ฟังความเห็น 2 นักวิชาการ หลังครม.ไฟเขียวภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
การที่ครม.ผ่านร่างภาษีที่ดินฯ ถือว่าเดินมาถูกทาง แต่ยังไม่เข้าเป้า ซึ่งเป้าหมายต้องสูงกว่านี้ แต่ก็ยังเชื่อว่า คนมีเงินก็ยังซื้อที่ดินกักตุนไว้เหมือนเดิม
กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นับได้ว่า เป็นกฎหมายแสลงใจ “แลนด์ลอร์ด” เมืองไทยหลายคน แต่ในที่สุด คณะรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการในการออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... แล้ว ซึ่งนำมาบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 (อ่านประกอบ ครม.ไฟเขียวร่าง กม.ภาษีที่ดินฯ แล้ว- บ้านได้จากมรดกลดภาระให้ครึ่ง )
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตกรรมการปฏิรูปประเทศ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงการที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการในการออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ว่า ที่ผ่านมายุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีความพยายามเสนอร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง รวมไปถึงมีความพยายามปรับปรุงภาษีโรงเรือนและที่ดินมาตลอดเช่นกัน แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลต้องมีความเห็นตรงกันว่า ปัญหาที่ดินต้องแก้ไขด้วยการขึ้นภาษีที่ดินเพื่อให้มีการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่า
ในส่วนของภาคประชาชน ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า อยากให้การแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดิน ไปไกลกว่าเรื่องของประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน คือไปให้ถึงเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินให้เป็นธรรมไปด้วย
"แค่เปลี่ยนเพดานการเก็บภาษีจาก 0.05% เป็น 0.01% ก็ยังเป็นอัตราภาษีที่ดินที่ต่ำ ยิ่งการไม่เก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า รัฐก็จะได้เงินจากการเก็บภาษีนี้ไม่มาก มีเงินไม่พอที่จะนำมาพัฒนาประเทศ รวมถึงไม่ช่วยให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน ไม่ช่วยให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ" อดีตกรรมการปฏิรูป กล่าว และว่า เจตนาที่จะนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดิน หรือใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น วันนี้อาจยังไปไม่ถึง เนื่องจากอัตราการเพิ่มของมูลค่าที่ดินเพิ่มสูงมากกว่าอัตราภาษีที่ดินที่จะจัดเก็บ
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า แม้วันนี้ครม.จะผ่านร่างกฎหมายที่ดินฯ ออกมาแล้ว ก็ยังไม่เข้าเป้า เพราะการเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าก็จริง แต่ก้าวหน้าแบบล้าหลัง ไม่ทันกับราคาที่ดินที่พุ่งขึ้น
"ดีแล้วที่รัฐบาลนำรับแนวคิดนี้ มายกระดับ และนำภาษีที่ดินฯ เข้าสู่ครม. แต่อยากเสนอว่า หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ไป 1-2 ปี ขอให้มีการประเมินว่า รัฐสามารถจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เท่าไหร่ รวมถึงการใช้ที่ดินได้มีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ สามารถลดการเก็งกำไรที่ดิน การปล่อยที่ดินรกร้างว่างเปล่า ได้หรือไม่
"ที่ควรมีการประเมินหลังกฎหมายบังคับใช้ไปแล้ว เพื่อจะได้นำมาปรับปรุง เพราะเป้าหมายของรัฐบาล ถ้าไม่เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจริงๆ เชื่อว่าไม่สามารถกระจายการถือครองที่ดินได้ และเศรษฐกิจก็ไม่อาจฟื้นตัวขึ้นมาได้"
สำหรับผู้ที่มีที่อยู่อาศัยหลังเดียว ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป จะเสียภาษีโดยมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 0.5% ด้านผู้ที่มีที่อยู่อาศัย หรือมีบ้านตั้งแต่ 2 หลังขึ้นไป จะเสียภาษีทันทีตั้งแต่บาทแรก โดยมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 0.5% นั้น ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ การเสียภาษีที่ดินเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทย ซึ่งบ้านราคาไม่ถึง 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี คงไม่ใช่รายเล็กรายน้อยแน่ "ผมคิดว่า ครม.ไม่กล้าแตะผู้ที่มีทรัพย์สินในระดับหนึ่ง หรือพูดตรงๆ ไม่แตะข้าราชการระดับสูง คนในครม. ซึ่งเป็นคนรวย คนมีเงิน แม้ไม่ถึงขั้นเป็นเศรษฐีก็ตาม ฉะนั้นเวลาเก็บภาษีที่ดินไม่ควรยกเว้น แต่สามารถเก็บในอัตราลดลั่นกันตามลำดับได้"
อดีตกรรมการปฏิรูป กล่าวด้วยว่า การที่ครม.ผ่านร่างภาษีที่ดินฯ ถือว่าเดินมาถูกทาง แต่ยังไม่เข้าเป้า ซึ่งเป้าหมายต้องสูงกว่านี้ รวมทั้งเชื่อว่า คนมีเงินก็ยังซื้อที่ดินกักตุนไว้เหมือนเดิม การเปิดประชาคมอาเซียนยิ่งทำให้ทุนต่างชาติเข้ามา สิ่งแรกที่เข้ามาคือการหาที่ดิน ลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนเรื่องที่ดิน ลงทุนด้านการเกษตร การเก็บภาษีที่ดินฯ แบบนี้ ก็เชื่อว่า ไม่ได้ปกป้องที่ดินไว้เป็นของคนไทยแต่อย่างใด
หวั่นรายได้อปท.ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก
ด้าน ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า การกำหนดว่าบ้านราคาไม่เกิน 50 ล้านไม่ต้องเสียภาษีเป็นมูลค่าที่สูงไป เพราะคนที่จะมีบ้านในราคาเท่านี้ได้คือกลุ่มนี้สามารถที่จะเสียภาษีได้ และเข้าใจว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ตั้งใจออกมาเผื่อช่วยคนที่มีรายได้น้อยไม่ต้องแบกรับภาระภาษีที่หนักเกินไป
"ช่วงที่เริ่ม 50ล้านบาท จึงสูงเกินไป น่าเริ่มต่ำกว่านั้น เพราะถ้ายกเว้นขนาดนี้ รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้" ดร.ดวงมณี กล่าว และว่า ฉะนั้นควรที่จะไปดูว่าคนส่วนใหญ่ มูลค่าบ้าน ที่ดิน ที่คนทั่วๆ ไปซื้อในราคาระดับไหน แล้วก็ยกเว้นในส่วนนั้น เพื่อไม่ให้กระทบในส่วนใหญ่น่าจะดีกว่า
ในขณะที่ประเด็นเรื่องจัดเก็บภาษีจากที่ดินรกร้างว่างเปล่า ดร.ดวงมณี กล่าวว่า ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เก็บภาษีสูงสุดที่ 3 % แต่หากไปเทียบกับราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นจะพบว่า อัตราที่ดินในแต่ละปีเพิ่มขึ้นจากการประเมินของปี 2559-2562 จะเห็นว่า ทั่วประเทศราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี ในขณะที่ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ปีแรกเก็บ 1% 4 -6 ปี 2% และ7 ปี เก็บ 3%
"เราจะเห็นว่า ความห่างของภาษีที่เสียกับตัวราคาที่สูงขึ้นในแต่ละปีต่างกันมาก ฉะนั้นตรงนี้จะช่วยเรื่องการกระจายการครอบครองที่ดินได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนตัวมองว่า ไม่ได้ส่งผลสักเท่าไร ยิ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมากในขณะนี้ คนก็ซื้อที่ดินเก็บไว้อยู่ดี เพราะภาษีที่เสียกับส่วนต่างก็ยังเยอะอยู่" ดร.ดวงมณี กล่าว
ดังนั้นหากจะบอกว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยเรื่องความเหลื่อมล้ำ ดร.ดวงมณี มองว่า ไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเท่าที่ควรจะสามารถทำได้ เพราะการยกเว้นภาษีที่สูงมาก "เอาแค่10ล้านบาทก็เยอะมากสำหรับท้องถิ่น จริงๆ ถ้าตัดศูนย์ออกหนึ่งตัวคงจะดี 5ล้านบาทยังพอรับได้"
อ่านประกอบ: อดีตขุนคลังชี้เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำทั้งทีอย่าให้เสียของ