เมื่อ กอ.รมน.แจ้งจับ 3 เอ็นจีโอ
มีข่าวไม่เล็กไม่ใหญ่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คือข่าว กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งรับผิดชอบแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ 3 คน จากกรณีเผยแพร่รายงานสถานการณ์การซ้อมทรมานผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมที่ชายแดนใต้
เอ็นจีโอ 3 คนที่โดนแจ็คพ็อต คือ คุณสมชาย หอมลออ นักสิทธิมนุษยชนชื่อดัง คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกเป็นประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) คนใหม่ และ คุณอัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ซึ่งทำงานภาคประชาสังคมที่ชายแดนใต้
ข้อหาที่แจ้ง คือ หมิ่นประมาท และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.เมืองยะลา
นับเป็นอีกคดีหนึ่งที่ "ทหาร" ซึ่งมีอำนาจเต็มในบ้านเมืองขณะนี้ มีปัญหากับผู้ที่ทำงานด้านปกป้องสิทธิมนุษยชน
ฝ่ายทหารในกลไก กอ.รมน. แถลงชี้แจงกันเป็นระลอก เหมือนแบ่งทีมสลับกันยิงถล่มข้าศึก เริ่มจาก กอ.รมน.ใหญ่ในส่วนกลางแถลงนำร่องก่อน บอกว่าเป็นคำสั่งของ ผบ.ทบ.เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติของกองทัพ เพราะเนื้อหาในรายงานไม่เป็นความจริง
จากนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งรับผิดชอบระดับพื้นที่ก็แถลงตาม สาระสำคัญคือได้ตรวจสอบรายงานฉบับนี้แล้ว อ้างว่ามีผู้ร้องเรียนถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่จำนวน 54 ราย แต่ผลการตรวจสอบพบว่าระบุตัวตนได้เพียง 18 ราย และเช็คกับหน่วยกำลังในพื้นที่ ยังไม่พบหลักฐานว่ามีการซ้อมทรมานตามอ้างด้วย
โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุตอนหนึ่งว่า "ได้พยายามประสานขอข้อมูลผู้ร้องเรียนในรายงานฯหลายครั้ง เพื่อร่วมกันตรวจสอบความจริงให้ปรากฏ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นการเจตนาจงใจปกปิดข้อมูล..."
และนั่นคือเหตุผลให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตัดสินใจฟ้องร้อง เพราะเชื่อว่ารายงานไม่มีมูลความจริง คล้ายๆ เผยแพร่เพื่อทำลายภาพลักษณ์เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผมได้อ่านรายงานฉบับนี้แล้ว พบว่าด้านหนึ่งมีจุดอ่อนจริง คือการไม่ระบุตัวตนของผู้ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน และยังเป็นข้อมูลฝ่ายเดียว คือฝ่ายของผู้ร้องเรียนเท่านั้น แต่เรื่องอ่อนไหวเช่นนี้ ก็ชอบที่ฝ่ายความมั่นคงอย่าง กอ.รมน.จะได้พิจารณาอย่างรอบคอบก่อน
หนึ่ง ต้องไม่ลืมว่าผู้ร้องเรียนเหล่านี้กำลังกล่าวหาเจ้าหน้าที่ในกำกับของ กอ.รมน.ว่าซ้อมทรมานพวกเขา จึงย่อมไม่ต้องการเปิดตัว เปิดหน้าให้เจ้าหน้าที่รู้ว่าตนเป็นใคร เพราะภัยอาจมาเยือนได้ทุกเมื่อ โดนเฉพาะในพื้นที่ฝุ่นตลบแบบชายแดนใต้
สอง เหตุการณ์ซ้อมทรมานในพื้นที่ชายแดนใต้เคยเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย หลายเรื่องกลายเป็นคดีความ และหน่วยงานความมั่นคงก็แพ้คดีบนชั้นศาล ต้องจ่ายสินไหมทดแทนเป็นเงินหลายล้านบาทมาแล้ว เช่น คดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง, คดีอัสฮารี สะมะแอ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาในห้องควบคุมตัวที่ไม่ใช่โรงพักหรือเรือนจำจากการจับกุมโดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่เนืองๆ โดยที่ฝ่ายความมั่นคงเองก็อธิบายไม่ได้ว่าคนเหล่านั้นเสียชีวิตเพราะอะไร ศูนย์ควบคุมตัวเหล่านี้ (บางทีเรียกชื่อว่า "ศูนย์ซักถาม") เมื่อมีเรื่องร้องเรียนการซ้อมทรมาน หรือมีการตายเกิดขึ้น ก็มักจะปิดศูนย์เป็นการชั่วคราว หรือไม่ก็เปลี่ยนชื่อใหม่ แต่ปัจจุบันก็ยังมีเปิดอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาว่ามีอยู่จริง
สาม ข้อกำหนดและกฎเกณฑ์บางอย่างที่หน่วยปฏิบัติกำหนดเอาไว้ เช่น การห้ามญาติเยี่ยม 2 วันแรกหลังถูกควบคุมตัว ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นว่ามีการซ้อมทรมานหรือไม่ ซึ่งแม้ภายหลังจะพยายามยกเลิกกฎเกณฑ์นี้แล้ว แต่หน่วยปฏิบัติบางหน่วยก็ยังถือปฏิบัติอยู่เช่นเดิม โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันผู้ก่อความไม่สงบแฝงตัวเข้ามาเยี่ยมแล้วข่มขู่ไม่ให้ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่
แน่นอนว่าการร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานหลายๆ กรณีเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น หรือใส่สีตีไข่เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหา แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ไม่ควรเหมารวมว่าทุกกรณีเป็นการปั้นน้ำเป็นตัว เพราะการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นจริงในอดีตก็เคยมีให้เห็น แม้แต่ทหารด้วยกันเองในค่ายทหาร ก็ยังมีข่าวพลทหาร หรือทหารใหม่ถูกลงโทษหนักมือจนตายก็เคยเป็นข่าวครึกโครม
ฉะนั้นการแสวงหาทางออกร่วมกัน ระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ย่อมดีกว่าการฟ้องร้อง หรือเอาชนะคะคานกัน
ที่สำคัญ...หลายข้อมูลในรายงานถือว่าน่าสนใจศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนารูปแบบการซ้อมทรมานแบบไม่ให้มีแผล หรือมีร่องรอย เช่น การทำให้เกิดความกลัว ไม่สบายตัว หรือถูกกดดันด้วยวิธีการต่างๆ ที่ฝืนกับสัญชาตญาณ ไม่ว่าจะเป็นการให้อยู่ในที่ที่เย็นจัด ร้อนจัด หรือการใช้น้ำหยดลงหน้าผากทีละหยดเป็นเวลานานๆ การเรียกขึ้นมาสอบปากคำกลางดึกแบบไม่ให้ได้หลับได้นอน ฯลฯ
ท่านแน่ใจได้อย่างไรว่าวิธีการเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะการตรวจสอบย้อนกลับก็ทำได้ยาก เนื่องจากไม่มีบาดแผลให้เห็น
ที่สำคัญคือยุทธศาสตร์ "ชิงการนำทางการเมือง" ที่ กอ.รมน.ภาค 4 กำหนดไว้เอง ระบุไว้ชัดว่า ต้องเปิดช่องทางสื่อสารกับกลุ่มเอ็นจีโอ และภาคประชาสังคม เพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับทุกกลุ่ม พร้อมเร่งสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมให้เพิ่มขึ้น...เพราะที่นี่ไม่ใช่สนามรบ แต่เป็นการต่อสู้ทางความคิด เพื่อเอาชนะจิตใจประชาชน
การฟ้องร้องเหมือนอยู่คนละฝ่ายกันแบบนี้ จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจตามยุทธศาสตร์ได้อย่างไร...เป็นประเด็นที่น่าพิจารณา
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ผบ.ทบ.อ้างรักษาเกียรติกองทัพ แจ้งจับ 3 นักสิทธิฯเปิดรายงานซ้อมทรมาน
2 ทหารสวนรายงานซ้อมทรมานมีตัวตนแค่ 18 แถมไม่จริง "พรเพ็ญ"ลั่นสู้ทวงศักดิ์ศรี
3 รายงานเปิดปากคำ 54 ผู้ร้องเรียนถูกทรมานชายแดนใต้
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้บางส่วนตีพิมพ์คอลัมน์ "แกะรอย" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปกโฟกัส ฉบับวันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน 2559