมโยงให้ได้ว่า บุคคลสาธารณะกับงานสาธารณะต้องเป็นเรื่องเดียวกัน งานสาธารณะเกี่ยวข้องกับนโยบาย โครงการ หรือกิจกรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบ หมายความว่า บุคคลสาธารณะที่เป็นนักการเมือง หรือราชการ ที่มีส่วนได้ผลประโยชน์ หรือทำกิจการที่เกี่ยวข้อง ต้องถูกตรวจสอบ ถ้าไม่ยอมเท่ากับบ้านเมืองไม่ใช่ประชาธิปไตย
“ที่ผ่านมาการใช้กฎหมายอาญาฟ้องปิดปากประชาชน เนื่องจากบุคคลในตำแหน่งสาธารณะมีอำนาจต่อรองสูง สามารถใช้กลไกรัฐ ตำรวจ อัยการ ฟ้อง เพื่อต่อสู้คดีได้ ถือเป็นความไม่เท่าเทียม” นายกสมาคมนักกฎหมายฯ กล่าว และว่า การกระทำดังกล่าวเพื่อต้องการสกัดหรือหยุดอีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้ตรวจสอบ ยิ่งในบรรยากาศไม่ปกติเช่นนี้ ถือเป็นการใช้กฎหมายอย่างไม่มีคุณธรรม
นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องทำคือกรณีเป็นการหมิ่นประมาทบุคคล ให้บุคคลฟ้องร้องกันเอง โดยไม่ใช้กลไกของรัฐเป็นเครื่องมือ นอกจากนี้ต้องทำให้เรื่องประโยชน์สาธารณะยอมความหรือไกล่เกลี่ยกันได้ จะช่วยแก้ไขปัญหาแท้จริง อีกทั้งต้องผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย โดยไม่ระบุโทษอาญาอีกต่อไป หรือมีโทษอาญา แต่ต้องเขียนให้ชัดเจน หากติชมเพื่อประโยชน์สาธารณะ สามารถทำได้โดยไม่มีความผิด
ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาชีพผู้สื่อข่าวกับการถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทเป็นเรื่องปกติ คนอยู่ในวงการนี้จะรับสภาพได้ เมื่อโดนฟ้องจะไม่โวยวาย ส่วนตัวแล้วเคยโดนประมาณ 10 คดี แต่ส่วนใหญ่จะถอนฟ้อง ส่วนคดีใหญ่ ๆ ที่เคยมีส่วนร่วมจะไม่โดน เช่น คดีซุกหุ้น มีบางคดีเจรจาขอให้หยุดขุดคุ้ย ต่อมาเมื่อมาบริหารสำนักข่าวอิศรา จะพยายามยุติเรื่องให้เร็วที่สุด ด้วยกระบวนการต่าง ๆ แต่หากเกินหลักการก็จะไม่ยอม
“ปัจจุบันมีการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาใช้เปรอะมาก เพราะรู้ว่า มาตรา 14 (1)* มีโทษหนัก จำคุกไม่เกิน 5 ปี และไม่สามารถยอมความกันได้ ที่น่ากลัว มีการนำความผิดอื่น ๆ มาโยงใช้กับกฎหมายฉบับนี้อีก ดังนั้นต้องทำให้ฐานโทษไม่หนักกว่ากฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป แต่คงไม่สามารถตัดทิ้งเลย เพราะผู้มีอำนาจจะไม่ยอม รวมถึงกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องของศาลต้องสร้างแนวทางชัดเจน” ผอ.สถาบันอิศราฯ กล่าว
ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ทุกวันนี้ในชีวิตการทำงานต้องพูดทุกวัน กับการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ซึ่งมีคนเตือนเช่นกัน ยิ่งพูดมาก ยิ่งเสี่ยงมาก เราจึงต้องระมัดระวังตนเอง โดยการสื่อสารข้อมูลบนฐานข้อเท็จจริง หากเป็นความคิดเห็นส่วนตัวต้องพูดให้ชัดเจน แต่ไม่ควรล้ำเส้นให้ข้อมูลที่ไม่มั่นใจ ใส่อารมณ์ รอบคอบในการใช้ถ้อยคำ อาจเสี่ยงต่อการหมิ่นประมาท อย่างไรก็ตาม ให้คงไว้เฉพาะสาระสำคัญที่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์
น.ส.รสนา โตสิตระกูล เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย เปิดเผยถึงการทำงานในฐานะภาคประชาชนกับการถูกฟ้อง เริ่มตั้งเเต่ปี 2541 ขณะนั้นทำเรื่องทุจริตยา โดยมีการรณรงค์ จนถูกฟ้องหมิ่นประมาท โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเกิดจากการให้สัมภาษณ์ว่า ปลัด สธ.ปล่อยปละละเลยการทุจริตกว้างขวาง ซึ่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลยกฟ้องตามมาตรา 329 ประมวลกฎหมายอาญา เพราะถือว่าติชมด้วยความเป็นธรรม
นอกจากนี้ยังโดนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ฟ้องคดีหมิ่นประมาทใน 4 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม มหาสารคาม เเละอุดรธานี ซึ่งได้อาศัยทนายจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์มาช่วยเหลือ ในที่สุดนำมาสู่การไกล่เกลี่ยถอนฟ้อง
"การทุจริตยาใช้เวลาตรวจสอบ 6 ปี จนในที่สุด รมว.สธ.ถูกศาลสั่งยึดทรัพย์กว่า 200 ล้านบาท เเละมีคดีต่อเนื่องว่ารับสินบนจากบริษัทยา 5 ล้านบาท ถูกศาลสั่งจำคุก 15 ปี คดีเช็ค 2 ปี หลังจากนั้น เมื่อติดคุก 5 ปี ได้รับการพักโทษ ซึ่งต่อมาเราได้อโหสิกรรมต่อกัน โดยในการขึ้นเวทีเดียวกัน นายกล้านรงค์ จันทิก กับอดีต รมว.สธ. ซึ่งบวชเป็นพระ ท่านบอกว่า เมื่อก่อนไม่ชอบหน้าคุณรสนา เพราะคิดว่าไปรับงานจากการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งมารังเเก เเต่หลังจากเห็นติดตามตรวจสอบต่อเนื่องก็เข้าใจ เเละยังบอกว่า การถูกจำคุกดี ทำให้ได้พิจารณาตนเอง เเละคิดว่าหากสนใจพุทธศาสนาตั้งเเต่ต้นอาจจะไม่ติดคุก" นางรสนา กล่าว
หมายเหตุ:*มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 เเสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 14(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่นหรือประชาชน
ภาพประกอบ:https://www.facebook.com/prasong.lertratanawisute?fref=ts