แพทย์ชนบท ยื่นหนังสือถึงกฤษฎีกา ตีความคุณสมบัติเลขาฯสปสช.
เครือข่ายผู้ป่วย Healthy Forum 17 เครือข่ายและชมรมแพทย์ชนบทยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้มีการตีความคุณสมบัติเลขาฯสปสช. หลังพบข้อพิรุธของการตีความคุณสมบัติบิดเบือนข้อกฎหมาย
วันที่ 6 มิถุนายน 2559 เครือข่ายผู้ป่วย Healthy Forum 17 เครือข่าย และชมรมแพทย์ชนบท ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องขอให้มีการตีความคุณสมบัติเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์และไม่บิดเบือนข้อกฎหมายเพื่อเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงเจตจำนงการยื่นหนังสือในครั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ดำรง ปรัชญา ค่านิยมตามพันธกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้มีการตีความคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชน
“วันนี้เครือข่ายผู้ป่วย 17 เครือข่าย ได้มาร่วมยื่นหนังสือ เนื่องจากผู้ป่วยทั้งหลายถือว่าโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นสิทธิประโยชน์ เป็นสิ่งที่เขาหวงแหน และธำรงรักษาไว้ เพื่อให้เป็นที่พึ่งพาไม่เฉพาะแต่คนรุ่นนี้ แต่รวมไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในวันข้างหน้าด้วย”
นพ. วชิระ กล่าวอีกว่า วันนี้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติถูกท้าทาย ถูกสร้างให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมาก จำเป็นจะต้องจำกัดงบประมาณ ดังจะเห็นได้ว่าปีงบประมาณ 2560 นี้ งบประมาณบัตร ถือว่าน้อยมาก ถ้าเทียบกับ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หรือเทียบกับงบประมาณทั้งหมดของแผ่นดิน อยู่เพียง 5-7 เปอร์เซ็นเท่านั้น ดังนั้น จะกล่าวหาว่าโครงการบัตรทองใช้เงินจำนวนมากนั้น ไม่ถูกต้อง เราอยากสื่อสารไปยังประชาชนว่า โครงการนี้เราใช้งบประมาณกันอย่างมีประสิทธิภาพ
นพ. วชิระ กล่าวถึงข้อพิรุธในการการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช. ที่ไม่ชอบมาพากล และเข้าข่ายบิดเบือนกฎหมายว่า “มีการตีความคุณสมบัติไว้ชัดเจนว่าผู้ที่เคยเป็นคู่สัญญากับ สนง.สปสช. จะไม่มีสิทธิเข้ามารับการคัดเลือกเป็นเลขาฯ สปสช.ได้ ย้อนไปเมื่อปี2550-2551 คณะกรรมการสำนักงานกฤษฎีกา ชุดที่ 10 ได้ตีความคุณสมบัติ ไว้แล้วในกรณีของ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาฯมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และนพ.พินิจ หิรัญโชติ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งคณะกรรมการแพทยสภา รวมถึงนพ. อำนวย กาจีนะ อดีตรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งบุคคลทั้งสามนี้เคยรับงบประมาณเป็นคู่สัญญาของ สปสช. และถูกตีความโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่ 10 ว่า ขัดต่อคุณสมบัติ ไม่สามารถเข้ารับการคัดเลือกได้ ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานไว้อย่างชัดเจนแล้วทั้ง 3 กรณี แต่ในปีนี้มีการตีความคุณสมบัติของผู้สมัครรายหนึ่งที่เข้าข่ายเป็นคู่สัญญาของ สปสช. แต่คณะกรรมการสำนักงานกฤษฎีกากลับตีความไปอีกด้านหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดคำถามถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีว่า เป็นเพราะสาเหตุใดถึงมีการตีความในลักษณะนี้ออกมา"
นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า หวังเป็นอย่างยิ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่ 1 จะตัดสินหรือพิจารณาไปตามบรรทัดฐานที่ถูกต้อง สำหรับผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งเลขาฯ สปสช . จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถและต้องมีหลักการในการบริหารงานที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง