นักวิจัย สกว. เตือนเร่งสอบอาคารบนเกาะช้าง หวั่นเหตุการณ์ซ้ำรอย
นักวิจัย สกว. สันนิษฐาน 3 สาเหตุหลักโรงแรมที่เกาะช้างพังถล่ม เตือนให้เร่งตรวจสอบอาคารข้างเคียง หวั่นเกิดเหตุซ้ำ ย้ำอาคารขนาดเล็กต้องมีวิศวกรออกแบบคุมงานก่อสร้าง
สืบเนื่องจากเหตุอาคาร 2 ชั้นของโรงแรมสยามบีช รีสอร์ท ตั้งอยู่เลขที่ 100/1 ม.4 ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด พังถล่มลงมาเป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิตทันที 1 คน และติดอยู่ในอาคารได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง โดยเบื้องต้นรายงานข่าวระบุว่า อาคารของโรงแรมก่อสร้างคร่อมทางน้ำ ประกอบกับมีฝนตกหนัก ทำให้ดินไม่สามารถรองรับน้ำหนักของอาคารได้และเกิดการทรุดตัวลงมา ซึ่งผู้ราชการจังหวัดตราดได้สั่งการให้ตรวจสอบอาคารที่เหลือ หากไม่ปลอดภัยให้ปิดทันทีนั้น
ด้าน ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารคอนกรีต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และเลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะระบุสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้อาคารพังถล่มลงมาว่าเกิดจากอะไร เนื่องจากต้องรอข้อมูลสำคัญ คือ แบบโครงสร้าง วิธีการก่อสร้าง ตลอดจนระบบฐานรากที่รองรับน้ำหนักของอาคาร
อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นได้สันนิษฐานสาเหตุไว้ 3 ประเด็น ได้แก่
1.) ระบบฐานรากอาคารไม่มั่นคง ซึ่งต้องลงไปตรวจสอบว่าการก่อสร้างมีฐานรากรองรับอาคารหรือไม่ และหากมีต้องดูว่าเป็นฐานรากประเภทฐานแผ่ หรือฐานรากที่ใช้เสาเข็ม และมีกำลังรับน้ำหนักเพียงพอหรือไม่
2.) ดินรองรับเสื่อมกำลังหรือมีการสไลด์ตัวของดินหรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ฝนตกหนักทำให้ดินเหลวและอ่อนตัว ทำให้กำลังรับน้ำหนักลดลง หรือหากเป็นการก่อสร้างใกล้ที่ลาดชันก็อาจเกิดการสไลด์ของชั้นดินและพาให้ฐานรากเคลื่อนตัวจนอาคารพังถล่ม นอกจากนี้หากเป็นการก่อสร้างที่คร่อมทางน้ำก็อาจเป็นปัจจัยได้ เนื่องจากฝนตกหนักอาจชะล้างดินใต้ฐานรากออกไป เป็นเหตุให้ฐานรากทรุดตัว
3.) การก่อสร้างอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อาคารถล่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรีบเร่งการก่อสร้าง ใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน รอยต่อระหว่างคานและเสาของโครงสร้างที่ไม่แข็งแรง ตลอดจนปริมาณเหล็กเสริมและขนาดชิ้นส่วนที่เล็กไป
ศ.ดร.อมร กล่าวด้วยว่า ต้องนำแบบโครงสร้างมาตรวจสอบ และยังต้องตรวจสอบเพิ่มเติมว่า มีการจ้างวิศวกรเข้ามาคุมงานก่อสร้างหรือไม่ และมีแบบอาคารหรือไม่อีกด้วย อย่างไรก็ตามสาเหตุที่แท้จริง อาจจะมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือหลายสาเหตุร่วมกัน ซึ่งจะต้องรอดูหลักฐานทั้งหมดก่อนจึงจะสรุปได้ ส่วนอาคารข้างเคียงที่ยังเหลืออยู่ หากก่อสร้างแบบเดียวกันก็มีความเสี่ยงถล่มได้เช่นกัน จึงไม่ควรใช้งานต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตรวจสอบพบรอยร้าว
“ สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้คือ ขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวเข้าเร่งเข้าไปตรวจสอบความมั่นคงอาคารโดยเร็ว หรือขอความร่วมมือมาที่สภาวิศวกร การก่อสร้างอาคารในประเทศไทยโดยเฉพาะอาคารหลังเล็ก ๆ ยังมีจำนวนมากที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ประชาชนและผู้ประกอบการตระหนักถึงการก่อสร้างอาคารที่ปลอดภัย โดยต้องจัดหาวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกรม” ศ.ดร.อมร กล่าว.
ขอบคุณภาพจาก :http://www.manager.co.th/