ผู้บริโภคกับทางเลือกที่จะปฏิเสธ ‘ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร’ ทุกรูปแบบ
IARC ผู้ประเมินและจัดกลุ่มสารก่อมะเร็งที่ได้รับความเชื่อถือสูงที่สุดในโลก จัดให้สไตรีนเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2B คือมีข้อมูลการก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการแพร่ออกของสไตรรีน คือ ปริมาณสไตรรีนที่หลงเหลือตกค้างในเนื้อโฟม ชนิดของอาหารที่บรรจุ ระยะเวลา และอุณหภูมิที่อาหารบรรจุอยู่ในภาชนะนั้นๆ
การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร มีอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่? กลายเป็นเรื่องราวที่กลับมาสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคอีกครั้ง เมื่อนักวิชาการบางท่านออกมาให้ข้อมูล กล่องโฟมไม่อันตรายจากสารสารสไตรีน (Styrene)
หลายปีที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีว่า แทบทุกหน่วยงานของรัฐต่างพร้อมใจกันออกมารณรงค์ การลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร ซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ยาก หากเผาทำลายก็จะเกิดมลภาวะทางอากาศ ก่อให้เกิดปัญหาขยะตกค้างและปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตั้งเป้าเป็น 'องค์กรปลอดโฟม 100 เปอร์เซ็นต์' รวมถึงภาคเอกชนอีกหลายแห่ง ได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งการลดจำนวนการใช้ให้เหลือน้อยที่สุด มีการกำหนดวิธีนำพลาสติกและโฟมเก่ากลับมาใช้ประโยชน์ (Recycle) อย่างเหมาะสม การรณรงค์เพื่อลดและหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกและโฟมในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ
ที่สำคัญ มีการประดิษฐ์และพัฒนาวัสดุอื่นทดแทน เช่น กระดาษชานอ้อย หรือกล่องพลาสติกชีวภาพ รวมถึงการรณรงค์หันมาใช้วัสดุธรรมชาติดั้งเดิม เช่น ใบตอง ใบบัว สำหรับห่อข้าวหรือขนม แทนการใช้โฟมที่ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 1,000 ปี
และหลายต่อหลายครั้ง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาให้ข้อมูลอยู่เสมอๆ พร้อมกับยืนยันชัด การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารร้อนจัดจะทำโฟมให้เสียรูปทรง เกิดการหลอมละลาย และมีสารเคมีที่อยู่ในเนื้อโฟม ซึ่งมองไม่เห็นปนเปื้อนออกมาอยู่ในอาหาร โดยสารเคมีที่พบในภาชนะโฟมบรรจุอาหารที่สำคัญ ได้แก่
- สารสไตรีน (Styrene) เป็นสารก่อมะเร็ง เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก มีผลต่อสมองและเส้นประสาท ทำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย นอนหลับยาก ระบบฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ทำให้มีปัญหาต่อมไทรอยด์และประจำเดือนในสตรีผิดปกติ
- สารเบนซิน (Benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเช่นกัน สารชนิดนี้ละลายได้ดีในน้ำมัน เมื่อเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นแรง หากได้รับสารชนิดนี้เป็นเวลานาน ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากสารเบนซินจะทำลายไขกระดูก ทำให้จำนวนเม็ดเลือดลดลง
- และสารพทาเลท (Phthalate) เป็นสารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้ผู้ชายเป็นหมัน หากเป็นหญิงมีครรภ์ลูกอาจมีอาการดาวน์ซินโดรมและอายุสั้นได้ ซึ่งการละลายของสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ จะมากน้อยขั้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ อุณหภูมิอาหาร ไขมันในอาหารและระยะเวลาที่อาหารสัมผัสกับภาชนะโฟม โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารประเภทผัด ทอด จะทำให้สารสไตรีนละลายออกมาได้มากกว่า
ขณะเดียวกัน สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลปี 2557 ตรวจวิเคราะห์ภาชนะโฟม PS จากการนำส่งโดยผู้ประกอบการ และการสุ่มจากท้องตลาด จำนวน 287 ตัวอย่าง พบสไตรรีน ทุกตัวอย่าง ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 102-1,246 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เฉลี่ย 412 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบสารระเหยอื่นๆ เช่น เอทิลเบนซิน (สารเริ่มต้นของสไตรีน) และโทลูอีนบ้างเล็กน้อย
องค์กรหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ประเมินและจัดกลุ่มสารก่อมะเร็งที่ได้รับความเชื่อถือสูงที่สุดในโลก อย่าง IARC (International Agency for Research on Cancer ) จัดให้สไตรีนเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2B คือมีข้อมูลการก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการแพร่ออกของสไตรรีน คือ ปริมาณสไตรรีนที่หลงเหลือตกค้างในเนื้อโฟม ชนิดของอาหารที่บรรจุ ระยะเวลา และอุณหภูมิที่อาหารบรรจุอยู่ในภาชนะนั้นๆ โดยจะมีผลที่เสริมกัน เช่น บรรจุอาหารประเภทไขมันที่มีอุณหภูมิเป็นระยะเวลานานๆ ก็จะยิ่งทำให้มีการแพร่กระจายออกมามากยิ่งขึ้น
อีกทั้ง จากการศึกษาในต่างประเทศ ยังพบว่าปัญหาของการใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร คือ การใช้งานที่ไม่ถูกต้อง เช่นนำไปใส่อาหารที่ร้อนจัดจนทำให้โฟมละลาย และปนเปื้อนสู่อาหารได้ รวมถึงนำไปใช้กับเตาไมโครเวฟที่ความร้อนสูง เป็นต้น
ยุคข้อมูลข่าวสารที่หาได้มากมายจากอินเตอร์เน็ต บวกกับข้อมูลที่น่าเชื่อของหน่วยงานภาครัฐ และงานวิชาการจากต่างประเทศ ไม่แปลกที่ปัจจุบันผู้บริโภคหลายคน ใช้หลักป้องกันไว้ก่อนสมัครใจที่จะปฏิเสธการใช้โฟมทุกรูปแบบกันแล้ว
ที่มาภาพ:http://www.sanjoseca.gov/eps