Anti – Slapp Laws : ส่งเสริมให้คนกล้าพูดกล้าตรวจสอบเรื่องของส่วนรวม
"ใครพูดเรื่องตำรวจซื้อขายตำแหน่ง จะโดนฟ้องหมิ่นประมาท" เป็นตัวอย่างการปิดปากชาวบ้านมิให้ออกมามาแสดงความเห็นหรือตรวจสอบเรื่องของส่วนรวมที่เราพบเห็นอยู่ประจำ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วใครจะกล้าออกมาพูดเรื่องการโกง
Anti – SLAPP Law จึงเป็นมาตรการปกป้องคนที่ออกมาเปิดโปงหรือแสดงความเห็นโดยสุจริตต่อการคอร์รัปชัน (Whistle blower protection)
เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนที่เข้าร่วมตรวจสอบกรณีคอร์รัปชันมักถูกฟ้องร้องเป็นคดีหมิ่นประมาทโดยผู้ถูกตรวจสอบดังกล่าวเพื่อขัดขวางการเปิดโปงหรือแสดงความเห็น ดังนั้นเพื่อเป็นการเอื้อให้ประชาชนสามารถร่วมตรวจสอบการคอร์รัปชันตลอดจนแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะได้โดยไม่ถูกรบกวนขัดขวางโดยไม่สมควร จึงจำเป็นต้องมีการออก "กฎหมายป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Anti-Strategic Litigation Against Public Participation (Anti-SLAPP Law)"
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะช่วยลดภาระที่เกิดขึ้นแก่จำเลยคดีหมิ่นประมาทในกรณีที่จำเลยสามารถพิสูจน์ได้ว่า การแสดงความคิดเห็นของตนอันเป็นเหตุให้ถูกฟ้องนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น(ก) เพิ่มภาระการพิสูจน์ให้กับโจทก์ โดยโจทก์ต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ(ข) ให้ศาลมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจคุ้มครองจำเลยในกรณีที่ศาลเห็นว่าความเสียหายของโจทก์นั้นน้อยกว่าประโยชน์ที่สังคมได้รับการจากแสดงความคิดเห็นของจำเลย(ค) ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าปรับเชิงลง โทษแก่โจทก์ในกรณีที่ศาลเห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริตเพื่อขัดขวางการแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะของจำเลยและ (ง) ให้ศาลมีอำนาจระงับการกระทำของโจทก์ที่กำลังถูกจำเลยตรวจสอบจนกว่ากระบวนการพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้น
มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่มีการศึกษาและนำเสนอต่อสาธารณะตั้งแต่ปลายปี 2557 และถูกนำเสนอต่อ สปช. และ คตช. ในเวลาต่อมา
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)