โรฮิงญาไม่ใช่คนหนีเข้าเมือง กก.สิทธิ์ฯ แนะรัฐปรับทัศนคติคุ้มครองฐานะ 'ผู้ลี้ภัย'
อังคณา ชี้อุปสรรคแก้ปัญหาชาวโรงฮิญาคือทัศนคติ ด้านรัฐไทย ยังเดินนโยบายต่อผู้อพยพ ในฐานะคนหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ถูกกักขังในสถานที่แออัด ซ้ำร้ายไม่มีกำหนดปล่อยตัว
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ในงานสัมมนาวิชาการ “1 ปี วิกฤตผู้อพยพชาวโรงฮิงญา: การอพยพย้ายถิ่นไม่ปกติในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน” ที่ห้องประชุมเบญจพร โรงแรมรอยัลเบญจา
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาทางนโยบายที่สำคัญของรัฐไทย คือ ยังยืนยันจะดำเนินการต่อชาวโรงฮิงญาในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย ทำให้ชาวโรงฮิงญาที่ถูกควบคุมตัว ในสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ขาดการเอาใจใส่ ป่วยเรื้อรัง รุนแรง เป็นเหตุที่ทำให้ชาวโรฮิงญาเสียชีวิตในห้องขังอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการคัดแยกเหยื่อ ที่ทำให้ชาวโรงฮิงญาที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และกระบวนการฟื้นฟูเยียวยาได้อย่างเต็มที่
นางอัคณา กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการคุกคามทางเพศในสตรีและเด็กชาวโรงฮิงญา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศขณะอยู่บนเรือ จากนายหน้าค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี เรื่องปัญหาความรุนแรงทางเพศของผู้หญิงและเด็กชาวโรงฮิงญานั้น ยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญอย่างจริงจัง การขาดระบบคัดกรองเหยื่อ การคัดแยกจากเจ้าที่ที่เชี่ยวชาญด้านสหวิชาชีพในการตรวจสอบ เรื่องเหล่านี้ส่งผลให้ความรุนแรงทางเพศไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้
"ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างที่น่ายกย่อง ในการปราบปรามการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจับกุมผู้กระทำผิด มีการดูเเลผู้หญิงและเด็ก ซึ่งแม้ว่าในระยะแรกประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมแต่หลายฝ่ายมีความพยายามร่วมกันในการแก้ปัญหา การเปิดโอกาสให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมต่างๆ ได้เข้าไปช่วยเหลือ" นางอังคณากล่าวและว่า อย่างไรก็ดีแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายคุ้มครองชาวโรงฮิงญา โดยเฉพาะผู้อพยพหญิงและเด็ก การพยายามนำหลักตามอนุสัญญาว่าด้วย สิทธิเด็กมาปรับใช้ เพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทุกรูปแบบ แต่พบว่ายังมีอุปสรรค ที่ทำให้การดำเนิการในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเรื่อง ทัศนคติของเจ้าหน้าที่หรือสังคมไทย ในความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภาษา รวมไปถึงข้อจำกัดทางกฎหมาย นโยบาย และความร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ"
ในระยะยาว กรรมการสิทธิ์ฯ กล่าวว่า เราไม่สามารถกักขังมนุษย์ในห้องขังได้ แม้ว่าเราจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชาติ แต่ต้องไม่ลืมว่า ความมั่นคงของมนุษย์ย่อมมีความสำคัญเช่นกัน การปราบปรามเพียงอย่างเดียวไม่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงหลักความเท่าเทียม คุณค่าของการเป็นมนุษย์
ด้านนายศิวงศ์ สุขทวี เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวว่า ชาวโรงฮิงญาและชาวบังคลาเทศจำนวนมาก ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกระบวนการค้ามนุษย์ ถูกกักในห้องขัง ทั้งฐานะผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หลายฝ่ายกังวลว่า การกักตัวกลุ่มคนเหล่านั้นจะเป็นอย่างยาวนานและไม่มีกำหนด ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศห้ามการกักตัวบุคคลโดยพลการ อย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอย่างไม่มีกำหนด รัฐอาจจำกัดสิทธิที่จะมีอิสรภาพของผู้เข้าเมืองได้ตามหลักเกณฑ์ที่เป็นข้อยกเว้น ภายหลังประเมินบุคคลอย่างละเอียดเป็นรายกรณีเเล้ว
นายศิวงศ์ กล่าวด้วยว่า การกักตัวใดๆ ต้องทำเพราะจำเป็นและได้สัดส่วน เพื่อเป้าประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำโดยไม่คำนึงถึงมาตรการที่เป็นการบังคับหรือจำกัดสิทธิน้อยกว่า แต่สามารถบรรลุเป้าหมายดังหล่าวได้ อาจถือเป็นการควบคุมโดยพลการ
"คำถามคือเมื่อกระบวนการทางกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว เขาจะไปที่ไหนต่อ กลับภูมิลำเนาดั้งเดิมที่มีการฆ่าล้างเผ่านพันธุ์หรือ ตราบใดก็ตามที่พวกเขาไม่ได้รับการปกป้องในฐานะผู้ลี้ภัย คำถามนี้จึงยังต้องถามอยู่” นายศิวงศ์ กล่าว