ปลัดวธ.เผยเล็งของบ กสทช.เข้ากองทุนสื่อปลอดภัยฯ 200 ล้าน
ปลัด วธ. ชี้กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีงบฯ เริ่มต้นแล้ว 8 ล้าน เล็งของบฯ กสทช. ปี 2559 จำนวน 200 ล้านบาท ปี2560 อีกจำนวน 200 ล้านบาท ยันมาตรา 3 พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาสื่อฯ จะครอบคลุมสื่อทุกประเภท ทุกชนิด
วันที่ 15 มิ.ย 59 พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 3 โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และคณะกรรมการฯ เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม อาคารกระทรวงวัฒนธรรม เขตบางพลัด กรุงเทพฯ กระทรวงวัฒนธรรม
ศ.ดร.อภินันท์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สังคมรอคอยมานาน และมีการผลักดันผ่านรัฐสภา กองทุนนี้เกิดขึ้นมาได้จะเป็นประโยชน์กับสังคมโดยเฉพาะ เรื่องการบริหารจัดการของสื่อในหลาย ๆ ด้าน
"ปัจจุบันการพัฒนาหรือก้าวกระโดดของสื่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งบางครั้งเกิดการใช้สื่ออย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะเปิดโอกาสให้กับสื่อที่เน้นนำเสนอเรื่องเด็กและเยาวชน ครอบครัว รวมไปถึงเปิดโอกาสให้กับกลุ่มของสมาคมสื่อด้วย ซึ่งทั้งหมดจะต้องช่วยกันนิยาม คำว่า สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทางคณะกรรมการกองทุนฯ จะไม่เป็นผู้กำหนด แต่จะจัดสัมมนาหรือพูดคุยให้ชัดเจนว่า ผู้ที่มีส่วนร่วมมีจะนิยามคำว่า สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ว่าอย่างไร"
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงกองทุนสื่อสร้างสรรค์ เกิดขึ้นมาเป็นการเติมเต็มให้กับสังคม โดยยกตัวอย่าง บิลบอร์ดที่เห็น นอกจากตัวบิลบอร์ดไม่ปลอดภัยแล้ว เนื้อหาบนบิลบอร์ดบางครั้งนำเสนอสิ่งที่ไม่เหมาะสม ประชาชนที่เสพสื่อหรือสัมผัสทุกวันจะเกิดความเคยชิน เราจะใช้พื้นที่บนบิลบอร์ดนำเสนอสื่อที่ดีหรือศิลปะที่งดงาม ซึ่งนี่จะเป็นการถ่วงดุลสังคม ที่ขาดหายไป
พร้อมกันนี้ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้ยกกรณีที่มีการใช้สื่อออกมาในรูปแบบที่ทำให้เกิดความสะเทือนใจสะเทือนอารมณ์ เช่น การถ่ายทอดสดดร.มหาวิทยาลัยราชภัฎ ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ที่ผู้ใช้สื่อทำให้สื่อกลายเป็นเรียลลิตี้โชว์ ทั้งที่จริงแล้วเป็นเรื่องของชีวิตคน จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เราจะมาช่วยกันนิยามหาว่า สังคมขาดดุลอะไร และควรจะเติมเต็มอะไรเข้าไป
ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวถึงการตีความสื่อสร้างสรรค์ด้วยว่า มีหลายมิติและเป็นสิ่งที่สำคัญที่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับสื่อจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะผู้ประกอบการเหล่านั้น ใกล้ชิดกับคำว่าสื่อที่สุด ตามมาตรา 3 พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะครอบคลุมสื่อทุกประเภท ไม่ใช่เพียงแค่สื่อมวลชนเท่านั้น แต่รวมถึงสื่อทุกชนิดที่ปรากฏอยู่ เช่น การ์ตูน แอนิเมชั่น วรรณกรรม หนังทดลอง หรือซึ่งปรากฏอยู่บนสิ่งตีพิมพ์ เคเบิล หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งผู้ใช้สื่อต้องมองในเชิงสร้างสรรค์และช่วยกันผลักดัน ถึงแม้ว่าจะซับซ้อนกับหน่วยงานอื่น แต่คิดว่ากองทุนสื่อสร้างสรรค์นี้จะช่วยเติมเต็มให้กับสังคมได้
ในส่วนของงบประมาณในการพัฒนากองทุนฯ นี้ ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวว่า งบประมาณในการนำมาพัฒนากองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เริ่มต้นงบประมาณได้มาจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)ขณะนี้มีงบประมาณเริ่มต้นแล้ว 8 ล้านบาท และจะเสนอของบประมาณ 2559 จำนวน 200 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2560 อีกจำนวน 200 ล้านบาท
สำหรับความหมาย "สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์" ตามพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 หมายความว่า สื่อที่มีเนื้่อหาส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมและความมั่นคง ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและสังคม รวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคีและสามารถใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายได้อย่างเป็นสุข