ชุมชนจัดการภัยพิบัติสาดรัฐไร้ฝีมือ “ไพบูลย์” ชู 5 แนวทางพ้นวิกฤต
เครือข่ายชุมชนเปิดพื้นที่สาธารณะวิพากษ์จัดการภัยพิบัติ “ไพบูลย์” เสนอ 5 มาตรการ 4 ข้อเสนอ ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจทุกมิติ - จัดตั้งกองทุน- สานเศรษฐกิจพอเพียง ด้าน “สมสุข” เน้นปฏิรูปส่วนกลาง กระจายงบจัดการเอง เพิ่มอำนาจจัดการทรัพยากร
วันที่ 27 ธ.ค. 54 สภาองค์กรชุมชน ร่วมกับสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เครือข่ายสลัมสี่ภาค พร้อมเครือข่าย จัดสัมมนา “พลังชุมชนท้องถิ่นจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน” ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ช่วงอุทกภัยสังคมไทยเกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงพลังชุมชน ที่เป็นพลังสำคัญการจัดการและคลี่คลายปัญหาภัยพิบัติ ดังเช่น เครือข่ายชุมชนทุกภาคแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือของภาคประชาชน ซ่อมสร้างที่อยู่อาศัย นับเป็นการจัดการตนเองที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง
“งานสำคัญที่ชุมชน หน่วยงานและท้องถิ่นต้องร่วมกันในอนาคต คือ การสำรวจข้อมูลพื้นที่ การจัดทำแผนผังตำบล การวางแผนการจัดการน้ำ และการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อนำสู่การบริหารจัดการน้ำทั้งสายน้ำและลุ่มน้ำ ซึ่งต้องลงมือทำโดยประสานข้อมูลและแผนการทำงานกับทุกภาคส่วน” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา กล่าวว่า ปัจจุบันชุมชนมีการจัดการตนเองที่ดี ซึ่งเกิดการทำอย่างบูรณาการและครบวงจร อาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งแผนป้องกัน แผนเตรียมความพร้อม การเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน การบรรเทาฟื้นฟู ซึ่งชุมชน องค์กรชุมชน และภาคประชาชนนับว่ามีบทบาทสูงในการจัดการภัยพิบัติทุกมิติ
“แนวทางการจัดการภัยพิบัติที่ควรประยุกต์ใช้ในระดับชุมชนและประเทศ มี 5 ประการ ได้แก่ 1.ความซื่อสัตย์สุจริต 2.ความมีคุณภาพและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ 3.การรวมพลังในหมู่คณะเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 4.ลงมือปฏิบัติต่อยอดแนวความคิดการพัฒนาอย่างจริงจัง และ5.การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือจัดการภัยพิบัติควบคู่กับศูนย์เผยแพร่ข้อมูลและการสื่อสาร”
ขณะที่ข้อเสนอต่อภาครัฐในการจัดการภัยพิบัติ ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา กล่าวว่า มี 4 ประการได้แก่ 1.ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกโครงการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ เช่น กรณีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ, แก้มลิง หรือฟลัดเวย์ เป็นต้น 2.ต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในการบริหารจัดการตนเอง โดยหน่วยงานภายนอกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราชการและหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เป็นฝ่ายสนับสนุน 3.นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินการในสถานการณ์ปัจจุบันให้เป็นจริงมากที่สุด และ4.จัดตั้งกองทุนจัดการภัยพิบัติระดับชาติ จังหวัด และชุมชน เพื่อเป็นเงินทุนสำรองในการจัดการยามเกิดภัยพิบัติร้ายแรง
ด้านนางอร่ามศรี จันทร์สุขศรี ผู้แทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ(สอช.) กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ใช่คนพิการที่ต้องแบมือให้คนคอยป้อนข้าวป้อนน้ำหรือรอคอยให้คนอื่นมาเยียวยา เมื่อเกิดภัยพิบัติชุมชนต้องลุกขึ้นจัดการตนเองให้ได้ มหาอุทกภัยที่ผ่านมาเป็นบทเรียนว่าการช่วยเหลือจากภาครัฐดีไม่เท่าที่ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเอง วันนี้บางชุมชนมีกองทุนของตนเอง แต่มีหลายพื้นที่ต้องมีการจัดการที่ดี เมื่อมีเหตุภัยพิบัติประชาชนต้องประกาศขอทำเอง ถ้ารอแต่งบประมาณรัฐบาล ชุมชนหมดหวังแน่
นายต่วน คำทอน กำนันตำบลห้วยแอ่ง จ.มหาสารคาม กล่าวว่า บทเรียนที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ห้วยแอ่งมองเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องลุกขึ้นมาจัดการภัยพิบัติโดยการตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เพราะน้ำท่วมทุกปี ถ้ามีกองทุน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็จะทันท่วงที โดยไม่ต้องรอถุงยังชีพจากภาครัฐ ชาวบ้านจัดการตนเองโดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหนุนเสริม
นายม้วน เขียวอุบล นายกเทศมนตรีตำบลหาดทะนง จ.อุทัยธานี กล่าวว่า มนุษย์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงธรรมชาติได้ แต่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไร พลังของชุมชนเป็นพลังมหาศาล บทเรียนในอดีตชุมชนมีความล้มเหลวในการจัดการเพราะไม่มีการทำข้อมูลที่เป็นระบบ วันนี้เอาบทเรียนมาแก้ไข ปีนี้อุทกภัยรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์แต่ก็อยู่ได้ เกษตรกรสูญเสียพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ในอนาคตจะวางแผนการเพาะปลูกข้าวเร็วกว่านี้
ขณะที่ น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา กรรมการสถาบันพัฒนาองค์ชุมชน(พอช.) กล่าวว่า ชุมชนต้องตื่นขึ้นมาจัดการตนเองโดยการทำข้อมูล โดยการเชื่อมโยงกับท้องถิ่น ประสานสถานการศึกษาเพื่อจัดการตนเอง มองโครงสร้าง มองปัญหาที่ต้นเหตุ จัดการปัญหาทั้งระบบ ทำให้เป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นหน่วยหลักในการจัดการ มันต้องปฏิรูปการทำงานส่วนกลางว่าต้องมีการกระจายการจัดการไม่ใช่กระจุกเอาไว้แต่หน่วยงานรัฐ รัฐต้องกระจายอำนาจการจัดการ กระจายงบประมาณให้จังหวัดจัดการตนเอง
“ในอนาคตต้องมีประชาธิปไตยการจัดการป่า น้ำ จัดการทรัพยากรมากกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทุกระดับ ไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะเกิดซ้ำซากอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ ให้ประชาชนเป็นกลไกรัฐในการจัดการภัยพิบัติ ถ้าทำอย่างนี้จะแก้ปัญหาได้ โดยการเชื่อมโยงจากระดับล่างโยงขึ้นมาส่วนกลาง แต่เมื่อรัฐยังไม่ตื่นตัว ประชาชนต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม” กรรมการพอช.กล่าว
ทั้งนี้ วันที่ 28 ธ.ค. 54 จะมีการเสนอแนวทางและแผนปฏิบัติการพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืนพร้อมประกาศเจตนารมณ์ โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอและให้ข้อคิดเห็น