สธ.ถกเพิ่มเงื่อนไขทุนแพทย์ชนบท ให้หมออยู่ครบ 3 ปี
คกก.กำลังคนด้านสุขภาพ ถกผู้เกี่ยวข้องขยายโครงการผลิตแพทย์ชนบทแก้ปัญหาขาดแคลน ปรับเงื่อนไขให้โอกาสเด็กในพื้นที่ เห็นร่วมเพิ่มค่าปรับจาก 4 แสน แต่ทบทวนขยายเวลาใช้ทุนเป็น 6 ปี
กรณีสหพันธ์นักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย(สพท.) ทำหนังสือร้องเรียนคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา เกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ชนบทว่า สพท.สนับสนุนขยายโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท(CPIRD) แต่ไม่สนับสนุนข้อเสนอเพิ่มเวลาชดใช้ทุนและเพิ่มค่าปรับ เพราะ 1.การเพิ่มค่าปรับและเวลาชดใช้ทุนเป็นมาตรการเชิงลบ อาจทำให้นักเรียนสนใจเรียนแพทย์น้อยลง 2.ประชาชนต้องการรับบริการจากแพทย์เฉพาะทางมากกว่าแพทย์ทั่วไป แพทย์จึงต้องไปศึกษาต่อ และ 3.การเพิ่มจำนวนผู้ศึกษาในโครงการให้ใกล้เคียงกับผู้ศึกษาหลักสูตรปกติ ควรมีการศึกษาอย่างรอบคอบ
วันที่ 26 ธ.ค.54 นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการกำลังคนฯว่า เมื่อเร็วๆนี้มีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมชัย นิจพานิช ผู้ดูแลโครงการ CPIRD นักวิชาการด้านกำลังคนสุขภาพ แพทย์โรงพยาบาลชุมชนที่สำเร็จหลักสูตรทั่วไป แพทย์ CPIRD และนายกฯ สพท. ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าปัญหาขาดแคลนแพทย์ชนบทยังมีอยู่ สัดส่วนแพทย์ไทยต่อประชากรต่ำมาก โรคที่ชาวบ้านต้องการการดูแลนั้นเป็นโรคง่ายๆไม่ซับซ้อน จึงต้องการแพทย์ทั่วไป หากเกิดปัญหาก็มีระบบส่งต่อ ส่วนแพทย์เฉพาะทางนั้นปัจจุบันกระจุกตัวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในต่างจังหวัด การเลือกศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางมักเป็นความต้องการของผู้เรียน มิใช่เรียนตามสาขาที่ขาดแคลน จึงเกิดปัญหาแพทย์เฉพาะทางบางสาขา เช่น บริการความงามล้นตลาด
โครงการ CPIRD เป็นความพยายามสรรหานักเรียนในชนบทมาเรียนแพทย์ เพื่อกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในชนบท แต่การสอบเข้าเรียนยังเน้นความรู้ด้านวิชาการ ทำให้เด็กในเมืองที่มีความสามารถในการแข่งขันได้เปรียบในการสอบเข้า เมื่อจบการศึกษาจึงไม่สามารถอยู่ในชนบทได้นาน อีกทั้งการผลิตแพทย์ในโครงการยังขาดกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับพื้นที่ที่จะไปปฏิบัติงาน การจัดสรรทุนผ่านคณะแพทย์ศาสตร์ แทนที่จะจัดสรรผ่านโรงพยาบาลและชุมชนที่จะต้องกลับไปใช้ทุน
นพ. มงคล กล่าวอีกว่าที่ประชุมมีข้อเสนอเพิ่มเติมในการผลิตแพทย์โครงการ CPIRD คือ 1.ควรปรับปรุงเงื่อนไขโครงการให้ตอบสนองเป้าหมายการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ระบบการคัดเลือกผู้เข้าศึกษาต้องให้โอกาสเด็กในชนบทจริงๆ กระทรวงสาธารณสุขควรเตรียมความพร้อมและเสริมศักยภาพของนักเรียนในพื้นที่ตั้งแต่มัธยมปลาย 2.ควรให้ทุนผ่านโรงพยาบาลและชุมชนในพื้นที่เพื่อสร้างความผูกพันหลังสำเร็จการศึกษา 3.ควรปรับปรุงหลักสูตร ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับชุมชนผ่านการฝึกงานจริงในชนบท 4.สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายแพทย์ CPIRD เพื่อช่วยให้กำลังใจและเห็นคุณค่าร่วมกันของการทำงานในชนบท ทั้งนี้ สพท.จะสื่อสาร ชี้แจงความเป็นมา วัตถุประสงค์ของหลักสูตร และความต้องการที่แท้จริงของระบบบริการสุขภาพ โดยเชิญแพทย์รุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ตรงมาเป็นวิทยากรผ่านโครงการ “เปิดรั้วโรงเรียนแพทย์”
“ที่ประชุมเห็นด้วยกับการเพิ่มค่าปรับเพิ่มจาก 4 แสนบาท เพราะเป็นอัตราที่น้อยมากเมื่อเทียบกับความสามารถหารายได้ของแพทย์ และการลงทุนของรัฐบาลในการผลิตแพทย์มีค่าใช้จ่ายถึง 1.8 ล้านบาท ส่วนการขยายเวลาใช้ทุน มีข้อเสนอให้ทบทวนการเพิ่มระยะเวลาให้รอบคอบ โดยอาจหามาตรการเสริมให้แพทย์อยู่ปฏิบัติงานครบ 3 ปี หากจะปรับระยะเวลาชดใช้ทุนเป็น 6 ปี ควรพิจารณาระยะเวลาที่จะอนุญาตให้ศึกษาต่อด้วย เพราะความต้องการไปศึกษาต่อเป็นปัจจัยหนึ่งที่แพทย์ให้ความสำคัญและเป็นสาเหตุให้ลาออกก่อนกำหนด ทั้งนี้การไปศึกษาต่อต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจนเพื่อตอบสนองความต้องการของระบบบริการสาธารณสุขประเทศ" นายแพทย์มงคล กล่าว .
ที่มาภาพ : http://www.kunnathum.com/2009/05/11/clinical-practice-guidelines/