แพร่ทางการ! มติ ยธ.เร่งคดีรถเลี่ยงภาษี 7 พันคัน เข้าข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ
แพร่ทางการ มติ ยธ.เร่งคดีนำเข้ารถเลี่ยงภาษี 7.1 พันคัน ยันเป็นคดีสำคัญ ซับซ้อน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อความมั่นคง-เศรษฐกิจ เข้าข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ‘บิ๊กต๊อก’ ลั่น ธ.ค.นี้ ต้องเสร็จ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2559 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม นำเสนอผลสรุปการประชุมผลติดตามการดำเนินงานของหน่วยงาน กรณีขบวนการทำรถยนต์จดประกอบให้คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบแล้ว
โดยผลการประชุมดังกล่าวมีใจความสำคัญทำนองว่า คดีขบวนการทำรถยนต์จดประกอบ (นำเข้าเลี่ยงภาษี) เป็นคดีสำคัญและเป็นคดีที่มีลักษณะของการกระทำความผิดซับซ้อน มีผลกระทบรุนแรงต่อความมั่นคงของประเทศ และระบบเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ รวมถึงเป็นคดีที่มีลักษณะเข้าข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
สำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมสรรพากร โดยมีเนื้อหาคือเพื่อกำหนดกรอบขั้นตอน ระยะเวลา และกระบวนการทำงาน โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของหมายเลขตัวถัง และหมายเลขเครื่องยนต์ ไปจนสิ้นสุดขั้นตอนการดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การดำเนินการเกี่ยวกับรถยนต์จดประกอบจำนวน 7,123 คัน ดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ มีผลกระทบต่อบุคคลที่สามในสังคมเป็นวงกว้าง และลักษณะคดีเป็นที่สนใจต่อสาธารณชนและสื่อมวลชนโดยทั่วไป นอกจากนี้การกำหนดขั้นตอนและกรอบติดตามเร่งรัดการดำเนินการของหน่วยงาน มีความเกี่ยวข้องกันหลายหน่วยงาน ในหลายกระทรวง จึงสมควรนำเรียนให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ
ล่าสุด คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว (ดูเอกสารประกอบ)
อนึ่ง เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ในช่วงต้นเดือน มี.ค. 2559 พล.อ.ไพบูลย์ ระบุถึงกรณีนี้ว่า คดีดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี 2553-2556 แต่ไม่มีความคืบหน้า ในวันนี้จึงได้เรียกประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ซึ่งรถยนต์จดประกอบทั้งหมดขณะนี้มียอดจำนวน 7,123 คัน ซึ่งทางดีเอสไอจะส่งยอดจำนวนรถยนต์จดประกอบดังกล่าวไปให้กรมการขนส่งทางบกตรวจสอบยืนยันว่ามีจำนวนครบถ้วนหรือไม่ พร้อมกับสรุปบัญชีหมายเลขเครื่องยนต์ และเลขตัวถังส่งกลับมาให้ทางดีเอสไอเพื่อรวบรวมส่งต่อไปยังกรมศุลกากรตรวจสอบว่ารถยนต์จดประกอบคันไหนถูกต้อง หรือสงสัยว่าผิดกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีความชัดเจน หากเป็นรถที่ถูกต้องจะถูกส่งคืนให้กับผู้ครอบครอง
พล.อ.ไพบูลย์ ระบุอีกว่า ส่วนรถยนต์ที่อยู่ในกลุ่มสงสัยว่าผิดกฎหมายจะถูกนำไปตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่มาร่วมประชุมในวันนี้ หากพบความผิดชัดเจนแล้ว ทางกรมศุลกากรจะดำเนินการฟ้องแพ่งเพื่อเรียกเก็บภาษีอากร ขณะเดียวกันกรมศุลกากร จะส่งเรื่องมายังดีเอสไอ เพื่อดำเนินคดีทางอาญาต่อไป ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดคาดว่า จะใช้ระยะเวลาประมาณ 10 เดือน หรือประมาณเดือนธันวาคม 2559 จึงจะแล้วเสร็จ
ขณะที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการตรวจสอบรถยนต์จดประกอบที่เคยดำเนินการไปก่อนหน้านี้ จำนวนกว่า 500 คัน ซึ่งทางดีเอสไอได้ส่งเรื่องไปยังกรมศุลกากรแล้วจำนวน 399 คัน โดยทางกรมศุลกากรได้ดำเนินการตรวจสอบพบความผิดพร้อมกับประเมินภาษี ก่อนส่งเรื่องกลับมายังดีเอสไอแล้ว จำนวน 8 คัน รวมอยู่ด้วยส่วนรถยนต์จำนวนที่เหลือยังอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง (อ่านประกอบ : http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9590000024023)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว คดีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ โดยอยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงควบคู่ไปด้วย
อ่านประกอบ :