“กิตติรัตน์” โปรยยาหอมชุมชน รับข้อเสนอบรรจุเเผนภัยพิบัติ ม.ค. 55
เครือข่ายชุมชนยื่น 6 มาตรการ แก้ไขภัยพิบัติยั่งยืน “กิตติรัตน์” รับลูก ยอมรับหน่วยงานรัฐทำงานซ้ำซ้อน ขัดแย้ง ล่าช้า ไม่ตรงจุด
วันที่ 28 ธ.ค. 54 สภาองค์กรชุมชน ร่วมกับสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เครือข่ายสลัมสี่ภาค พร้อมเครือข่าย จัดสัมมนา “พลังชุมชนท้องถิ่นจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน” ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นวันที่ 2 ซึ่งเป็นการสรุปแนวทางและข้อเสนอเชิงนโยบาย นำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อเร่งดำเนินการ โดยมติที่ประชุมเครือข่ายชุมชนจัดการภัยพิบัติสรุป 6 ข้อ ได้เเก่ 1. จัดปรับกลไกการแก้ไขปัญหาและจัดการภัยพิบัติในทุกระดับ โดยเน้นการจัดการในระดับชุมชน/ตำบล เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างชุมชน ท้องถิ่น โดยในระดับจังหวัดเป็นจุดเชื่อมโยง บูรณาการแผนงาน และประสานการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานในจังหวัด คณะกรรมการกลไกการแก้ไขปัญหาในระดับชาติ จะต้องมีวิธีคิดเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น โดยทำงานคู่กับกลไกของภาคประชาชนในทุกระดับ
2. สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติระดับตำบล/ภูมินิเวศน์ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในการจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้า และฟื้นฟูภายหลังประสบภัยได้เท่าทันกับสถานการณ์ โดยให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสมทบกองทุนภัยพิบัติที่ชุมชนท้องถิ่นได้ริเริ่มดำเนินการ
3. สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ประสานความร่วมมือการจัดการภัยพิบัติระดับตำบล เพื่อทำหน้าที่ในการช่วยกันจัดการปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า จัดทำข้อมูล เชื่อมโยงเครือข่าย ประสานการทำงานวางแผนร่วมกับหน่วยงานภายนอก วางแผนเตรียมการป้องกันผลกระทบจากภัยพิบัติ และปฏิบัติการฟื้นฟูหลังประสบภัยพิบัติ
4. สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีการวางแผนในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ด้วยการวางผังเมือง วางแผนการบริหารจัดการน้ำในระดับตำบลและภูมินิเวศน์ ลุ่มน้ำ ควบคู่กับการวางผังการพัฒนาเชิงพื้นที่ตำบล การจัดการและใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่า วางผัง วางแผนการจัดการที่ดิน น้ำ ป่า และการผลิตในระดับตำบล การออกแบบระบบสาธารณูปโภคที่เหมาะสม ร่วมกับหน่วยงาน ภาคีที่เกี่ยวข้อง
5. ปฏิรูประบบงบประมาณให้เอื้ออำนวยต่อการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น ด้วยการสนับสนุนงบประมาณตรงสู่พื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติเป็นไปอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่
6. ให้รัฐบาลเปิดให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม ในการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ (กยน.) เปิดเผยข้อมูลโครงการ งบประมาณ ให้ชุมชนท้องถิ่นได้เข้าร่วมดำเนินการและติดตามให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวภายหลังรับข้อเสนอของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นฯ ว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของชาวบ้าน โดยเฉพาะการเปิดให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม มีบทบาทสำคัญในการจัดการภัยพิบัติ การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่รัฐบาลจะพยายามปรับระบบการจัดสรรงบประมาณให้ไปถึงมือประชาชน แต่อย่างไรก็ตามระบบกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอยู่ได้ให้อำนาจรัฐหลายหน่วยงานเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งมีความซ้ำซ้อน ขัดแย้งกันเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา ฉะนั้นควรมองข้ามการทำงานของหน่วยราชการ เพราะทำงานไม่ได้ผล แต่ควรใช้พลังชุมชน พลังทางสังคม ผสมผสานกับพลังการเมืองในการผลักดันแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
“หลังจากรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.)และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.)ขึ้นมาทำงานเพื่อวางยุทธศาสตร์และแผนงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่าจะเร่งดำเนินการให้ได้แผนที่เป็นรูปธรรมภายในเดือนม.ค. ปีหน้า ผมในฐานะกรรมการกยน.จะรับข้อเสนอองค์กรชุมชนไปเป็นข้อมูลประกอบในการจัดทำแผนดังกล่าวต่อไป” นายกิตติรัตน์ กล่าว