ผลสำรวจธุรกิจอสังหาฯ ยังจ่ายใต้โต๊ะ 1.5%ของมูลค่าโครงการ
วงเสวนาต่อสู้กับการคอร์รัปชัน 'บรรยงค์ พงษ์พานิช' เผยผลสำรวจพบ ธุรกิจอสังหาฯ จะก่อสร้าง 1 โครงการ ต้องเสียเงินใต้โต๊ะ 1.5% ชี้จะเเก้ทุจริตได้ต้องลดบทบาท อำนาจภาครัฐ ด้านทีดีอาร์ไอเเนะใช้หลักรูล ออฟ ลอว์ วางระบบถ่วงดุลอำนาจ
วันที่ 3 มิถุนายน 2559 สำนักพิมพ์ openworld ร่วมกับบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน จำกัด (มหาชน) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานเสวนา “การต่อสู้กับคอร์รัปชัน:มองโลก มองไทย” และงานเปิดตัวหนังสือ “คอร์รัปชัน:ความรู้ฉบับพกพา ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เปิดเผยว่า ในทวีปเอเชียมีอย่างน้อย 4 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันสำเร็จ แต่สำหรับประเทศไทยยังมีปัญหาเชิงระบบ ฉะนั้นจะหวังพึ่งพาเฉพาะคนใดคนหนึ่งไม่ได้ อย่างเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่มองเป็นหน้าที่ของสังคมต้องช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายการเมือง ข้าราชการ เอกชน และประชาชน
“การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันให้สำเร็จ ประเทศไทยต้องผลักดันให้มีการปฏิบัติของกฎหมายอย่างจริงจัง โดยเงื่อนไขสำคัญสุดที่ 4 ประเทศข้างต้น ยึดถือปฏิบัติ คือ การจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ซึ่งต้องจับกุมบุคคลที่มีชื่อเสียงในภาคธุรกิจและการเมือง หากปฏิบัติไม่ได้ ประชาชนจะไม่เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้” ดร.บัณฑิต กล่าว
ด้านนายบรรยงค์ พงษ์พานิช กรรมการในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) กล่าวว่า 10 ปี ที่ผ่านมา ระบบราชการไทยเติบโตขึ้นมาก มีการเพิ่มบุคลากรในระบบ 50% เพิ่มค่าตอบแทนให้พนักงานภาครัฐ 300% ขณะที่รัฐวิสาหกิจ มีการขยายตัวขนาดทรัพย์สินจาก 4.77 ล้านล้านบาท ในปี 2547 เป็น 12 ล้านล้านบาท ในปี 2557 สะท้อนว่ารัฐไทยเบ่งบาน และทำให้คอร์รัปชันเบ่งบานด้วย
เมื่อศึกษาอำนาจของภาครัฐ กรรมการ คตช. ระบุไทยมีกฎหมายมากกว่า 1 แสนฉบับ ถือเป็นจำนวนมาก เฉพาะใบอนุญาตมีถึง 1,544 ชนิด ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Economic Co-operation and Development (OECD) กำหนดไม่ควรเกิน 300 ชนิด
นายบรรยงค์ กล่าวด้วยว่า การจะลดคอร์รัปชันได้ จะต้องลดขนาด บทบาท และอำนาจของภาครัฐ ส่วนรัฐวิสาหกิจต้องสร้างระบบการบริหารจัดการโปร่งใส มุ่งเน้นประสิทธิภาพ พร้อมคาดหวังให้เลิกบังคับใช้กฎหมายบางฉบับที่ไม่มีประโยชน์ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเหล่านี้ ส่วน 2 ปีที่ผ่านมา คอร์รัปชันไทยดีขึ้นหรือแย่ลง ให้สังคมตอบแทน เพราะสิ่งที่กำลังทำเป็นการปฏิรูปเชิงสถาบัน ผลสำเร็จจึงยังไม่เกิดขึ้น
"ปัจจุบันคณะทำงานประชารัฐอยู่ระหว่างปรับแก้และปฏิรูปใบอนุญาตที่มีเกินความจำเป็นและล้าสมัย เพื่อเอื้อให้การทำธุรกิจง่ายขึ้นและช่วยลดขนาดรัฐพร้อมลดปัญหาคอร์รัปชัน"
นายบรรยงค์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจพบว่าหากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องการสร้างโครงการ 1 โครงการจะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐถึง 22 หน่วยงานและต้องมีใบอนุญาต 17 ใบรวมทั้งต้องเสียเงินใต้โต๊ะประมาณ 1.5% ของมูลค่าโครงการ แต่กลับพบว่าเอกชนบางรายยอมเสียค่าใช้จ่ายเพื่อให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น
ขณะที่ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าวเพิ่มเติมว่า คอร์รัปชันของไทยเกิดจากความไม่มีหลักปกครองภายใต้กฎหมาย หรือ Rule of Law เรามีกฎหมายจำนวนมาก แต่บางฉบับเป็นกฎหมายที่ไม่ควรจะมี ประกอบกับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาทำหน้าที่ก็ไม่เป็นผล ทางออกจึงควรวางระบบถ่วงดุลอำนาจให้มีประสิทธิภาพแทน .