สวัสดีปีใหม่...กับ 8 ปีไฟใต้ที่ยังไม่มอดดับ
ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ผมในฐานะบรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา และน้องๆ นักข่าวอีก 6-7 ชีวิต ขอส่งความสุขและความปรารถนาดีไปยังน้องๆ พี่ๆ และลุงป้าน้าอาซึ่งเป็นแฟนทางตัวหนังสือของ "ศูนย์ข่าวอิศรา" ทุกท่าน ขอให้คลายทุกข์ มีแต่สุขสมหวังกับสิ่งดีๆ ที่เป็นยอดปรารถนาทุกประการ
มีเรื่องค้างคาข้ามปีเกี่ยวกับคอลัมน์ "คุยกับบรรณาธิการ" ครั้งก่อนหน้านี้ ที่ผมเขียนเรียกร้องให้กลุ่มที่ปลุกกระแสต่อต้านการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ช่วยกันต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบซึ่งเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กันด้วย
หลังจากที่ข้อเขียนเผยแพร่ออกไป ก็มีเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ทำงานในภาคประชาสังคมรูปแบบต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งข้อความมาถึงผมเพื่อตอกย้ำจุดยืนว่า พวกเขาได้ร่วมรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงอยู่แล้ว ไม่ใช่ต้านแค่ พ.ร.ก.เฉยๆ
สารฉบับแรกถูกนำไปโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ค (ของใครผมก็จำไม่ได้แล้ว ต้องขออภัย) เป็นแถลงการณ์ของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ฉบับที่ 1/2554 ลงวันที่ 26 พ.ย.2554 ว่าด้วยจุดยืนของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ต่อปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ โดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้นี้มี อาจารย์ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ เป็นประธาน ผมขอยกมาเฉพาะข้อที่เกี่ยวข้องดังนี้
ข้อ 3 ขอเรียกร้องให้กลุ่มใดก็ตามที่กำลังก่อเหตุความไม่สงบอยู่ในขณะนี้ จงหยุดการกระทำนั้นทันที เพราะคนที่บาดเจ็บล้มตายส่วนใหญ่ไม่ใช่ศัตรูคู่ต่อสู้ ไม่มีอาวุธ และไม่รู้เรื่องราวใดๆ ด้วยเลย ขอให้ท่านหยุดความรุนแรง และกลับมาต่อสู้ในแนวทางสันติวิธี
สารฉบับที่ 2 เป็นแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ของเครือข่ายภาคประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลงวันที่ 30 ต.ค.2554 เรื่อง ทวงถามรัฐบาลต่อกรณีข้อเรียกร้องให้พิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ซึ่งผมขอยกเฉพาะข้อความที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ผมเขียนถึงมาให้อ่านกัน ดังนี้
"เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขอแสดงจุดยืนในการเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในครั้งนี้ว่า เหตุเนื่องจากที่เครือข่ายฯไม่เอา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น เล็งเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ ไม่สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนได้ ในขณะเดียวกันยังเอื้อให้เกิดเงื่อนไขการหล่อเลี้ยงวงจรความรุนแรงที่มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการซึ่งใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยปราศจากกลไกการตรวจสอบเอาผิดได้ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่ อาทิเช่น การซ้อมทรมานบังคับประชาชนที่ถูกสงสัยให้รับสารภาพ และการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยมิชอบ
ฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าความรุนแรงที่กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์จะมาจากฝ่ายใดเป็นผู้ก่อก็ตาม ทางเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขอประณาม และไม่เห็นด้วยกับวิธีการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกรณีที่เกิดเหตุระเบิดกลางเมืองยะลา เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2554"
สำหรับเครือข่ายภาคประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ชื่อเครือข่ายนี้ไม่มี "ฯ" ต่อท้ายคำว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหมือนที่ศูนย์ข่าวอิศราใช้นะครับ) ประกอบด้วยองค์กรภาคประชาสังคมและนิสิตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทั้งที่อยู่ในพื้นที่และในส่วนกลางรวม 19 องค์กร
ผมในฐานะที่รับผิดชอบคอลัมน์นี้โดยตรงต้องขอขอบพระคุณองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ที่ได้ให้ความกรุณาติดตามข้อเขียนใน "ศูนย์ข่าวอิศรา" และยังช่วยนำเสนอมุมมองสะท้อนกลับมา ถือเป็นภาพอันงดงามของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และรับฟังความเห็นที่แตกต่างท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากแห่งความขัดแย้งรุนแรงในดินแดนปลายสุดด้ามขวานจริงๆ
อย่างไรก็ดี ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อเรียกร้องของผมนั้นตั้งอยู่บน "สมมติฐาน" ของ "คนเฝ้ามอง" กล่าวคือเป็นการบอกแทนความรู้สึกของผู้คนที่ติดตามข่าวสารทั่วไป รวมถึงพี่น้องทหารหาญ ฝ่ายความมั่นคง และประชาชนหลากหลายกลุ่มในพื้นที่ ซึ่งต้องยอมรับว่ากระแสต่อต้านความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใดนั้น ยังแผ่วเบาเกินไปหากเทียบกับกระแสต่อต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งผมไม่ได้กล่าวโทษองค์กรภาคประชาสังคมแต่เพียงด้านเดียว เพราะถึงที่สุดแล้วก็ต้องโทษรัฐและฝ่ายความมั่นคงที่ใช้เวลามาถึง 8 ปีแล้ว แต่กลับยังยึดครองหัวใจประชาชนในพื้นที่ไม่ได้
เสียงแห่งการต่อต้านความรุนแรงที่แผ่วเบากว่าเสียงเรียกร้องให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือโจทย์ข้อใหญ่ที่ย้อนกลับไปหากลไกภาครัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงว่า เหตุใดจึงยังไม่อาจ "เข้าถึง" และสร้าง "ความเข้าใจ" ให้กับพี่น้องในพื้นที่ เพื่อให้คนส่วนใหญ่ร่วมกันประณามความรุนแรงกระทั่งเกิด "แรงกดดัน" ต่อกลุ่มคนที่เลือกใช้ "ความรุนแรง" ให้ปราศจากที่ยืนในสังคมสามจังหวัดชายแดนได้ แล้วหันมาใช้แนวทาง "สันติวิธี" ในการต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแทน
นอกจากประเด็นที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีก 2 ประเด็นที่ผมตั้งเอาไว้ และดูจะยังไม่มีคำตอบก็คือ "ความอ่อนไหวของปัญหา" และ "การมองมุมอื่นบ้าง" เพราะการแสวงหาสันติภาพให้เกิดขึ้นได้จริง ต้องเปิดพื้นที่รับฟังเสียงที่แตกต่าง และเข้าใจในบริบทกับบทบาทของ "ตัวละครอื่น" ในปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อาจมี "จุดยืน" และ "หน้าที่-ความจำเป็น" ไม่เหมือนกันด้วย
โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านไทยพุทธที่ถูกคุกคามอย่างหนักตลอดมา และเรียกหา "อำนาจพิเศษ" ในการดูแลความปลอดภัยให้กับพวกเขา (ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด) หรือกลุ่มทหารระดับปฏิบัติการซึ่งเป็น "ลูกหลานไทย" จากภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ซึ่งลงไปปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน และล้มตายไม่เว้นแต่ละวัน ควรมีพื้นที่ให้พวกเขาได้พูดได้แสดงความคิดเห็นบ้างเหมือนกันว่าเขาคิดอย่างไรกับกระแสรณรงค์เรียกร้องต่างๆ ที่ออกมา
เพราะการด่วนสรุปหรือด่วนตัดสินใจในปัญหาที่มี "ความอ่อนไหวสูง" เช่นนี้ รังแต่จะเป็นการสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาเป็นทับทวี และสันติสุขในพื้นที่นี้จะยิ่งหายากมากขึ้นไปอีก...
ผมอยากยกตัวอย่างง่ายๆ ของ "ความอ่อนไหว" ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมทั้งหลายก็ชอบหยิบคำๆ นี้ขึ้นมาพูด แต่ระยะหลังอาจจะละเลยไป เพราะอาจต้องเร่งสร้างกระแสรณรงค์เพื่อไปให้ถึง "เป้าหมาย" ที่ตนเองต้องการ
ผมไม่ได้บอกว่าเป็นความผิดนะครับ แต่อยากขอให้คิดในมุมเหล่านี้บ้าง...
เช่น กรณีการเสียชีวิตของ สุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ถูกพบเป็นศพอยู่ในห้องควบคุมตัว ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2552 จนถึงขณะนี้คดียังไม่สรุปว่าเขาตายด้วยสาเหตุใด แต่หากอ่านเอกสารไม่ว่าจะเป็น "จดหมายข่าว" หรือ "แถลงการณ์" หรือ "ข้อเขียน" ของบางกลุ่มบางคนในพื้นที่ จะพบการใช้ถ้อยคำทำนองว่า นายสุไลมาน แนซา นั้น "ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร"
แต่หากเป็นถ้อยแถลงของฝ่ายทหาร ก็จะพบถ้อยคำประมาณว่า "นายสุไลมาน แนซา ผูกคอตายเอง"
ขณะที่มีคำกลางๆ ที่น่าใช้กว่าและไม่เป็นการด่วนสรุปไปในทางใดทางหนึ่ง เช่น "นายสุไลมาน แนซา ซึ่งถูกพบเป็นศพในลักษณะมีผ้าผูกคอติดกับลูกกรงหน้าต่างในห้องควบคุมตัว ภายในค่ายอิงคยุทธบริหารฯ" เป็นต้น
นี่คือตัวอย่างของ "ความอ่อนไหว" ที่ผมขออนุญาตหยิบยกมาให้ได้พิจารณากัน เนื่องจากผู้มีอิทธิพลทางความคิดในพื้นที่หลายท่านชอบพูดว่า ทหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐชอบด่วนสรุป จนนำไปสู่การ "ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม คุมขัง" โดยมิชอบ ทำให้ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ฉะนั้นในทางกลับกันเวลาจะกล่าวหารัฐ ผมคิดว่าฝ่ายต่างๆ ก็ไม่ควร "ด่วนสรุป" เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในข้อที่เรียกร้องต้องการให้รัฐปฏิบัติด้วย
เพราะการ "ด่วนสรุป" บางกรณีอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวาง จนส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ไม่น้อยเหมือนกัน...
เช่นเดียวกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ต้องเคารพเป็นการทั่วไป ไม่ใช่เลือกเคารพเฉพาะสิทธิของคนบางกลุ่ม บางฝ่าย แล้วละเลยเมื่อเกิดปัญหากับคนอีกบางกลุ่ม บางฝ่าย มิฉะนั้นสภาพของการ "แบ่งแยก-หวาดระแวง" จะยิ่งถูกเร่งไปสู่ภาวะ "อันตราย" ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
ผมได้จั่วหัวบทความนี้เอาไว้ว่า "สวัสดีปีใหม่...กับ 8 ปีไฟใต้ที่ยังไม่มอดดับ" ด้านหนึ่งก็เพื่อส่งความสุขและความปรารถนาดีถึงท่านผู้อ่านทุกท่าน กับอีกด้านหนึ่งก็ต้องการย้ำเตือนว่า สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินมาครบ 8 ปีในปี พ.ศ.2555 นี้แล้ว หากนับเอาเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืน 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 เป็นปฐมบทของความรุนแรงรอบใหม่
สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร? พี่น้องใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คงให้คำตอบได้เป็นอย่างดี...
วันที่ 4 ม.ค.2555 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 8 ปีปล้นปืน จะมีการประชุมสัมมนาใหญ่ 2 งานพร้อมกันในพื้นที่ หนึ่งคือเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ "8 ปีไฟใต้: บทเรียนและทางออก" ที่ห้องประชุมอรุณสวัสดิ์ เทศบาลนครยะลา มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นแม่งาน ซึ่งเท่าที่ได้พูดคุยกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ ทราบว่าได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายกับสถานการณ์ไฟใต้ ทั้งทหาร หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ผู้นำศาสนา ผู้แทนประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ มาร่วมกันให้ความเห็นว่า 8 ปีไฟใต้ได้บทเรียนอะไรบ้าง และอะไรคือทางออกของปัญหาที่หลายฝ่ายอยากจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสียที
อีกเวทีหนึ่งคือ เวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ 1 "ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน" งานนี้จัด 2 วัน คือ 4-5 ม.ค.2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา โดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้ สนับสนุนโดยสำนักงานปฏิรูป (สปร.) ไฮไลท์อยู่ที่การปาฐกถาของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธาน สปร. ในช่วงเช้าวันที่ 4 ม.ค. และการปาฐกถาพิเศษเรื่อง "สิทธิ เสรีภาพของประชาชนในทัศนะอิสลาม" โดย ดร.อิสมาแอลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ในวันที่ 5 ม.ค.
ติดตามเนื้อหาสาระจากทั้งสองเวทีได้ในเว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรา เพราะเชื่อว่าจะเป็นดัชนีชี้วัดทิศทางการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ในปี 2555 ได้พอสมควรทีเดียว
สำหรับ "ศูนย์ข่าวอิศรา" ก็ได้เตรียมข้อเขียนหลายชิ้นในวาระ 8 ปีไฟใต้ ทั้งสถิติความรุนแรง บทสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เสียงจากประชาชนรากหญ้าในพื้นที่ บทบาทของภาคประชาสังคม และบทวิเคราะห์ถึงทิศทางของปัญหาอย่างรอบด้าน ซึ่งสามารถติดตามเป็นตอนๆ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
อีกเรื่องหนึ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างมาก ก็คือ การเตรียมพร้อมสู่ "ประชาคมอาเซียน" หรือ ASEAN Community ในปี พ.ศ.2558 หรือ ค.ศ.2015 ซึ่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแต้มต่อทั้งเรื่องภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมที่สามารถเปิดตัวสู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงเชื่อมต่อกับภาคส่วนอื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะโลกอาหรับ ไม่ว่าจะเป็นในแง่เศรษฐกิจ การค้า การศึกษา และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งทุกฝ่ายล้วนทราบดี และกำลังมีโครงการนำร่องมากมายลงมาในพื้นที่ในห้วง 3 ปีที่ยังเหลืออยู่นี้...
เป็นการเปิดตัวเองสู่โลกกว้างท่ามกลางปัญหาสารพันที่ท้าทายให้ทุกคนร่วมกันฝ่าฟัน...เพื่อก้าวเดินไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การรณรงค์ของเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อต้นเดือน ต.ค.2554 (ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา)