ชาวบ้าน-นักวิชาการ เสนอ พ.ร.บ.แร่ภาคประชาชน จี้เลิก กม.เอื้อนายทุน
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่อีสาน ถก พ.ร.บ.แร่ภาคประชาชน จี้ยกเลิกกฎหมายเอื้อนายทุน ชี้ฉบับปัจจุบันให้ขุดทุกที่ที่มีแร่ รุกรานทรัพยากร สร้างผลกระทบชุมชน
วันที่ 25 ธ.ค. 54 มูลนิธิสถาบันศึกษาเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จัดเวที “ร่างพระราชบัญญัติแร่ (ภาคประชาชน)” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี จ.อุดรธานี เพื่อร่วมกันนำเสนอมุมมองต่อการแก้ไข พรบ.แร่ ฉบับปี พ.ศ.2510โดยมีนักกฏหมาย เอ็นจีโอ และเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการเหมืองแร่ เข้าร่วม อาทิ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กลุ่มเครือข่ายผลกระทบจากการทำนาเกลือ จ.นครราชสีมา กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ ต.นาดินดำ อ.เมือง จ.เลย
อ.ศักดิ์ณรงค์ มงคล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าต้องยกเลิกกฎหมายแร่ฉบับ พ.ศ.2510 เพราะให้อำนาจการจัดการทรัพยากรแร่ในประเทศกับกลุ่มนายทุนผู้ประกอบการ และภาครัฐ โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม แม้กระทั่งการรับรู้ข้อมูลทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ในท้องถิ่น
“ต้องร่วมกันออกแบบร่างกฎหมายแร่จากตัวประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ และจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ หากร่างกฎหมายแร่ภาคประชาชนแล้วเสร็จ ก็จะร่วมกันผลักดันสู่มติของประชาคมทั่วประเทศต่อไป” อ.ศักดิ์ณรงค์กล่าว
นายถาวร เพชรขุนทด แกนนำกลุ่มเครือข่ายผลกระทบจากการทำนาเกลือ กล่าวว่าที่ผ่านมากฎหมายแร่ปล่อยให้ภาครัฐเป็นผู้จัดการทรัพยากรเพียงฝ่ายเดียว ทำให้มักมีปัญหาตามมา เช่น กรณีของ อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา อุตสาหกรรมเหมืองเกลือขนาดใหญ่ปล่อยน้ำเกลือลงสู่ไร่นาของชาวบ้านเสียหาย จนทำนาไม่ได้กว่า 2,000 ไร่ มิหนำซ้ำกฎระเบียบหรือกฎหมายก็ยังเอื้อต่อนายทุนเป็นอย่างมาก
“กฎหมายแร่ที่ยกร่างโดยภาคประชาชน หากเกิดขึ้นจริงจะทำให้ชาวบ้านมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นตนเองอย่างแท้จริง ” นายถาวรกล่าว
ด้าน นายปัญญา โคตรเพชร เลขานุการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่าที่ผ่านมาชาวบ้านต้องตกอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายแร่ที่ถูกร่างขึ้นโดยนายทุนผู้ประกอบการผ่านการเอื้อประโยชน์โดยรัฐ ทำได้เพียงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญต่อสู้ หากชาวบ้านมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายแร่ จะทำให้สามารถต่อสู้กับทุนที่จะเข้ามารุกรานทรัพยากรท้องถิ่นได้
“ร่าง พ.ร.บ.แร่ ภาคประชาชนฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านใช้ต่อสู้จากการรุกรานทรัพยากรท้องถิ่นของทุน เพราะเป็นกฎหมายที่อ้างอิงจากสภาพความจริงและความต้องการของชาวบ้านเอง ไม่ใช่ของภาครัฐและนายทุน ” นายปัญญากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักกฏหมายที่เข้าร่วมเวทียังให้ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510(ฉบับปัจจุบัน) ว่าเน้นให้ความสำคัญกับการเปิดลงทุนทำเหมืองของนายทุน และผูกขาดการอนุญาตไว้ที่รัฐ ต่อมาแก้ไข(ปี 2516) เพิ่มการให้สัมปทานขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน และแก้ไข(ปี2545) เพิ่มสัมปทานอนุญาตทำเหมืองใต้ดิน โดยล้วนใช้หลักการแร่อยู่ที่ใด แก้กฎหมายให้สัมปทานได้ที่นั่น
ชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีมียังมีความเห็นว่า ประชาชนมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 และ 67 ว่าด้วยสิทธิชุมชน มาตรา 41 สิทธิในทรัพย์สินที่ดิน มาตรา 43 สิทธิในการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ซึ่งหากประกอบขึ้นร่วมกับร่างกฎหมายแร่ของภาคประชาชนที่จะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมจะทำให้ประชาชนมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรตนเองได้อย่างยั่งยืนและสมดุล .