กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดข้อมูลขยะ ชี้ 'ผ้าอ้อม' นำโด่ง อัตราพุ่งทั่วปท.
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดข้อมูลคนไทยผลิตขยะปีละ 27 ล้านตัน 49% จัดการขยะถูกต้อง อีก51% กองทิ้งไว้ที่ต่างๆ ขณะที่ ระบบบำบัดน้ำเสียยังไม่ครอบคลุม สามารถบำบัดน้ำเสียได้แค่ 30%
วันที่ 10 มิถุนายน กรมประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาสื่อมวลชน เรื่อง การประชาสัมพันธ์การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ณ โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ โดยนายอภินันท์ จันทรังสี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ประธานเปิดการสัมมนา โดยตอนหนึ่งกล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะปรากฎการณ์ภาวะโลกร้อน พร้อมกับยกตัวอย่าง น้ำท่วมกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ยุโรป สหรัฐฯ ปัญหาเรื่องสภาพอากาศ จากการเผาป่า เผ่าไร่ กลายปัญหาข้ามพรมแดน คำถามคือ เราจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร
อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ฉะนั้น ผู้สร้างมลภาวะต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงปัญหาขยะที่ทุกชุมชนกำลังเผชิญอยู่ ขยะไม่มีที่ทิ้ง และมีการคัดค้านพื้นที่ทิ้งขยะ ถามว่า แล้วจะนำขยะไปทิ้งที่ไหน เป็นโจทย์ที่หาคำตอบยาก สำคัญที่สุดต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน พร้อมร่วมมือแก้ไขปัญหา ขยะเกิดจากที่บ้าน หากทุกบ้านผลิตขยะให้น้อยลง มีการแยกขยะ นำกลับมาใช้ใหม่ ก็ช่วยแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่ง
นายอภินันท์ จันทรังสี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
ด้านดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะ ในกทม.ปัจจุบันคุณภาพอากาศใกล้เคียงกรุงโซลประเทศเกาหลี และเชื่อว่า หากระบบขนส่งมวลชนในกทม.สร้างเสร็จจะมีผลดีต่อสภาพอากาศยิ่งขึ้น
"ปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกตัวที่มีปัญหา คือ ฝุ่น โดย 5 จังหวัดที่มีปัญหาสภาพอากาศ คือจังหวัดสระบุรี สมุทรปราการ ลำปาง กทม. และพระนครศรีอยุธยา ส่วนสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด พบมีปัญหาทุกปี ที่ภาคใต้ก็ได้รับผลกระทบจากประเทศเพื่อนบ้าน"
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงสถานการณ์คุณภาพน้ำในแต่ละภาค หลายแห่งอยู่สภาพเสื่อมโทรม มีเฉพาะ แม่น้ำตาปีตอนบน จังหวัดนครศรีธรรมราช เท่านั้นที่คุณภาพน้ำดีที่สุด ขณะที่คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง พบว่า มีปัญหาคุณภาพน้ำตรงอ่าวไทย รูปตัวกอ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปากแม่น้ำท่าจีน
ขณะที่ระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีอยู่เกือบ 100 แห่งนั้น ดร.วิจารย์ กล่าวว่า สามารถบำบัดน้ำเสียได้รวมทั่วประเทศแค่ 30% ประเทศไทยผลิตน้ำเสียทั้งประเทศ 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่กลับบำบัดได้นิดเดียว ทั้งกทม. และจังหวัดอื่นๆ ก็ยังมีปัญหา ระบบบำบัดน้ำเสียมีไม่ครอบคลุม
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงระบบกำจัดขยะก็สามารถกำจัดได้ 38% มีศักยภาพรีไซเคิลแค่ 18% และยังมีการกำจัดขยะที่ไม่ถูกหลักวิชาการด้วย ทั้งๆ ที่คนไทยผลิตขยะมากถึง 27 ล้านตันต่อปี แต่พบว่า 51% ยังจัดการขยะไม่ถูกต้อง กองทิ้งไว้ที่ต่างๆ อีก 49% จัดการขยะถูกต้อง
นายวิจารย์ กล่าวด้วยว่า เรื่องขยะะเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรง แต่ที่ผ่านมา มีท้องถิ่นแค่ 400 กว่าแห่งสามารถจัดการขยะได้ถูกต้อง จากที่มีอยู่กว่า 7พันกว่าแห่ง ฉะนั้น จำเป็นที่ท้องถิ่นแต่ละแห่งต้องไปพูดคุยทำความตกลงกัน รวมกลุ่มเป็นคัสเตอร์เพื่อใช้พื้นที่จัดการขยะร่วมกันได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะกระแสการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ สำคัญต้องเร่งสร้างความเข้าใจว่า บ้านเรามีทางเลือกกำจัดขยะที่หลากหลาย
ด้านนางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทน รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ลดน้อยลง สวนทางกับ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี2015 อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น 1องศา ได้ส่งผลกระทบต่อผลิตผลทางการเกษตร ปริมาณน้ำฝนน้อย ภาวะภัยแล้ง ยิ่งหากสูงขึ้น 2องศา สภาพของโลกจะยากที่จะฟื้นฟู
สำหรับภาพใหญ่องค์ประกอบขยะ นางสุวรรณา กล่าวว่า อันดับ 1 ยังเป็นขยะอินทรีย์ เศษอาหาร รองลงเป็นพลาสติก พร้อมยกตัวอย่างเทศบาลตำบลมหาพราหมณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีความแตกต่างจากที่อื่นๆ โดยพบ 48% เป็นขยะรีไซเคิล 35% เป็นขยะอินทรีย์ ที่เหลือเป็นขยะทั่วไป และขยะอันตราย
เมื่อจำแนกองค์ประกอบขยะ พบมากที่สุดอันดับ 1 คือ เศษอาหาร รองลงมา พลาสติก แต่ขยะที่ตามมาติดๆ คือ ขยะที่เป็นผ้าอ้อม ซึ่งมีผู้คนนิยมใช้ผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูป ผ้าอ้อมผู้ใหญ่มากขึ้น
"ขยะผ้าอ้อมน่าสนใจ วันนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในขยะที่กำจัดได้ยากที่สุด และกำลังกลายเป็นขยะที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วประเทศ ซึ่งผ้าอ้อมที่ใช้แล้ว ถือเป็นขยะที่มีเชื้อโรค การกำจัดมีวิธีการกำจัดทางเดียวคือการเผาด้วยเท่านั้น"