ทำไมต้องสอนเพศศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาล?
..เราจะไม่ได้ยินคำว่า “เซ็กส์” อย่างชัดเจนในชั้นเรียนอนุบาล เพราะในความเป็นจริงนั้น คำที่ใช้สอนที่นี่คือคำว่า เพศวิถีศึกษา (sexuality education) ไม่ใช่ เพศศึกษา (sex education) เป้าหมายของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพศวิถีศึกษานั้นกว้างกว่ามาก คือการพูดคุยอย่างเปิดใจและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับเรื่องความรักและสัมพันธภาพ...
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีความเชื่อมั่นว่าหนุ่มสาวก็สามารถมีความรักและสัมพันธภาพอันดีงามได้ ดังนั้นจึงบังคับให้ทุกโรงเรียนต้องสอนเพศศึกษาแบบรอบด้านตั้งแต่ชั้นอนุบาล“เด็ก ๆ คนไหนเคยมีความรักบ้างเอ่ย?” อันนีก ไฟเฟอร์ถามเด็กนักเรียนประถมชาวดัตช์ที่มานั่งชมกิจกรรม
เช้าฤดูใบไม้ผลิวันหนึ่งในเมืองยูเทรกต์ ที่อาคารพลศึกษาโรงเรียนประถมซินต์ ฮันดีดูปีร์ ตกแต่งประดับประดาด้วยลูกโป่งรูปหัวใจและริบบิ้นสายรุ้ง อันนีก ไฟเฟอร์และพาพิจน์ คุนน์เว็ก พิธีกรดำเนินรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กในประเทศเนเธอร์แลนด์ กำลังร้องเพลงคู่สื่อถึงความรู้สึกหากจะปิ๊งใครสักคน
เด็ก ๆ พากันหัวเราะกับคำถาม แต่แล้วมือน้อยๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ต่างก็ชูกันขึ้นมาสลอน
ยินดีต้อนรับเข้าสู่สัปดาห์ “ไข้เปลี่ยนฤดู” ที่จัดขึ้นในโรงเรียนประถมทุกแห่งทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษา สำหรับเด็กวัย 4 ขวบ แน่นอนอยู่แล้วว่าไม่ใช่แค่สำหรับเด็กวัย 4 ขวบ เพราะเด็กวัย 8 ขวบ จะได้เรียนรู้เรื่องภาพแห่งตน (self-image) และภาพเหมารวมด้านเพศภาวะ (gender stereotypes) ส่วนเด็กวัย 11 ขวบ ก็จะได้พูดคุยเรียนรู้เรื่องวิถีทางเพศ (sexual orientation) และการคุมกำเนิดวิธีต่างๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า “เพศศึกษารอบด้าน” ในประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นเริ่มตั้งแต่เด็กอายุ 4 ขวบ เป็นต้นไป
อีนิคา ฟานเดอร์ฟลูกท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการทางเพศเยาวชน แห่ง สถาบันรัทเกอร์สแห่งมูลนิธิประชากรโลก ซึ่งเป็นสถาบันการวิจัยทางเพศวิถีแห่งชาติดัตช์ และอยู่เบื้องหลังการจัดทำหลักสูตรดังกล่าว เปิดเผยว่า เราจะไม่ได้ยินคำว่า “เซ็กส์” อย่างชัดเจนในชั้นเรียนอนุบาล เพราะในความเป็นจริงนั้น คำที่ใช้สอนที่นี่คือคำว่า เพศวิถีศึกษา (sexuality education) ไม่ใช่แค่ เพศศึกษา (sex education) เท่านั้น เพราะเป้าหมายของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพศวิถีศึกษากว้างกว่ามาก คือการพูดคุยอย่างเปิดใจและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับเรื่องความรักและสัมพันธภาพ
ตามกฎหมายแล้ว นักเรียนประถมศึกษาทุกคนในประเทศเนเธอร์แลนด์จะต้องได้รับการศึกษาเรื่องเพศวิถีศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งระบบจะช่วยให้มีความยืดหยุ่นว่าจะสอนอย่างไร ด้วยวิธีการใด แต่จะต้องกล่าวถึงหลักการพื้นฐานสำคัญบางประการ ได้แก่ ความหลากหลายทางเพศ (sexual diversity) การยืนยันปกป้องสิทธิทางเพศ (sexual assertiveness) นั่นหมายถึงการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการเคารพรสนิยมทางเพศทั้งหลาย ตลอดจนช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะป้องกันตนเองจากการถูกบังคับข่มขู่ทางเพศ (sexual coercion) การคุกคามทางเพศ (sexual intimidation) และการล่วงละเมิดทางเพศ (sexual abuse) อันที่จริง หลักการพื้นฐานก็บอกไว้ชัดเจนอยู่แล้ว คือ พัฒนาการทางเพศ เป็นกระบวนการปกติที่เยาวชนทุกคนต้องเผชิญ ดังนั้น พวกเขาจึงมีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อถือได้และตรงไปตรงมาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
ฟานเดอร์ฟลูกท์กล่าวเพิ่มเติมว่า “สังคมมีความกังวลอยู่ไม่น้อยว่าเนื้อหาที่แสดงออกเรื่องเพศในสื่อนับวันจะยิ่งมีผลกระทบแง่ลบต่อเด็กๆ เราจึงอยากแสดงให้เห็นว่าประเด็นทางเพศนั้นยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับการเคารพกันและกัน ความสนิทสนมลึกซึ้ง และความปลอดภัยอยู่อีกด้วย”
ยิ่งกว่าการป้องกันความเสี่ยง
วิธีจัดการเรียนการสอนเพศศึกษาแบบดัตช์กำลังเป็นที่จับตามองและดึงดูดความสนใจจากนานาประเทศ เป็นเพราะเนเธอร์แลนด์นำเสนอผลลัพธ์ที่ดีที่สุดหลายประการด้านสุขภาวะทางเพศวัยรุ่น เช่น วัยรุ่นชาวดัตช์โดยเฉลี่ยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่าวัยรุ่นจากประเทศอื่นในแถบยุโรปรวมทั้งในสหรัฐอเมริกา นักวิจัยพบว่าในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 12 ถึง 25 ปี ในประเทศเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่ตอบว่าตนเองมีประสบการณ์ทางเพศครั้งแรกที่ “สนุกและถูกใจ” เมื่อเทียบกันแล้ว ร้อยละ 66 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นวัยรุ่นชาวอเมริกันที่มีเพศสัมพันธ์แล้วให้คำตอบว่าตนเองน่าจะรอให้มีอายุมากกว่านี้จึงค่อยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และการศึกษาที่ดำเนินการโดยสถาบันรัทเกอร์สแห่งมูลนิธิประชากรโลก ยังพบอีกว่าเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก วัยรุ่นดัตช์ 9 ใน 10 คนใช้การคุมกำเนิด โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลกชี้ให้เห็นว่า วัยรุ่นดัตช์คือกลุ่มผู้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และจากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่าอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นประเทศเนเธอร์แลนด์อยู่ในระดับต่ำที่สุดของโลก ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาถึงห้าเท่าตัว นอกจากนี้ อัตราการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็ยังมีระดับต่ำมากอีกด้วย
มีหลายปัจจัยที่ช่วยให้เกิดตัวเลขเหล่านี้ หนึ่งในนั้นคือ การเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิดอย่างสะดวกง่ายดาย เช่น ถุงยางอนามัยหาซื้อได้ตามตู้หยอดเหรียญ ยาเม็ดคุมกำเนิดก็ฟรีสำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ ที่กล่าวว่าเป็นเพราะหลักสูตรเพศวิถีศึกษารอบด้านด้วย การศึกษาวิจัยครั้งล่าสุดที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ แสดงให้เห็นว่าการเริ่มจัดการเรียนการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษาจะมีส่วนช่วยในการหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การตายของมารดา การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
รายงานของสหประชาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2551 พบว่าหากนำไปจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว หลักสูตรเพศวิถีศึกษารอบด้านจะช่วยเยาวชนในการ “สำรวจทัศนคติและค่านิยมของตนเอง และฝึกทักษะการตัดสินใจ และทักษะชีวิตอื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้เพื่อให้สามารถตัดสินใจเลือกได้อย่างมีข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตทางเพศของตนเอง”นอกจากนี้ ตามข้อมูลของหน่วยงานวิจัยอิสระด้านสุขภาพ ที่ดำเนินการศึกษาวิจัยหลักสูตรเพศวิถีศึกษารอบด้านรูปแบบดัตช์ ยังพบว่านักเรียนที่ผ่านหลักสูตรเพศวิถีศึกษารอบด้านในประเทศเนเธอร์แลนด์กล้าแสดงออกในสิทธิทางเพศได้ดีกว่าและเป็นนักสื่อสารที่ดีกว่า
โรบาร์ท ฟานเดอร์คาก เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพแห่งศูนย์บริการสาธารณสุขส่วนภูมิภาคประจำภาคพื้นฮอลแลนด์กลางเปิดเผยว่า “เราต้องช่วยเยาวชนหาหนทางจัดการกับทางเลือกอันยุ่งยากทั้งหลายที่เขาต้องเผชิญและยืนหยัดเพื่อตัวเองในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าเรื่องเพศหรือเรื่องอื่นใด”
‘เหมือนผีเสื้อน้อยมากมายบินอยู่ในท้อง’
ที่โรงเรียนซินต์ฮันดีดูปีร์ เด็กนักเรียนอนุบาลนั่งล้อมวงตั้งใจฟังครูมารีอาน ยอคเคมส์ อ่านหนังสือประกอบภาพเล่าเรื่องราวให้ฟัง ซึ่งมีภาพวาดรูปสัตว์ต่างๆ เช่น หมี จระเข้ กอดกันแสดงความรัก
“เด็กๆ รู้ไหม ทำไมเขาถึงกอดกัน?” ครูถามนักเรียนทั้งชั้น
“ก็เพราะว่าเขาชอบกันไงคะ” เด็กผู้หญิงคนหนึ่งตอบคุณครู
จากนั้น ครูมารีอานบอกให้เด็กๆ ลองนึกดูว่าชอบใครมากที่สุด หลายคนตอบว่าแม่ บ้างก็พ่อ มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าน้องสาว และอีกส่วนหนึ่งก็บอกชื่อเพื่อนๆ ที่โรงเรียน
“แล้วเด็กๆ รู้สึกยังไงคะ เวลาคนที่เราชอบมากอดเรา?” คุณครูมารีอานถาม
เด็กผู้ชายคนหนึ่งตอบว่า “หนูรู้สึกอุ่นๆ จากข้างในน่ะ เหมือนมีผีเสื้อน้อยมากมายบินอยู่ในท้องเลย”
บทเรียนเช่นนี้ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ ได้นึกถึงและพูดคุยเกี่ยวกับความใกล้ชิดลึกซึ้งประเภทที่ให้ความรู้สึกดีและความรู้สึกแย่ ส่วนบทเรียนสำหรับวัยอนุบาลอื่นๆ จะเน้นเรื่องการรับรู้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย (body awareness) เช่น ให้ผู้เรียนวาดภาพร่างกายของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง เล่าเรื่องเพื่อนๆ อาบน้ำด้วยกัน และพูดคุยว่าใครชอบทำแบบนั้นและใครไม่ชอบบ้าง สำหรับวัยเจ็ดปีนั้น ผู้เรียนควรจะสามารถบอกชื่ออวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมทั้งอวัยวะเพศได้อย่างถูกต้อง นอกจากนั้น ยังจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับครอบครัวประเภทต่างๆ ลักษณะของการเป็นเพื่อนที่ดี และได้รู้ว่าเด็กเกิดมาจากครรภ์มารดา
ฟานเดอร์ฟลูกท์เสริมว่า “คนมักคิดว่าเราจะเริ่มพูดคุย [กับเด็กอนุบาล] เรื่องการมีเพศสัมพันธ์เลยทันที จริงๆ แล้ว เรื่องเพศวิถีมีอะไรมากมายกว่านั้นเยอะเลย เช่น การรู้จักภาพลักษณ์แห่งตน (self-image) การพัฒนาความเป็นตัวตน (identity) ของตัวเอง บทบาททางเพศ และยังมีการเรียนรู้ให้รู้จักแสดงท่าทีของตัวเอง ความปรารถนาของตนเอง รวมทั้งขอบเขตของตัวเองอีกด้วย” นั่นหมายความว่า เด็กอนุบาลเองก็จะได้เรียนและรู้จักสื่อสารว่าเมื่อไหร่ที่ตนเองไม่อยากให้ใครมาถูกเนื้อต้องตัว เป้าหมายก็คือ เมื่อเด็กๆ อายุ 11 ปี เขาจะรู้สึกสบายใจพอที่จะหาหนทางจัดการกับสิ่งยุ่งยากใจในการพูดคุยที่ล่อแหลมเรื่องการเจริญพันธุ์ เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และการล่วงละเมิดทางเพศ
ห้ามคุยเรื่องเพศ
ในสหรัฐอเมริกา หลักสูตรเพศศึกษาของแต่ละรัฐแตกต่างกันอย่างมาก จากข้อมูลของสถาบันกุตต์มาเคอร์ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรระดับโลกที่ดำเนินการวิจัยด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ทั่วโลกนั้นพบว่ามีรัฐน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาที่กำหนดให้โรงเรียนต้องสอนเพศศึกษา สภาคองเกรสขยายแผนงานหลักสูตรความรับผิดชอบส่วนบุคคลศึกษา (Personal Responsibility Education Program (PREP)) ซึ่งให้งบประมาณสนับสนุนโครงการด้านสุขภาวะทางเพศรอบด้านของวัยรุ่นทั่วประเทศ โดยได้เพิ่มเงินงบประมาณให้แก่โครงการที่ส่งเสริมการงดเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะแต่งงานเป็นปีละ 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ เด็บ เฮาเซอร์ ประธานองค์การสนับสนุนสิทธิสำหรับเด็กและเยาวชน (Advocates for Youth) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรที่อุทิศตนทำงานด้านเพศวิถีศึกษา เปิดเผยว่าเนื้อหาของเพศศึกษาในสหรัฐอเมริกายังคงมุ่งเน้นเรื่องการลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แบบชายหญิงทั่วไปแต่อย่างเดียว
จากผลการสำรวจที่ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยศาสนาสาธารณะพบว่าคนรุ่นใหม่เกือบ 4 ใน 10 คน รายงานว่าเพศศึกษาที่ตนเองได้รับนั้นไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย เฮาเซอร์เพิ่มเติมว่า “เราไม่ทำความเข้าใจกันเลยว่าสุขภาวะทางเพศนั้นมีประเด็นที่ครอบคลุมเกินกว่าแค่การป้องกันโรคหรือท้องไม่พร้อม” โดยเสริมว่าจุดเน้นที่แคบเช่นนี้จะทำให้เยาวชนไม่ได้เรียนรู้ทักษะที่พวกเขาต้องใช้ในการรับมือกับความรู้สึกของตนเองและตัดสินใจเรื่องเพศได้ไม่ดีพอ
แต่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วย ในความเป็นจริงนั้น หลักสูตรเพศศึกษารอบด้านยังไม่มีการนำไปใช้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ตัวอย่างเช่น รัฐยูทาห์กำหนดให้ใช้การงดเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นเนืิ้อหาหลักที่สอนในโรงเรียน โดย สั่งห้ามการพูดคุยลงลึกในรายละเอียดเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ การผลักดันสนับสนุนคนรักเพศเดียวกัน การใช้การคุมกำเนิด หรือกิจกรรมทางเพศนอกการสมรส
บิล ไรท์ ผู้แทนรัฐยูทาห์ ยังพยายามควบคุมหลักสูตรเพศศึกษาให้เข้มงวดเพิ่มขึ้นอีก เมื่อปี พ.ศ. 2555 ได้เสนอร่างกฎหมายที่กำหนดให้การงดเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นเพียงสิ่งเดียวที่สามารถสอนได้ ทั้งยังทำให้เป็นเพียงรายวิชาเลือกเสรีเท่านั้น ในที่สุดก็ผ่านร่างได้โดยผู้ว่าการรัฐเป็นผู้ออกเสียงโดยเขากล่าวว่าเพศศึกษานั้น “ไม่ใช่ส่วนสำคัญของหลักสูตร มันเป็นแค่สิ่งที่มีขึ้นมาเพื่อดึงคุณลักษณะที่ดีออกไปจากโรงเรียนเรา ดึงคุณลักษณะที่ดีไปจากเด็กนักเรียนของเรา”
รัฐยูทาห์ไม่ใช่รัฐเดียวที่ทำเช่นนี้ ครึ่งหนึ่งของจำนวนรัฐทั้งหมดในสหรัฐอเมริกากำหนดให้โรงเรียนต้องเน้นการสอนให้งดเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ ดร. เดวิด แซ็ตเชอร์ อดีตแพทย์ทหารสหรัฐอเมริการะดับสูง กล่าวว่า “เราได้สร้างคนรุ่นใหม่ที่ไม่สบายใจกับเรื่องเพศวิถีของตัวเอง” และเสริมว่านี่เลยเถิดไปถึงรุ่นพ่อแม่และครูอาจารย์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีพื้นที่อื่นๆ พยายามเดินหน้ามุ่งสู่วิธีการแบบดัตช์ เมื่อเร็วๆ นี้ เขตพื้นที่การศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศสองแห่ง ได้แก่ โรงเรียนรัฐบาลในเมืองชิคาโกและโบรวอร์ดเคาน์ตี้ รัฐฟลอริดา กำหนดให้การสอนเพศศึกษาเป็นภาคบังคับในโรงเรียนประถม โรงเรียนรัฐบาลในเมืองชิคาโกกำหนดให้มีการสอนเพศศึกษาอย่างน้อยปีละ 300 นาที สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมปีที่ 4 และเพิ่มเป็นสองเท่าสำหรับนักเรียนชั้นปีที่ 5 ถึงชั้นปีที่ 12 (มัธยมปีที่ 6) เมื่อปี พ.ศ. 2557 โรงเรียนในโบรวอร์ดเคาน์ตี้เริ่มสอนเพศศึกษาอย่างน้อยปีละครั้งทุกชั้นปี โดยใช้หลักสูตรที่ครอบคลุมข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น ภาพลักษณ์ของร่างกาย การรับ-ส่งข้อความที่มีเนื้อหาทางเพศ และสื่อสังคมออนไลน์
โรงเรียนในเนเธอร์แลนด์ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้แก่พ่อแม่อีกด้วย โดยจัดกิจกรรมวันประชุมผู้ปกครองเพื่อให้พ่อแม่ได้มีเครื่องมือสำหรับสื่อสารกับลูกเรื่องเพศ
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขแนะนำว่าพ่อแม่ผู้ปกครองควรหาจังหวะโดยจับสัญญาณจากลูกๆ และทำให้เป็นการสนทนาแบบสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง แทนที่จะเป็นการคุยกันครั้งเดียวแบบกระอักกระอ่วนใจ รวมทุกเรื่องม้วนเดียวจบแบบ “เด็กเกิดมาจากไหน” ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขยังได้แนะนำพร้อมยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น ถ้าบังเอิญไปเห็นลูกหลานกำลังสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง อย่าแสดงกริยาแบบตกใจโวยวาย อย่าลงโทษหรือดุด่าว่ากล่าวเด็ก แต่ควรมานั่งจับเข่าคุยกันว่าที่ไหนที่เหมาะสมสำหรับแสดงพฤติกรรมเช่นว่านั้น
คุณพ่อรายหนึ่งกล่าวในที่ประชุมผู้ปกครองประจำสัปดาห์ว่า “พวกเราคุยเรื่อง [เพศ] ตอนช่วงอาหารเย็น” อีกรายหนึ่งกล่าวว่าไม่นานมานี้เพิ่งตอบคำถามเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันที่ลูกแฝดวัย 6 ขวบ ถามขึ้นมาตอนอาบน้ำด้วยกัน
บทเรียนเรื่องความรัก
ซาบีเนอ ฮาสเซอลาร์ ครูผู้สอนนักเรียนกลุ่มอายุ 11 ปี เล่าว่าได้ตั้งหัวข้ออภิปรายกับนักเรียน โดยตั้งสถานการณ์สมมุติ เช่น นักเรียนกำลังจูบใครสักคนหนึ่งแต่แล้วจู่ๆ เขาก็เริ่มใช้ลิ้นซึ่งหนูไม่ชอบให้เขาทำอย่างนั้น และ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งกำตังเต้นแบบแนบชิดตัวติดกันกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งในงานเลี้ยงทำให้เขาเกิดอาการอวัยวะเพศแข็งตัวขึ้นมา และ เพื่อนคนหนึ่งเอารูปโป๊มาให้ดูและหนูรู้สึกอึดอัดลำบากใจ
แล้วนักเรียนก็พูดคุยอภิปรายแต่ละสถานการณ์ด้วยกัน ครูซาบีเนอกล่าวว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะตีเส้นกำหนดขอบเขตของตัวเองและไม่ควรมีใครไปล้ำเส้นขอบเขตนั้น”
นอกจากนี้ ครูยังได้จัดเตรียม ‘กล่องคำถาม’ แบบไม่ระบุชื่อผู้เขียน ตั้งไว้ในห้องในช่วงสัปดาห์ “ไข้เปลี่ยนฤดู” เด็กๆ จะมาหย่อนคำถามเพื่อให้ครูตอบในชั้นเรียน “ไม่มีเรื่องต้องห้ามค่ะ” ครูซาบีเนอกล่าว เช่น มีเด็กนักเรียนคนหนึ่งเขียนว่า “หนูว่าหนูเป็นเลสเบี้ยน จะทำไงดีคะ?” ครูซาบีเนอตอบคำถามนี้ในชั้นว่า “ไม่แปลกหรอกที่ผู้หญิงบางคนจะชอบผู้หญิงด้วยกันมากกว่าผู้ชาย มันเป็นความรู้สึกที่หนูเปลี่ยนไม่ได้นี่ ก็เหมือนมีความรักนั่นแหละ จะต่างกันก็แค่มันเป็นการรักคนเพศเดียวกันกับหนูเท่านั้นเอง”
อันที่จริงแล้ว คำถามส่วนใหญ่จากเด็กนักเรียนนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศเลย “ส่วนใหญ่ เด็กๆ จะสงสัยใคร่รู้เรื่องความรักค่ะ ครูมักจะได้คำถามอย่างเช่น “หนูจะทำยังไงดีคะถ้าชอบใครสักคน?” หรือ ‘ผมจะชวนหญิงไปเที่ยวยังไงดีครับ?’”
คำถามประเภทได้รับความสำคัญเท่ากับคำถามเรื่องเพศ
“แน่นอนอยู่แล้ว เราต้องการให้เด็กๆ ปลอดภัยและเข้าใจว่าอันตรายที่มากับเรื่องเพศนั้นมีอะไรบ้าง แต่อย่างไร เราก็ยังต้องการให้เด็ได้รับรู้ถึงด้านบวกและน่าสนุกของการที่เราห่วงใยเอาใจใส่ใครสักคน รวมทั้งการมีสัมพันธภาพที่ดีต่อสุขภาพด้วย” ฟานเดอร์ฟลูกท์กล่าว
ด้วยเหตุนี้เอง คุณจึงจะได้เห็นภาพครูร่วมอภิปรายกับเด็กๆ ถึงความแตกต่างของการชื่นชอบใครสักคน (ในฐานะเพื่อน) กับการชอบใครจริงๆ นอกจากนี้ ยังมีบทเรียนเรื่องการคบกันแบบคนรัก ซึ่งครูก็จะพูดถึงการบอกเลิกด้วยวิธีที่เหมาะสม “ครูขอร้องนะคะ อย่าบอกเลิกใครโดยส่งข้อความผ่านมือถือเลย” คุณครูกล่าว
“เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีความเชื่อมั่นว่าหนุ่มสาวก็สามารถมีความรักและสัมพันธภาพอันดีงามได้”
สำหรับระดับชั้นที่สูงกว่าประถมศึกษา นักเรียนจะยังคงได้เรียนรู้เพศศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีบทเรียนตามหลักสูตรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายชื่อ Long Live Love
เอมี่ ชาเล็ต นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันที่เติบโตในเนเธอร์แลนด์ และกำลังศึกษาเรื่องทัศนคติเชิงวัฒนธรรมต่อเรื่องเพศวิถีวัยรุ่นโดยมุ่งศึกษาสองประเทศนี้ ให้ความเห็นว่า “ในสหรัฐอเมริกา ผู้ใหญ่จะมองคนหนุ่มสาวว่าเป็นวัยฮอร์โมนพลุ่งพล่าน แต่ประเทศเนเธอร์แลนด์มีความเชื่อมั่นว่าหนุ่มสาวก็สามารถมีความรักและสัมพันธภาพอันดีงามได้”
ชาเล็ตกล่าวว่า "ถ้าคุณมองว่าความรักและสัมพันธภาพเป็นรากของเพศสัมพันธ์แล้วล่ะก็ คุณจะเห็นว่าการพูดคุยกับลูกๆ เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายดายมากขึ้น แม้ลูกจะยังเล็กอยู่ก็ตาม"