อ้างเอาใจ ปชช.แต่สุดท้ายคอร์รัปชั่น! ‘จรัญ’วิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหาโกงชาติ
“…ถ้าองค์ความรู้ชัดเจนและมีการเผยแพร่และขยายวงกว้างมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้เกิดแนวร่วมและเกิดกระบวนการในการร่วมกันหาทางแก้ปัญหานี้ได้มากขึ้น แต่ตราบใดที่สังคมไม่เห็นความสำคัญของปัญหาคอรัปชั่น ต่อให้ออกกฎหมายมาแก้มากขนาดไหน ก็ไม่มีทางแก้ปัญหาสำเร็จได้…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของภาคเอกชนต่อการทุจริตในสังคมไทย ในงานเสวนาเรื่อง “การส่งเสริมสนับสนุนธรรมาภิบาล การป้องกันการทุจริตในภาคเอกชนและแนวทางการแก้ไขฯ” จัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมา มีรายละเอียดตอนหนึ่ง ดังนี้
เบื้องต้น อ.จรัญ เล่าถึงที่มาของปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทยว่า จากการร่วมมือของ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการประจำ และภาคธุรกิจ และในปัจจุบันนี้ยังได้บริษัทที่มาจากการลุงทุนข้ามชาติเข้ามาร่วมคอรัปชั่นด้วย โดยใช้ข้ออ้างในการคอรัปชั่นคือ การทำทุกอย่างเพื่อเอาใจประชาชน
ส่วนสาเหตุปัญหาการคอร์รัปชั่นในไทยนั้น อ.จรัญ วิเคราะห์แล้ว สรุปว่ามาจาก 6 สาเหตุใหญ่ในระบอบเสรีประชาธิปไตยทุนนิยม ได้แก่ 1.ทุนสามานย์ 2.การเมืองชั่ว 3.สื่อขายตัว 4.วิชาการหดหัว 5.ข้าราชการขลาดกลัว 6.ประชาชนมัวเมาหลงประชานิยม
“เราจะต้องแก้ปัญหาการคอรัปชั่นจากสาเหตุที่ว่ามานี้ โดยการแก้ปัญหานั้น ผมอยากใช้ระบบหรือแนวคิดของ ศาสตราจารย์ สตีเฟน คาร์เทอร์ (Prof. Stephen Carter) มหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกเผยแพร่มานานและนำไปใช้แล้วได้ผลจริง ซึ่งหัวใจหลักในการแก้ปัญหาคอรัปชั่นต้องทำองค์ความรู้ให้ชัดเจนว่าปัญหาคอรัปชั่นเป็นปัญหาที่เลวร้ายอย่างไร ทำลายประเทศชาติและประชาชนมากขนดไหน หรือแม้แต่ภาคเอกชนด้วยกันเอง ก็จะถูกปัญหาเหล่านี้เอารัดเอาเปรียบจนไม่สามารถที่จะแข่งขันธุรกิจได้ด้วยคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็นในระบบเศรษฐกิจเสรี”
“ดังนั้น ถ้าองค์ความรู้ชัดเจนและมีการเผยแพร่และขยายวงกว้างมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้เกิดแนวร่วมและเกิดกระบวนการในการร่วมกันหาทางแก้ปัญหานี้ได้มากขึ้น แต่ตราบใดที่สังคมไม่เห็นความสำคัญของปัญหาคอรัปชั่น ต่อให้ออกกฎหมายมาแก้มากขนาดไหน ก็ไม่มีทางแก้ปัญหาสำเร็จได้”
แล้วปัญหาคอร์รัปชั่นจะแก้ได้อย่างไร ?
อ.จรัญ สรุปปิดท้ายไว้ว่ามี 3 แนวทาง ได้แก่
หนึ่ง แก้ที่ระบบคิด จิตวิญญาณ สันดานและพฤติกรรมของผู้มีอำนาจ ผู้บริหาร ผู้วางนโยบาย ผู้ใช้ดุลพินิจ ผู้วินิจฉัยสั่งการ
สอง แก้ที่กระแสเรียกร้องของสังคม ผู้ทรงอำนาจในองค์กร สื่อสาธารณะ ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ผู้นำทางปัญญาและหลักศาสนา รวมทั้งประชาชนทั่วไป ให้ตระหนักรับรู้ว่าการคอรัปชั่นไม่เพียงแค่ทำลายประเทศชาติ สังคม และชุมชนเท่านั้น แต่ยังทำลาย ปัจเจกบุคลในสังคมด้วย
สาม แก้ที่ระบบ โครงสร้าง กฎระเบียบ นโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวทางปฏิบัติต้องรัดกุม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้รู้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้
นับเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจ ส่วนจะมีหน่วยงานไหนเอาไปปรับใช้หรือแก้ไขบ้างนั้น ต้องติดตามกันต่อไป !
อ่านประกอบ : ไม่มีผู้จ่ายก็ไร้คนรับ! วงเสวนาภาคธุรกิจชี้องค์กรปราบโกงเยอะแต่ไร้ประสิทธิภาพ