นักเศรษฐศาสตร์ มธ.เสนอเพิ่มทางเลือกให้ผู้สูงอายุทำงาน ยัน GDP เพิ่ม 4.74-9.35%
นักวิชาการชี้ทางออกสังคมสูงอายุไทย ยันไม่ทำอะไรเลย การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอยแน่ เปิดศักยภาพผู้สูงอายุ 60-79 ปี เกือบ 9 ล้านคนยังทำงานได้ แต่ลักษณะงานไม่เอื้ออำนวย ไม่มีความยืดหยุ่น สำหรับการใช้ชีวิตวัยชรา
วันที่ 6 มิถุนายน โครงการติดตามเศรษฐกิจไทย (Thammasat Economic Focus) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาเรื่อง "เพิ่มทางเลือกการทำงานผู้สูงอายุ: กุญแจสำคัญของการอยู่กับสังคมสูงวัย" ณ ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
รศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงสังคมผู้สูงอายุที่ปรารถนา ล้วนต้องการการมีความสุขควบคู่ไปกับสภาวะทางการเงินการคลังที่สามารถหล่อเลี้ยงความสุขได้อย่างยั่งยืน ซึ่งระดับความเพียงพอของผู้สูงอายุแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน
รศ.ดร.เอื้อมพร กล่าวว่า ศักยภาพของผู้สูงอายุไทยจำนวน 8.9 ล้านคน ยังสามารถทำงานได้ ขณะที่การทำงานของผู้สูงอายุ ในหลายประเทศทั่วโลกผู้สูงอายุจะมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นค้นพบว่า วิธีที่จะทำให้ผู้สูงอายุอยู่อย่างแข็งแรงและยืนยาว คือการทำงาน
"แต่สำหรับประเทศไทย ยังขาดทางเลือกการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ มีเพียงผู้สูงอายุจำนวน 2.5 ล้านคนหรือ 35.7% ของผู้สูงอายุทั้งประเทศที่ได้ทำงาน"
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า ผู้สูงอายุที่ทำงาน 63.19% ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง รองลงมา 17.22% ช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่รับค่าจ้าง ขณะที่การลงทุนในธุรกิจส่วนตัวโดยขาดความเชี่ยวชาญ ทำให้เผชิญกับความเสี่ยงทางการเงินที่สูงในวัยชรา โดยข้อมูล SES ปี 2548-2555 สะท้อนว่า 78% ของผู้ที่เริ่มทำธุรกิจเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี มีโอกาสจะเลิกทำธุรกิจภายใน 6 ปี เหตุเพราะไม่มีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งพบว่า สาเหตุที่ต้องลงทุนเนื่องมาจากไม่มีทางเลือก
อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ผู้สูงอายุที่ประสงค์จะทำงานต่อหลังอายุ 60 ปี สำหรับประเทศไทยมีทางเลือกค่อนข้างน้อย อีกทั้งโครงสร้างการทำงานที่เป็นอยู่ไม่มีแรงจูงใจ หรือไม่ดึงดูดพอที่จะทำให้ผู้สูงอายุตัดสินใจทำงานต่อในองค์กร เช่น การขยายอายุเกษียณ รูปแบบเดิมๆ จะต้องทำงานเท่าเดิม 5 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่มีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตวัยชราภาพ ซึ่งลักษณะงานที่พึงปรารถนาสำหรับผู้สูงอายุ ควรมีภาระงานลดน้อยลง น้อยกว่าวัยทำงาน เช่น 3 วันต่อสัปดาห์
ขณะเดียวกันโครงสร้างเชิงนโยบาย ภาครัฐต้องหามาตรการให้แรงจูงใจทางภาษีแก่นายจ้างที่จ้างแรงงานผู้สูงอายุ เช่น สามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มในการจ้างแรงงานผู้สูงอายุไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า
ทั้งนี้ รศ.ดร.เอื้อมพร ได้ประมาณการณ์ผลกระทบสังคมสูงอายุต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากไม่ดำเนินการมาตรการใดๆ การเติบโตของ GDP จะมีแนวโน้มถดถอยลง ซึ่งแรงงานผู้สูงอายุจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
“หากประเทศไทยมีโครงสร้างเชิงนโยบายที่เกื้อหนุนให้ผู้สูงอายุทำงานในลักษณะที่เหมาะสม อย่างต่ำร้อยละ 50 ของแรงงานผู้สูงอายุที่ทำงานได้จะส่งผลให้เกิดรายได้ส่วนเพิ่มของผู้สูงอายุประมาณ 44,268 –165,295 บาทต่อคนต่อปี โดย GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 4.74-9.35% ต่อปีจากกรณีฐานซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ จากการเพิ่มขึ้นของรายได้และ GDP ส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 33,279 -65,994 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากสมมติว่า นำเงินรายได้ภาษีเหล่านี้ไปช่วยสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุ จะจัดสรรได้โดยเฉลี่ยประมาณ 4,000 บาทต่อคนต่อปี”
รศ.ดร.เอื้อมพร กล่าวด้วยว่า การใช้มาตรการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของแรงงานผู้สูงอายุเป็นรูปแบบที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ มีความยั่งยืนทางการคลัง และทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ (Win-Win Scenario)